เรื่องต้องรู้สำหรับนักวิ่งมือใหม่ที่จะเริ่มต้นออกกำลังกายด้วยการวิ่ง!!

WM

สำหรับใครที่สนใจการวิ่ง ควรรู้ถึงเคล็ดลับดีๆ สำหรับนักวิ่งมือใหม่ ก่อนลงแข่งขันจริง

การวิ่งนั้นก็ถือเป็นการออกกำลังกายที่ดีอย่างนึงเลยล่ะค่ะ และอีกทั้งในปัจจุบันนั้นยังเป็นอีกหนึ่งในกิจกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างมากเลยก็ว่าได้ ถ้าหากไม่ใช่คนที่มีน้ำหนักตัวเยอะเกินไปแล้วนั้นการวิ่งนั่นเป็นทางเลือกที่ดี เพราะสามารถทำได้ปกติโดยไม่มีเบื่อเลยล่ะค่ะ และก็เชื่อว่าก็ยังมีอีกหลายคนที่ต้องการที่จะออกกำลังกายและก็ต้องการที่จะเริ่มต้นออกกำลังกายด้วยการวิ่ง แน่นอนว่าการสิ่งนั้นถึงแม้จะฟังดูไม่ยากแต่ก็มีสิ่งที่ต้องเตรียมตัวและก็สิ่งที่ต้องรู้อยู่ค่ะ

การวิ่งเป็นการออกกำลังกายประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะเทรนด์วิ่งอย่าง Virtual Run หรือ การวิ่งเสมือนจริงที่ตอบโจทย์หลายท่านได้เป็นอย่างดี นพ.กรกฎ พานิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านออร์โธปิดิกส์และเวชศาสตร์การกีฬา และคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านโภชนาการของเฮอร์บาไลฟ์ นิวทริชั่น แนะนำว่า สำหรับใครที่สนใจการวิ่ง Virtual Run หรือเป็นมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มวิ่ง ควรรู้ถึงเคล็ดลับดีๆ สำหรับนักวิ่งมือใหม่ ก่อนลงแข่งขันจริง เพื่อให้วิ่งได้อย่างสนุก สุขภาพดี และมีความปลอดภัย

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://www.pexels.com/th-th/@jeshoots-com-147458

ก่อนเริ่มวิ่งต้องรู้อะไรบ้าง

Virtual Run คือ การวิ่งแข่งที่ผู้เข้าร่วมต้องลงทะเบียนออนไลน์ และออกไปวิ่งเพื่อทำระยะทางให้ถึงตามที่กำหนด จะวิ่งที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ จากนั้นอัพโหลดข้อมูลการวิ่งให้กับฝ่ายผู้จัด เป็นการแข่งกับตัวเอง ข้อดีคือนักวิ่งสามารถจัดตาราง วันเวลาวิ่งของตนเองได้ ทำให้หลายคนคาดหวังว่าจะได้ผลดีต่อสุขภาพ เช่น ไขมันลดลง น้ำหนักลดลง รูปร่างดีขึ้น ในช่วงที่ไม่ได้ออกไปพบปะผู้คนในช่วงนี้ แต่ผลลัพธ์ที่คาดหวังไว้จะตรงใจหรือไม่ ต้องอาศัยระยะเวลา

หากต้องการเข้าร่วมแข่งขันที่มีกิจกรรมตามกำหนดระยะเวลาสั้นๆ แล้วต้องการเห็นผล ดูจะเป็นเรื่องยาก รวมถึงใครที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน แต่อยู่ๆ มาเข้าร่วมแข่งขัน โดยไม่มีการเตรียมความพร้อม ออกกำลังกายหนักๆ ถือว่าอันตรายต่อร่างกาย ทั้งในส่วนของกล้ามเนื้อกระดูก ข้อต่อ และหัวใจ หากต้องการสุขภาพที่ดี ร่างกายแข็งแรง ต้องออกกำลังกายเป็นประจำ ฝึกฝน และรู้วิธี รู้เทคนิค เพื่อลดโอกาสบาดเจ็บลงได้

เตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนแข่ง Virtual Run

2-4 สัปดาห์ ก่อนลงแข่ง ต้องเตรียมร่างกายให้พร้อม

สำหรับคนที่ไม่เคยออกกำลังกายเลยแล้วต้องการร่วมแข่งขัน ก่อนลงแข่งประมาณ 2-4 สัปดาห์ ต้องเริ่มต้นออกกำลังกายให้มีระดับความเหนื่อย เบาถึงปานกลาง เช่น เดินต่อเนื่องประมาณ 10-20 นาที โดยให้อัตราการเต้นหัวใจอยู่ประมาณโซน 2 (รู้สึกเหนื่อย ประมาณ 6/10) แล้วให้สังเกตตัวเอง หากไม่มีอาการผิดปกติ ก็ค่อยๆ เพิ่ม ความเร็วให้อัตราการเต้นหัวใจขึ้นไปถึงโซน 3 (รู้สึกเหนื่อย ประมาณ 7/10) และรักษาระดับความเหนื่อยไว้ จนครบ 10-20 นาที

ในแต่ละครั้งที่เดิน หากทำได้ ไม่เหนื่อยเกินไป ไม่ปวดหลัง ปวดขา ปวดเข่า ให้คงระดับนี้ไว้ 3-5 ครั้ง (วัน) เมื่อร่างกายชินกับระดับนี้ สามารถเพิ่มระยะเวลาในการเดินได้ ครั้งละ 5-10 นาที เช่น จาก10 นาทีเป็น 15 นาที สังเกตเช่นเดิมและให้คงระดับไว้ 3-5 ครั้ง (วัน) จึงค่อยเพิ่มระยะไปเรื่อยๆ

สำหรับผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกาย หรือมีโรคประจำตัว หรือปวดเข่า ปวดหลังไม่ควรเพิ่มระยะเวลาเกินกว่า 50 % จากที่ทำได้ เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้อ ข้อต่อและหัวใจทำงานหนักเกินไป อาจจะเกิดอันตรายหรือบาดเจ็บได้

ค่อยๆ เพิ่มความเร็ว หรือความเหนื่อยให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มการเผาผลาญพลังงาน

หลังจาก 2 สัปดาห์ เมื่อเดินได้อย่างสม่ำเสมอ ในระดับความเหนื่อย 6-8/10 เป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที เราอาจเพิ่มอัตราการเต้นหัวใจสามารถขึ้นไปที่ โซน 4-5 (ความเหนื่อย 9-10) ได้ในระยะเวลาสั้นๆ เป็นช่วงๆ เช่น ในทุกๆ 5 นาทีให้เดินเร็วหรือ วิ่งเหยาะๆ 30-60 วินาที(ความเหนื่อย 9-10) สลับเดินในระดับความเหนื่อย 6-8 เป็นเวลา 4 นาที ทำเป็นรอบๆ

หากเหนื่อยเกินไปก็ให้ลดระยะเวลาของการเดินเร็ว หรือวิ่งเหยาะลง ให้อยู่ในระดับความเหนื่อยที่เราทนได้ แล้วค่อยๆ ปรับเพิ่ม การเดินสลับวิ่ง จะทำให้เกิดการเผาผลาญพลังงานมากขึ้น กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น

ข้อควรระวังสำหรับอัตราการเต้นหัวใจโซน 5 เพราะหัวใจจะทำงานหนักจึงทำได้เพียงระยะสั้นๆ หากเริ่มต้นฝึก ควรมีบุคคลอื่นอยู่ด้วยเพื่อคอยช่วยเหลือ หากเกิดอาการผิดปกติ

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://unsplash.com/@louishansel

