รู้ทัน!! 8 เทคนิคที่จะช่วยให้เด็กๆ มีทักษะความจำที่ดี

WM

การให้ความสำคัญในเรื่องของสุขภาพกาย และจิตใจของเจ้าตัวน้อย ให้เขาเติบโตไปในสังคมที่ดีได้

การดูแลลูกๆ และเด็กๆ นั้นก็เป็นสิ่งที่คนเป็นพ่อเป็นแม่และผู้ปกครองทั้งหลายให้ความสำคัญอยู่แล้วใช่มั้ยล่ะคะ ซึ่งแน่นอนว่าอันดับแรกก็จะต้องใส่ใจและให้ความสำคัญในเรื่องของสุขภาพกายและจิตใจของเจ้าตัวน้อยก่อน แต่อย่างไรก็ตามเพื่อที่จะให้เด็กๆ ผู้เป็นที่รักของเราได้เติบโตไปในสังคมเป็นอย่างดีแล้วล่ะก็ การมีสมรรถภาพที่ดีนั้นก็เป็นเรื่องที่สำคัญเหมือนกันๆ เพราะในบางทีเราก็ไม่สามารถที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเด็กๆ ของเราได้ใช่มั้ยล่ะคะ เพราะฉะนั้นแล้วการให้เด็กๆ มีสรรถภาพทางการจดจำ นั้นก็เป็นเรื่องจำเป็นเลยล่ะค่ะ

ความจำเป็นทักษะที่สำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์ เป็นทักษะที่เกิดจากจดจำการตอบสนองต่อสิ่งเร้า เพื่อเก็บเป็นข้อมูล และสามารถนำออกมาใช้ตอบสนองกับกิจกรรม เหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่คล้ายคลึงหรือเหมาะสม ทักษะความจำของมนุษย์เรานั้น ประกอบด้วยกระบวนการ 3 กระบวนการ อันได้แก่ การเข้ารหัส (encoding) เป็นการที่เรารับรู้และตอบสนองต่อสิ่งเร้า แปลผล และรวบรวมเป็นข้อมูล การจัดเก็บ (storage) เป็นการที่เราบันทึกข้อมูลที่ได้เข้ารหัสแล้วอย่างถาวร และ การค้นคืน (retrieval หรือ recollection) คือการระลึกถึง เป็นการค้นหาข้อมูลที่ได้บันทึก เพื่อนำออกมาใช้ในพฤติกรรมหรือกิจกรรมอะไรบางอย่าง

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://www.pexels.com/th-th/@mikhail-nilov

ประเภทของความจำนั้น แบ่งออกตามระยะได้ 3 ระยะคือ

  1. ความจำทันที(immediate memory) เป็นความจำที่เกิดขึ้นทันทีที่มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้า และจะหายไปในเวลาไม่นาน ถ้าไม่ได้ตั้งใจจดจำหรือทบทวน
  2. ความจำระยะสั้น(short-term memory) เป็นความจำที่เกิดขึ้นเมื่อมีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าอย่างตั้งใจในช่วงเวลาหนึ่ง ทำให้สามารถจดจำข้อมูลเหล่านั้นได้ในระยะเวลาพอสมควร และจะหายไปถ้าไม่ได้มีการทบทวนอย่างต่อเนื่อง
  3. ความจำระยะยาว (long-term memory) เป็นความจำที่เราตอบสนองต่อสิ่งเร้าและทบทวนอยู่เสมอ ทั้งจากความตั้งใจ เช่น การทบทวนหนังสือวิชา หรือ การท่องจำ หรือการไม่ตั้งใจ เช่น การหวนคิดถึงเรื่องเจ็บปวดในอดีต ความจำระยะยาวนี้ เป็นการพัฒนามาจากความจำระยะสั้น ซึ่งอาจอยู่ได้นานเป็นปี หรือตลอดชีวิตก็ได้

จะเห็นได้ว่าความจำนั้น มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์เราอย่างมาก และโดยเฉพาะในการเรียนรู้ มนุษย์ต้องใช้การจำเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีขึ้น การเป็นคนที่มีทักษะการจำที่ดีจะทำให้ช่วยเราให้สามารถจดจำสาระและรายละเอียดของข้อมูลหรือเนื้อหาต่างๆได้อย่างแม่นยำ และสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นออกมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องฝึกฝนทักษะความจำของเรา ให้สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดตามแต่ศักยภาพของแต่ละคน

สำหรับเทคนิคที่ช่วยให้มีทักษะความจำที่ดีนั้น Dr. John Grohol ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Psych Central เว็บไซต์ส่งเสริมด้านสุขภาพจิตที่เก่าแก่ที่สุดในอินเทอร์เน็ต ได้เขียนบทความเรื่องเกี่ยวกับ 8 เคล็ดลับสำหรับการพัฒนาความจำของคุณ (8 Tips for Improving Your Memory) ซึ่งนับเป็นบทความที่นำเสนอเคล็ดลับในการส่งเสริมความจำที่น่าสนใจ ควรที่จะศึกษาและส่งเสริมให้นักเรียนได้นำไปใช้เป็นอย่างยิ่ง จึงถือโอกาสเรียบเรียงข้อมูลให้เข้าใจง่าย เพื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ดังนี้

1. มุ่งเน้นไปที่สิ่งเหล่านั้น คือ การมีสมาธิตั้งใจกับเรื่องที่เรียนทีละเรื่อง ไม่ทำอะไรหลายอย่างปะปนกัน การทำอะไรหลายอย่างพร้อมกันนั้น นำไปสู่การเรียนรู้แบบไม่โฟกัส ส่งผลให้เกิดการหลงลืมได้ง่าย เนื่องจากสมองของคนเราจำเป็นที่จะต้องใช้เวลาในการเข้ารหัสข้อมูลที่ถูกต้อง การเรียนรู้หรือทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกันจะทำให้ขาดสมาธิและไม่มีเวลามากพอที่ข้อมูลในสมองจะถูกแปรเปลี่ยนเป็นความทรงจำที่เหมาะสม

