แก้วลืมวาง สมุนไพรรสขม เป็นยาเย็นแก้ร้อนในและผดผื่นคัน

WM

ภาพจาก medthai

สมุนไพรรสขม แก้วลืมวาง เป็นยาเย็น แก้ร้อนในและแก้โรคผิวหนังผดผื่นคัน

แก้วลืมวาง สมุนไพรไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 30-50 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านเป็นจำนวนมาก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินที่อุดมสมบูรณ์ร่วนซุย เป็นพรรณไม้พื้นเมืองในเขตอบอุ่นแถบเหนือ[1],[2] มีชื่อสามัญว่า Chinese Pink สมุนไพรแก้วลืมวาง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผีเสื้อ (กรุงเทพฯ), เก็งชุ้งล้อ (จีน-กรุงเทพฯ), ฉวีม่าย (จีนกลาง), สือจู๋ (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2]

แก้วลืมวาง ชื่อวิทยาศาสตร์ Dianthus chinensis L. จัดอยู่ในวงศ์ CARYOPHYLLACEAE[1],[2]

ใบแก้วลืมวาง ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงเป็นคู่ ๆ ตรงข้ามกัน โคนใบเชื่อมติดกันเล็กน้อย ไม่มีก้านใบ ใบมีขนาดเล็ก ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกแคบ ปลายใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบไม่มีหยัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ มีสีเขียวอ่อน[1],[2]

ดอกแก้วลืมวาง ออกดอกบริเวณปลายยอด มีประมาณ 1-3 ดอก ลักษณะของดอกมีกลีบรองกลีบดอก ยาวประมาณ 16-24 เซนติเมตร โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด หลอดยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร

ส่วนปลายกลีบแยกออกจากกันเป็นแฉกแหลม ตั้งตรงมี 5 แฉก และกลีบดอกมีขนาดยาวประมาณ 1-25 มิลลิเมตร ขอบกลีบดอกหยักเป็นซี่ ๆ ห่างกัน มีทั้งสีแดงแกมขาว สีแดงม่วงอ่อน หรือสีแดงแกมสีแดงดำ กลางดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน ท่อเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉก 2 แฉก[1],[2]

ผลแก้วลืมวาง ผลหุ้มอยู่ในโคนกลีบ ปลายผลหยักเป็นเลื่อย มี 4 ซีก สีแห้ง[1],[2]

WM
ภาพจาก medthai

สรรพคุณของแก้วลืมวาง

  • ทั้งต้นมีรสขม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อหัวใจ ไต กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้เล็ก ใช้เป็นยาแก้ร้อนใน (ต้น)[2]
  • ต้นใช้เป็นยาขับปัสสาวะ รักษานิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรือปัสสาวะเป็นเลือด ตำรับยาขับปัสสาวะ แก้ร้อนใน จะใช้แก้วลืมวาง, ผักกาดน้ำ, ชะเอม และรากต้นพุดตาน นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ต้น)[1],[2]
  • ลำต้นใช้เป็นยาขับระดูของสตรี (ต้น)[1],[2]
  • ใช้เป็นยาแก้แผลเน่าเปื่อย ด้วยการใช้ต้นสดนำมาคั้นเอาน้ำล้างแผล (ต้น)[1]
  • ใช้เป็นยารักษาฝี ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็นฝี (ต้น)[2]
  • ใช้เป็นยารักษาบาดแผล รักษาโรคโกโนเรีย แก้โรคผิวหนังผดผื่นคัน (ต้น)[2]
  • ลำต้นใช้เป็นยาแก้โรคมะเร็งผิวหนัง แก้โรคเรื้อน (ต้น)[1]

ขนาดและวิธีใช้

  • ยาแห้งให้ใช้ประมาณ 5-12 กรัม ต่อ 1 ครั้ง นำมาต้มรับประทาน[2]

ข้อควรระวัง

  • ห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้กับสตรีมีครรภ์ เพราะอาจจะทำให้แท้งบุตรได้[1],[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของแก้วลืมวาง

  • สารสำคัญที่พบในสมุนไพรชนิดนี้ คือ พบน้ำมันระเหยที่ดอก เช่น Eugenol, Phenylethylalcohol, Benzyl benzoate, Benzyl salicylate, Methyl salicylate เป็นต้น ส่วนในต้นพบ Japonin, Alkaloid, น้ำตาล และวิตามินเอ[2]
  • เมื่อใช้น้ำที่ต้มได้จากต้นแก้วลืมวาง นำมาฉีดเข้ากระเพาะอาหารของกระต่ายในปริมาณ 2 กรัม ต่อ 1 กิโลกรัม พบว่าภายใน 6 ชั่วโมง กระต่ายจะมีปัสสาวะเพิ่มขึ้นประมาณ 1-2.5 เท่าของปกติ[2]
  • น้ำที่ต้มได้จากต้นแก้วลืมวาง เมื่อนำมาฉีดเข้าลำไส้ของกระต่าย พบว่ามีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ให้แรงขึ้น[2]
  • เมื่อใช้สารที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ นำมาฉีดเข้าเส้นเลือดของกระต่าย พบว่าจะทำให้การเต้นของหัวใจอ่อนลง และความดันลดลง[2]

ประโยชน์ของแก้วลืมวาง

  • แก้วลืมวาง เป็นพรรณไม้ที่นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ[1]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “แก้วลืมวาง”.  หน้า 76-77.
  2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “แก้วลืมวาง”.  หน้า 94.