วางแผนเรื่องโภชนาการ

การออกกำลังเพื่อให้ได้ประโยชน์ต้องทำควบคู่ไปกับการได้รับสารอาหารที่เหมาะสมต่อนักวิ่ง โดยก่อนวิ่งควรได้รับสารอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต ส่วนหลังวิ่งควรได้รับสารอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต และโปรตีน ถ้าเราวิ่งในโซน 2-3 โดยปกติร่างกายของเราใช้ทั้งไขมันและคาร์โบไฮเดรตเป็นพลังงานหลัก ถ้าออกกำลังกายไม่ถึงชั่วโมง ก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานคาร์โบไฮเดรตก่อนออกกำลังกายมากนัก

หากจะรับประทานคาร์โบไฮเดรต เช่น ขนมปัง 1-2 แผ่น (80 แคลอรี/แผ่น) หรือ นม 1 กล่อง (70-140 แคลอรี/กล่อง) ที่รวมแล้วให้พลังงานประมาณ 100-200 แคลอรี ก่อนการวิ่งประมาณ 1 ชั่วโมง จะช่วยให้ร่างกายมีพลังงานเพียงพอที่จะวิ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าตั้งเป้าหมายว่าจะวิ่งให้ Heart Rate Zone ขึ้นไปที่โซน 4-5 รวมถึงหากวิ่งเกิน 1 ชั่วโมง ควรรับประทานสารอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตเพิ่มเติมขณะวิ่งเช่น energy gel เพื่อชดเชยพลังงานที่ถูกใช้ไประหว่างออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายวิ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และเมื่อออกกำลังกายเสร็จก็ควรรับประทานทั้งคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนเพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อที่ถูกใช้ไป  หากละเลยสิ่งเหล่านี้อาจทำให้การฟื้นตัวช้าและอาจเกิดการบาดเจ็บ ภูมิต้านทานลดลง

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://www.pexels.com/th-th/@snapwire

วิธีรับมืออาการบาดเจ็บ

ในกรณีที่เดินหรือวิ่งเกินกำลังของกล้ามเนื้อ แล้วเกิดอาการปวด เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเข่า(แต่ไม่บวม อักเสบ) ปวดเท้า มักเป็นในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น หากปวดไม่มาก แค่ตึงๆ การบรรเทาอาการเบื้องต้น ให้ใช้ความเย็น หรือหากมีอาการบวม ให้ยกเท้าวางสูงเช่นวางเท้าบนหมอน

โดยทั่วไปอาการปวดมักจะทุเลาลงใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน หากหายเจ็บก็กลับไปวิ่งได้ แต่อย่ารีบเพิ่มระยะทาง จะเพิ่มระยะทางได้ในครั้งถัดไปก็ต่อเมื่อพบว่าในวันรุ่งขึ้นหลังจากวิ่งจะรู้สึกแค่ตึงๆ กล้ามเนื้อเล็กน้อย ไม่รู้สึกเจ็บ แต่ในกรณีเจ็บหรือปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และรับการรักษาที่เหมาะสม

ถึงแม้ว่าการที่จะออกไปวิ่งนั้นจะสามารถทำได้ง่ายๆ ไม่ยากเลยก็ตามที แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้วการวิ่งนั้นต่าก็มีหลากหลายรูปแบบและก็ยังต้องมีอุปกรณ์เซฟตี้ที่ผู้อยากจะเริ่มวิ่งอย่างจริงๆ จังๆ ควรมี และรวมไปถึงควรจะรู้ถึงวิธีการรับมืออาการบาดเจ็บด้วยก็จะดีมากเลยล่ะค่ะ เพราะถ้าหากเราได้เริ่มวิ่งไปในระดับนึงแล้วนั้นก็อาจจะมีเหตุการณ์หรืออะไรก็ตามที่อาจะทำให้เกิดอุบัติเหตุ และอาการบาดเจ็บได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นแล้ว DooDiDo แนะนำว่าเราก็ควรที่จะเตรียมพร้อมรับมือเสมอค่ะ

ขอบคุณแหล่งที่มา: www.sanook.com