กะหนานปลิง สมุนไพรไทยที่ช่วย บำรุงโลหิต นำดอกปรุงเป็นอาหาร

WM

ภาพจาก medthai

สมุนไพรไทย กะหนานปลิง ที่ช่วย บำรุงโลหิต และนำดอกปรุงเป็นอาหารได้

กะหนานปลิง จัดเป็นสมุนไพรไทยไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงได้ประมาณ 18-25 เมตร ทรงต้นเปลาตรง เปลือกต้นเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาลอ่อน เปลือกต้นค่อนข้างเรียบ มีช่องอากาศตามยาวอยู่ทั่วไป ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีแดงแทรกลายเส้นสีขาว เนื้อไม้สดมีสีชมพูเรื่อ ๆ แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล

ต้นที่มีอายุมากจะมีพูพอนสั้น ๆ ลักษณะเป็นหลืบ ตามยอดและกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลอมเหลืองขึ้นหนาแน่น มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย พม่า และมาเลเซีย ส่วนในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์อยู่ทั่วทุกภาค โดยพบขึ้นในป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา บนพื้นที่ระดับต่ำจนถึงพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 900 เมตร[1],[2],[4]

กะหนานปลิง ชื่อวิทยาศาสตร์ Pterospermum acerifolium (L.) Willd.[1],[3] ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE)

สมุนไพรกะหนานปลิง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เต้าแมว (เชียงใหม่), ปอหูช้าง สนานดง สากกะเท้า (อุตรดิตถ์), สลักกะพาด (สระบุรี), กะหนานปลิง หูควาย (ประจวบคีรีขันธ์), ตองเต๊า ปอเต๊า (ภาคเหนือ), ปอช้างแหก สลักกะพาด ปอหูช้าง หนานปิง (ภาคกลาง), ชะต่อละ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ตะมุ่ย (เมี่ยน) เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะของกะหนานปลิง

ใบกะหนานปลิง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบมีรูปทรงไม่แน่นอน ส่วนใหญ่มักเป็นรูปไข่หรือรูปรี แผ่นใบแผ่ค่อนข้างกว้างจนเกือบเป็นแผ่นกลม ปลายใบแหลม โคนใบเว้าลึกคล้ายรูปหัวใจ ส่วนขอบใบมักเว้าห่าง ๆ ไม่เป็นระเบียบ

ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-20 เซนติเมตร และยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร ก้านใบติดกับแผ่นใบล้ำจากโคนใบประมาณ 0.5-5 เซนติเมตร ใบของต้นกล้าจะมีขนาดใหญ่มาก โดยจะมีขนาดกว้างและยาวประมาณ 50 เซนติเมตร แผ่นใบเว้าเข้าเป็นแฉกลึกประมาณ 3-6 แฉก มีเส้นใบออกจากโคนใบ 6-11 เส้น

แผ่นใบด้านบนค่อนข้างเกลี้ยงเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนด้านล่างนุ่มมือเพราะมีขนสีเทาหรือสีขาวเป็นกระจุกขึ้นหนาแน่น และมีเส้นร่างแหปรากฏชัดเจน ก้านใบยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร มีสีน้ำตาลอมเหลือง ใบที่อยู่ช่วงล่างของลำต้นมักมีก้านใบยาวมาก มีขนาดยาวเท่ากับหรือยาวกว่าแผ่นใบ หูใบมีความยาวประมาณ 1.6 เซนติเมตร ขอบรุ่ยเป็นแฉกแคบ ๆ หลายแฉกไม่เป็นระเบียบ ร่วงได้ง่าย[1],[2]

ดอกกะหนานปลิง ออกเป็นดอกเดี่ยว ตั้งขึ้น ตามง่ามใบ ดอกตูมรูปทรงกระบอกห้าเหลี่ยม ยาวประมาณ 5-9 เซนติเมตร มีขนสีน้ำตาลอมเหลืองขึ้นหนาแน่น กลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนานแคบ ๆ ประกบกันเป็นรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร

เมื่อดอกบานกลีบจะแยกออกจากกันและตลบลงด้านล่าง ด้านนอกกลีบมีขนสีน้ำตาลอมเหลือง ส่วนด้านในมีขนอ่อนนุ่มสีขาวหนาแน่น ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ มีสีขาวอมเหลือง ลักษณะเป็นรูปขอบขนานแคบ ๆ มีขนาดเล็กกว่ากลีบเลี้ยงดอกเล็กน้อย

ดอกมีเกสรเพศผู้สมบูรณ์ 15 อัน แยกออกเป็น 5 มัด มัดละ 3 อัน และมีเกสรเพศผู้ไม่สมบูรณ์อีก 5 อัน เรียงสลับกับมัดเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ ส่วนรังไข่สั้น เป็นรูปทรงกระบอกห้าเหลี่ยม มีขนขึ้นหนาแน่น มี 5 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีออวุลจำนวนมาก[1],[2] ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน[4]

ผลกะหนานปลิง ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกเป็นสัน 5 เหลี่ยม ผลมีขนาดกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 14-20 เซนติเมตร ปลายผลแหลมมน ส่วนโคนผลคอดเรียวเป็นก้านทรงกระบอกแคบ ๆ ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ผลแก่จะแตกออกเป็น 5 เสี่ยง

เปลือกผลหนาและแข็ง ผิวผลด้านนอกมีขนแข็งสั้น ๆ สีน้ำตาลอมเหลืองขึ้นหนาแน่น ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้างประมาณ 9 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 13 มิลลิเมตร มีความหนาเล็กน้อย ด้านบนเป็นปีกบางยาว มีสีชา ขนาดกว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4 เซนติเมตร[1],[2] ผลจะแก่ในช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม[4]

WM
ภาพจาก medthai

สรรพคุณของกะหนานปลิง

  • เนื้อไม้มีรสฝาด ใช้เป็นยาบำรุงโลหิต (เนื้อไม้)[1]

ประโยชน์ของกะหนานปลิง

  • ในอินเดียทางภาคเหนือจะใช้ดอกเป็นยาแมลง[2]
  • ในบางครั้งก็ใช้ดอกเป็นอาหาร[2]
  • เนื้อไม้ใช้ในงานก่อสร้างทั่วไป[4]
  • ชาวเมี่ยนจะใช้เนื้อไม้ในการใช้สร้างบ้าน และใช้ทำสะพานในพิธีตานขัว[3]
  • ใช้ปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงาและปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป[4]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  “กะหนานปลิง”.  หน้า 70.
  2. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กะหนานปลิง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “กะหนานปลิง”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.
  4. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “กะหนานปลิง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.