กำลังควายถึก สมุนไพรบำรุงกำลังแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย

WM

ภาพจาก medthai

สมุนไพรบำรุงกำลัง กำลังควายถึก บำรุงโลหิต แก้ฝีภายใน แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย

กำลังควายถึก จัดเป็นสมุนไพรพรรณไม้เถาเกาะเกี่ยวพาดพัน ลำต้นเป็นเถากลมหรือเป็นเหลี่ยมมนเกลี้ยง หรือมีหนามโค้งประปราย หนาประมาณ 0.3-1.2 เซนติเมตร ช่วงระหว่างข้อยาวประมาณ 8-25 เซนติเมตร มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย เนปาล จีน ไต้หวัน พม่า และภูมิภาคอินโดจีน ส่วนในประเทศไทยพบได้ทุกภาคของประเทศ โดยมักขึ้นตามป่าดิบ บนพื้นที่ระดับน้ำทะเลจนถึงความสูงประมาณ 1,500 เมตร[1],[2]

สมุนไพรกำลังควายถึก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เครือเดา เดาน้ำ สะเดา (เชียงใหม่), ก้ามกุ้ง (อุตรดิตถ์), เขืองปล้องสั้น (นครราชสีมา), เขือง (ภาคอีสาน), เขืองแดง เขืองสยาม (ภาคกลาง), พอกะอ่ะ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), หนามป๋าวหลวง (ไทใหญ่) เป็นต้น[1],[3]

กำลังควายถึก ชื่อวิทยาศาสตร์ Smilax perfoliata Lour. จัดอยู่ในวงศ์ข้าวเย็นเหนือ (SMILACACEAE)[2]

ใบกำลังควายถึก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีกว้าง รูปรี รูปไข่แกมรี หรือรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือค่อนข้างแหลม มีบ้างที่โคนใบเว้าตื้น ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-13 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-18 เซนติเมตร แผ่นใบหนาแข็ง มีนวลเล็กน้อยแอ่นเป็นร่อง เส้นแขนงใบออกจากโคนใบมีประมาณ 5-7 เส้น นูนเห็นชัดเจนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบ 3 เส้นที่อยู่ตรงกลาง โคนเชื่อมกันห่างจากโคนใบประมาณ 0.5-1.3 เซนติเมตร เส้นใบย่อยสานเป็นร่างแห ก้านใบเป็นรูปสามเหลี่ยม ยาวได้ประมาณ 1.5-6 เซนติเมตร ก้านใบตอนโคนแผ่ออกเป็นกาบกว้างประมาณ 0.7-1.2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ที่โคนกาบเป็นรูปหัวใจเว้าลึกโอบรอบลำต้น ปลายแหลม มีมือพัน 1 คู่ ยาวประมาณ 7-20 เซนติเมตร[1],[2]

ดอกกำลังควายถึก ดอกเป็นแบบแยกเพศ และอยู่ต่างต้นกัน โดยจะออกตามโคนหรือตอนปลายกิ่ง ออกดอกเป็นช่อกระจะรวมที่มีช่อย่อย ๆ แบบช่อซี่ร่ม ช่อยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร ส่วนมากจะมีช่อซี่ร่มประมาณ 1-3 ช่อ

แต่ในช่อดอกเพศผู้ช่ออาจยาวได้ถึง 15 เซนติเมตร และมีช่อซี่ร่มได้ถึง 15 ช่อ และข้อที่ 4-6 ของช่อมีช่อซี่ร่มได้ข้อละ 2-4 ช่อ ที่โคนของแก่นช่อดอกจะมีใบประดับย่อย ลักษณะเป็นรูปไข่ปลายแหลม ยาวประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร

ก้านช่อดอกแข็ง ยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร ช่อซี่ร่มจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-5 เซนติเมตร และมีดอกย่อยประมาณ 20-70 ดอก ก้านช่อยาวประมาณ 0.7-1.5 เซนติเมตร วงกลีบรวมมี 6 กลีบ แยกจากกัน เรียงเป็น 2 วง

ดอกเพศผู้กลีบรวมจะยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร เมื่อดอกบานกลีบจะโค้งลง กลีบรวมวงนอกเป็นรูปขอบขนาน ปลายมน มีขนาดกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร ส่วนกลีบรวมวงในจะแคบกว่า และมีเกสรเพศผู้ 6 อัน

ส่วนดอกเพศเมียกลีบรวมจะเป็นรูปไข่แกมรูปใบหอก ยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร เมื่อดอกบานกลีบจะกางตรง กลีบรวมวงนอกมีขนาดกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร ส่วนกลีบรวมในจะแคบกว่า มีรังไข่เป็นรูปรี อยู่เหนือวงกลีบ มี 3 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียมี 3 แฉก มีเกสรเพศผู้ที่ไม่สมบูรณ์ที่มีลักษณะคล้ายเข็ม 3 อัน ยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร[1],[2]

ผลกำลังควายถึก ออกผลเป็นช่อ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม เนื้อผลนุ่ม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน ๆ เมื่อสุกจะเป็นสีแดง ภายในมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด เมล็ดเป็นสีแดงเข้ม ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่กลับเกือบกลม มีขนาดกว้างและยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร[1],[2]

WM
ภาพจาก medthai

สรรพคุณของกำลังควายถึก

  • ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (เถาและหัว[5], เปลือก[4])
  • เปลือกใช้เป็นยาบำรุงโลหิต ทำให้ธาตุสมบูรณ์ (เปลือก)[4]
  • รากเหง้าใช้ปรุงเป็นยาแก้ต่อมน้ำเหลืองภายใน ขับต่อมน้ำในร่างกาย (รากเหง้า)[1]
  • รากเหง้าใช้ปรุงเป็นยาแก้ฝีภายใน (รากเหง้า)[1]
  • ใช้เป็นยาบำรุงกำหนัด (เถาและหัว)[5]
  • ใช้เป็นยาขับโลหิต (เถาและหัว)[5]
  • น้ำจากยอดที่หักใช้หยดลงบริเวณที่เป็นหูด โดยให้ทำประมาณ 7 วัน หูดจะหาย (น้ำจากยอด)[4]
  • เปลือกใช้เป็นยาแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย (เปลือก)[4]

ประโยชน์ของกำลังควายถึก

  • ผลสุกใช้รับประทานได้ ส่วนช่อดอกใช้ลวกรับประทานร่วมกับน้ำพริก แต่จะไม่นำต้นมารับประทานเพราะจะทำให้คัน[3]
  • ยอดและใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักเหนาะ และแกงเลียง ส่วนผลใช้เป็นผักเหนาะหรือใช้แกงส้ม มีรสมันเจือฝาดและเปรี้ยวเล็กน้อย[4]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  “เขือง”.  หน้า 82.
  2. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กําลังควายถึก”.  อ้างอิงใน : หนังสืออนุกรมวิธานพืช อักษร ก. (ราชบัณฑิตยสถาน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “กำลังควายถึก, เครือเดา”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.
  4. สมุนไพร ภูมิปัญญาไทย, เทศบาลเมืองทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช.  “กําลังควายถึก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.tungsong.com.
  5. พันธุ์ไม้ในท้องถิ่น อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช.  “กำลังควายถึก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : taqservices.net.