กำจัดหน่วย สมุนไพรเป็นยาช่วยไล่ลม ขับลม แก้ปวดฟัน ปวดกระเพาะ

สรรพคุณของสมุนไพร กำจัดหน่วย เป็นยาช่วยไล่ลม ขับลม แก้ปวดฟัน ปวดกระเพาะ

กำจัดหน่วย จัดเป็นพรรณไม้เถาหรือไม้พุ่มรอเลื้อยอายุหลายปี (มีลักษณะเหมือนเป็นไม้พุ่ม แต่ถ้าไปขึ้นใกล้กับต้นไม้อื่นก็จะเลื้อยพาดพันไปยังต้นไม้ที่อยู่ใกล้เคียง) มีความสูงได้ประมาณ 2-3 เมตร ลำต้นและกิ่งมีหนามแหลมขึ้นกระจายแบบห่าง ๆ ในประเทศไทยพบขึ้นได้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนในต่างประเทศพบได้ในจีน อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย และในญี่ปุ่น โดยมักขึ้นบนพื้นที่ระดับต่ำจนถึงสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 500 เมตร[1],[2],[3]

กำจัดหน่วย ชื่อสามัญ Shiny-Leaf Prickly Ash

กำจัดหน่วย ชื่อวิทยาศาสตร์ Zanthoxylum nitidum (Roxb.) DC. จัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE)[1],[3]

สมุนไพรกำจัดหน่วย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กำจัดเถา, กำจัดเครือ, สรรพลังวน, งูเห่า (อุดรธานี), กำจัดหน่วย (ภาคใต้เรียก), ยิบตี่กิมงู้ เหลี่ยงหมิ่งจำ (จีนแต้จิ๋ว), ลู่ตี้จินหนิว เหย่เชียนหนิว เหลี่ยงเมี่ยนเจิน (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[3]

ลักษณะของกำจัดหน่วย

ใบกำจัดหน่วย ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงสลับ ยาวได้ถึง 40 เซนติเมตร ก้านใบและแกนใบมีหนามแหลม มีใบย่อยประมาณ 2-4 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรีหรือรูปไข่ ปลายใบและโคนใบแหลมหรือมน ส่วนขอบใบหยักห่าง ๆ บริเวณรอยหยักมักมีต่อมกลม ๆ อยู่ใกล้ ๆ ขอบใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร มีเส้นแขนงใบข้างละ 5-12 เส้น และมีหนามเล็ก ๆ อยู่ตามเส้นกลางใบด้านล่าง[1]

ดอกกำจัดหน่วย ออกดอกเป็นช่อที่ง่ามใบและปลายยอด ยาวได้ถึง 15 เซนติเมตร ก้านช่อดอกอาจมีขนละเอียด ดอกมีขนาดเล็ก เป็นแบบแยกเพศ มีทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย โดยดอกเพศผู้จะยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร ก้านดอกสั้น มีกลีบดอก 4 กลีบ กลีบดอกเป็นสีเหลืองอมเขียว ลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปไข่ ยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร

กลีบเลี้ยงดอกมีขนาดเล็ก มี 4 กลีบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม โคนกลีบเชื่อมติดกันเล็กน้อย มีเกสรเพศผู้ 4 อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ชูอับเรณูโผล่พ้นกลีบดอก อับเรณูมีขนาดเล็กมาก มี 2 ช่อง รังไข่ไม่สมบูรณ์และมีขนาดเล็กมาก ส่วนดอกเพศเมียจะมีลักษณะคล้ายดอกเพศผู้ แต่จะต่างกันตรงที่ดอกเพศเมียจะมีขนาดเล็กกว่าดอกเพศผู้ และมีรังไข่ใหญ่เห็นได้ชัด โดยจะมีรังไข่ 4 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียจะสั้น ยอดเกสรเพศเมียเล็ก[1]

ผลกำจัดหน่วย ผลมี 4 พู ที่ค่อนข้างอิสระ จะติดกันเฉพาะที่โคน พูมีลักษณะค่อนข้างกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-7 มิลลิเมตร ผลเมื่อแก่จะแตกออกตามยาวกลางพู ในแต่ละพูจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะค่อนข้างกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ผิวเมล็ดเกลี้ยงและเป็นมัน[1] ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ส่วนเมล็ดจะออกในช่วงประมาณเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม[3]