2. ได้กลิ่น สัมผัส ลิ้มรส ได้ยินและเห็นสิ่งเหล่านั้น คือ การใช้ประสาทสัมผัสเข้ามาช่วยในเรื่องของความจำ ยิ่งใช้ประสาทสัมผัสในแต่ละด้านเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้มากเท่าไหร่ เราจะสามารถจดจำเนื้อหาความรู้ได้มากขึ้นเท่านั้น

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://www.pexels.com/th-th/@lina

3. ทำสิ่งเหล่านั้นซ้ำ ๆ คือการฝึกฝนทำซ้ำเพื่อให้เราสามารถจดจำวิธีการ แนวทาง และเนื้อหาความรู้นั้นได้ การฝึกฝนทำซ้ำนับเป็นเทคนิคพื้นฐานในการเรียนรู้ เพราะช่วยให้ข้อมูลในสมองของเราคงทนแข็งแกร่งมากขึ้นและสามารถนำออกมาใช้ได้ดีขึ้น

4. รวมสิ่งเหล่านั้น คือ การจับกลุ่มข้อมูลเพื่อให้เราสามารถที่จะจดจำข้อมูลเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น เช่น แทนที่เราจะจำเบอร์โทรศัพท์ทีละตัว เราสามารถเลือกที่จะแบ่งตัวเลขทีละ 3-4 หลัก เพื่อทำให้ข้อมูลง่ายต่อการจดจำมากขึ้นได้ เป็นต้น

5. จัดระเบียบสิ่งเหล่านั้น คือการจัดระเบียบข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกในการจดจำ เพราะธรรมชาติของสมองเรานั้นชอบที่จะจัดระเบียบข้อมูลให้สามารถเรียกใช้ข้อมูลที่บันทึกไว้ได้อย่างสะดวก เราจึงควรจัดระเบียบข้อมูลที่จะศึกษาให้ดีและรอบคอบ จะช่วยให้เราจดจำได้ง่ายขึ้น นี่คือเหตุผลว่าทำไมหนังสือเรียนถึงต้องออกแบบเนื้อหาเป็นบทๆ เพราะช่วยให้เราเรียนรู้ให้ง่ายขึ้นนั่นเอง

6. ใช้อุปกรณ์ช่วยในการจำ คือ การใช้ตัวย่อ บทคำคล้องจอง เพลงหรือแม้แต่การใช้บัตรคำ เพื่อช่วยในเรื่องของการจำ วิธีนี้จะช่วยให้เราสามารถจำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนแพทย์อาจท่องจำกระดูกในร่างกายหรืออาการของโรคต่างๆ เป็นประโยคโดยใช้ตัวอักษรตัวแรกของแต่ละคำที่กล่าวถึงเรื่องดังกล่าว มาร้อยเรียงเป็นประโยค เป็นต้น

7. เรียนรู้วิธีที่เหมาะกับตัวเอง คือ การเลือกใช้วิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตัวเอง หลายคนมักจะจมอยู่กับการคิดที่ว่ามีรูปแบบการเรียนรู้อยู่เพียงแบบเดียวสำหรับการจดจำเนื้อหาใหม่ แต่นั่นคือสิ่งที่ผิด เพราะมีรูปแบบการเรียนรู้มากมายที่ทั้งเหมาะสมและไม่ได้เหมาะสมสำหรับทุกคน จงหาสไตล์ที่เหมาะกับตัวเอง แม้ว่าวิธีนั้นจะไม่ใช่วิธีที่คนส่วนใหญ่เรียนรู้ก็ตาม

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://www.pexels.com/th-th/@mentatdgt-330508

8. เชื่อมต่อจุดต่างๆ คือ การเชื่อมโยงเนื้อหาความรู้เข้าด้วยกัน เพื่อให้สามารถจดจำข้อมูลได้ง่าย การวิจัยแสดงให้เห็นว่าความจำของเราจะแข็งแกร่งขึ้น เมื่อเราสามารถเชื่อมโยงความรู้ใหม่เข้ากับความรู้เดิมได้ เพราะความรู้ใหม่นั้นจะไปช่วยปรับปรุงความรู้เดิมให้เหมาะสมและมีข้อมูลจากความรู้ใหม่เพิ่มเข้าไปด้วยทำให้เรามีข้อมูลในสมองที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

การดูแลเด็กๆ แล้วนั้นก็เป็นสิ่งที่ยากค่ะ เพราะในหลายๆ ครั้งเราก็ไม่สามารถที่บังคับพวกเค้าได้ตามที่เราอยากจะให้เป็น (ถึงแม้ว่าเรื่องนั้นจะเป็นผลดีต่อตัวพวกเค้าก็ตามที) แต่เราอาจจะต้องมีทักษะหรือหากิจกรรมให้พวกเค้าได้ทำ ใช้เวลาอยู่กับพวกเค้าให้มากยิ่งขึ้น และลองนำเอาวิธีการที่ DooDiDo นำมาฝากทุกคนในวันนี้ไปทำตามดูนะคะ เชื่อได้เลยว่าเด็กๆ ผู้เป็นที่รักของทุกคนก็จะมีสมรรถภาพทางการจำที่ดี เมื่อเติบโตขึ้นก็จะสามารถดูแลตัวเองได้ดี เมื่อยามที่เราไม่สามารถช่วยเหลือพวกเค้าได้นั่นเองค่ะ

ขอบคุณแหล่งที่มา: www.trueplookpanya.com