สรรพคุณของกำจัดหน่วย

  • ทั้งต้นมีรสเผ็ดขม เป็นยาสุขุม มีพิษเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อกระเพาะและตับ ใช้เป็นยาช่วยไล่ลม ขับลมชื้นในร่างกาย ทำให้ลมปราณโปร่งโล่ง (ทั้งต้น)[3]
  • ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียจะใช้เป็นยาลดไข้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[2]
  • ใช้เป็นยาแก้หวัดแดด (ทั้งต้น)[3]
  • ใช้เป็นยาแก้คอตีบอักเสบ (ทั้งต้น)[3]
  • ใช้เป็นยาแก้ปวดฟัน ปวดกระเพาะ (ทั้งต้น)[3]
  • ในภูมิภาคอินโดนจีนจะใช้ผลกำจัดหน่วยปรุงเป็นยาขับลม ขับพยาธิ (ผล)[1]
  • ใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[2]
  • ผลมีสรรพคุณเป็นยาฝาดสมาน (ผล)[1]
  • ใช้เป็นยาแก้ฝีหนอง แก้ไขข้ออักเสบ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[2]
  • ใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก พิษจากงูกัด และใช้แก้พิษต่าง ๆ ถอนพิษผิดสำแดง ด้วยการใช้เปลือกต้น ต้มกับน้ำนำมาล้างแผล เช็ดให้แห้ง แล้วจึงใช้เปลือกกำจัดหน่วยที่บดเป็นผงนำมาโรยบริเวณแผล (เปลือกต้น)[3]
  • ใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อยตามข้อ ฟกช้ำ ปวดบวม ตำรับยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้ฟกช้ำ จะใช้เปลือกต้นกำจัดหน่วย 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยา (เปลือกต้น)[3]
  • ใช้กำจัดหน่วยนำมาต้มกับน้ำ แล้วใช้ไอร้อนมาอบผิวหนังบริเวณที่บวมช้ำหรือปวดเมื่อยได้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[3]

ขนาดและวิธีใช้ :

ในกรณีต้มหรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยา ให้ใช้ครั้งละประมาณ 6-12 กรัม ส่วนการใช้ภายนอก (ล้างแผล, แก้พิษงู, พิษต่าง ๆ) สามารถใช้ได้ตามความต้องการ โดยนำมาฝนแล้วผสมกับเหล้า ใช้ทาแก้พิษหรือไหม้น้ำร้อนลวกได้[3]

ข้อควรระวัง :

ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้พร้อมกับของเปรี้ยวหรือของจำพวกที่มีกรด ส่วนสตรีมีครรภ์ห้ามรับประทาน สำหรับวิธีแก้พิษนั้น ให้ชงน้ำตาลรับประทานหรือให้ฉีดน้ำเกลือเข้าในร่างกาย[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกำจัดหน่วย

สารที่พบ คือสารจำพวก อัลคาลอยด์ ,Nitidne, Oxynitidine, Diosmin และในเมล็ดพบน้ำมันระเหย[3]

กำจัดหน่วยที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ 2 ซีซี หรือใช้กำจัดหน่วยแห้งประมาณ 3 กรัม ต้มกับน้ำแล้วนำมาฉีดเข้ากล้ามเนื้อของคนวันละ 1-2 ครั้ง พบว่าสามารถรักษาอาการปวดศีรษะ และแก้ปวดมวนกระเพาะลำไส้ได้ โดยปกติใช้ยาประมาณ 5-10 นาที ก็สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้แล้ว[3]

กำจัดหน่วย 2 กรัม และหนุมานประสานกาย 4 กรัม (ในปริมาณนี้เมื่อนำมาสกัดแล้วจะได้กำจัดเถา 1 กรัม และหนุมานประสานกาย 2 กรัม) เมื่อสกัดเป็นน้ำยาแล้ว ได้นำมาฉีดเข้ากล้ามเนื้อคน โดยฉีดครั้งละ 2 ซีซี พบว่ามีประสิทธิภาพในการบรรเทาปวดได้ถึง 95% ใช้ยาประมาณ 3-10 นาที และจะเห็นผลฤทธิ์ยาแก้ปวดนี้อยู่ได้นานประมาณ 3-8 ชั่วโมง[3]

กำจัดหน่วยที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์หรือคลอโรฟอร์ม เมื่อนำน้ำยาที่สกัดได้มาพ่นใส่เหงือกฟัน พบว่าจะทำให้เหงือกชา จึงใช้ในการถอนฟันได้[3]

สารสกัดหยาบที่สกัดโดยคลอโรฟอร์มมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อวัณโรค (Mycobacterium tuberculosis) และเชื้อมาลาเรียชนิดขึ้นสมอง (Plasmodium falciparum)[2]

ประโยชน์ของกำจัดหน่วย

  • เปลือกผลใช้เป็นเครื่องปรุงรสในแกง ยำ ลาบ มีรสเผ็ด กลิ่นหอมจัด ช่วยดับความคาว และทำให้อยากอาหารได้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกับมะแขว่น[2]
  • ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียจะใช้ทำยาสีฟัน[2]
  • นำมาใช้เป็นยาฆ่าแมลงและยากำจัดศัตรูพืช[2]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

ข้อมูลพรรณไม้

  1. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กำจัดหน่วย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.
  2. มูลนิธิสุขภาพไทย.  “มะแข่วน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaihof.org.
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “กำจัดเถา”.  หน้า 76.