มาเช็คตัวเองด้วย 5 สัญญาณอันตรายว่าคุณกำลังเครียดจากงาน

WM

อย่าปล่อยให้อาการเครียดจากงานพาลให้เราเสียเพื่อนร่วมงานดี ๆ ไป

ในการทำงานเรามักจะต้องเจอกับความผิดพลาด ความขัดแย้ง จนทำให้บางครั้งเราไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ได้ จึงทำให้เราเกิดความเครียดได้ เมื่อความเครียดถูกสะสมนานวันเข้า ก็ทำให้เราแสดงออกมาจากพฤติกรรมต่าง ๆ โดยที่คุณไม่รู้ตัว วันนี้เราจะพาคุณมาเช็คตัวเองด้วยสัญญาณอันตรายว่าคุณกำลังเครียดจากงานอยู่หรือเปล่า จะมีอะไรบ้าง มาดูกันค่ะ

รู้ไหมว่าความเครียดส่งผลร้ายต่อสุขภาพเรามากแค่ไหน? หลายคนอาจคิดว่าความเครียดเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน แต่รู้หรือไม่ว่าหากความเครียดเรื้อรัง ปัญหาสุขภาพก็จะตามมาและที่สำคัญมันจะทวีคูณขึ้นเรื่อย ๆ หากคุณยังไม่หยุดเครียด ไม่ว่าจะเป็น ตับทำงานผิดปกติ ระบบไหลเวียนของเลือดผิดปกติส่งผลต่อผิวหนังทำให้หน้าแก่ก่อนวัย มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ โอ้โห ฟังแล้วคงไม่มีใครอยากเครียด แต่มันก็อดไม่ได้โดยเฉพาะชีวิตที่เราต้องทำงานอย่างหนัก เจอคนหลากหลาย เจอความกดดันหลากประเภท งั้นเรามาเช็คตัวเองกันหน่อยเพื่อให้รู้ทันว่าเรากำลังเครียดจากงานที่เราทำอยู่หรือไม่

WM
ขอบคุณภาพจาก : https://www.freepik.com/wayhomestudio

1.คุณรู้สึกว่าคุณเริ่มมองโลกในแง่ร้าย
ลองเช็คตัวเองดูว่าคุณเริ่มมองหลาย ๆ อย่างด้านลบไปเสียหมดหรือเปล่า เช่นคิดว่าจะมีคนมาเอาเปรียบตัวเองตลอดเวลา ใครในออฟฟิศหยิบยื่นความช่วยเหลือมาให้ก็คิดว่าเขาต้องอยากได้อะไรจากเรา หัวหน้าจ่ายงานให้คนอื่นที่ไม่ใช่เราทำ ก็โทษตัวเองว่าตัวเราขาดประสิทธิภาพ เพื่อนร่วมงานนำเสนอไอเดียผ่านก็คิดว่าเพราะเขาเป็นคนโปรดของเจ้านายถึงผ่าน แบบนี้แสดงว่าคุณกำลังถูกความเครียดจากการทำงานทำร้ายแล้วละ ฉะนั้นลองดึงตัวเองกลับมาตั้งสติ พาตัวเองมองมุมใหม่ ๆ ในด้านบวก ๆ ดูบ้าง จะได้ไม่จมอยู่ในโลกที่มืดดำ ความเครียดจะได้เจือจางลง แล้วคุณจะมีความสุขกับงานมากขึ้น

2.คุณเริ่มบ่นเรื่องในที่ทำงานลงเฟสบุค
จำพวกตั้งสเตตัสกระแหนะกระแหนเพื่อนร่วมงาน จำพวกตัดพ้อตัวเองเพื่อหวังจะเรียกร้องความสนใจจากเพื่อนร่วมงานหากเขาได้อ่าน จำพวกด่าหัวหน้าออกสื่อ จำพวกบ่นว่างานหนักเหลือเกินฉันทนทำอะไรอยู่ แบบนี้มั่นใจได้เลยว่าคุณกำลังเครียดเรื่องงานจนพาลไม่ไว้ใจ ไม่เชื่อใจใครเลยในออฟฟิศ แบบนี้ส่งผลเสียทั้งสุขภาพจิตตัวเอง และคนอื่นที่ได้เห็นโพสของคุณด้วยนะ ปล่อยวางเสียบ้างไม่อย่างนั้นความเครียดเรื้อรังจะถามหาโดยไม่รู้ตัว

3.หงุดหงิดใส่คนรอบข้าง
ถ้าคุณไม่เข้าข้างตัวเองจนเกินไป ลองถามตัวเองดูว่าเรามักจะหงุดหงิดใส่คนรอบข้างอย่างไม่มีสาเหตุหรือไม่ แต่ถ้าคุณไม่แน่ใจ ก็ลองสังเกตเพื่อนรอบข้างดูว่า ช่วงนี้พวกเขาทำตัวห่างเหินเฉยชากับคุณอยู่บ้างรึเปล่า เพราะบางครั้งเราหงุดหงิด แสดงอารมณ์ไม่น่ารักใส่ใครโดยไม่รู้ตัวก็อาจจะทำให้เพื่อนร่วมงานไม่ค่อยอยากจะเสวนาด้วยก็เป็นได้ ดังนั้น หมั่นเช็คหน่อย อย่าปล่อยให้อาการเครียดจากงานพาลให้เราเสียเพื่อนร่วมงานดี ๆ ไป

WM
ขอบคุณภาพจาก : https://www.freepik.com/wayhomestudio

4.รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา
เคยไหมทำงานหนักแต่พักเท่าไหร่ก็ไม่หายเหนื่อย บอกเลยว่าที่คุณเป็นแบบนี้ก็เพราะว่าที่คุณเหนื่อยมันใม่ใช่แค่เรื่องของร่างกายแล้วละ แต่มันเป็นเรื่องของความเหนื่อยที่ลึกลงไปถึงจิตใจ เพราะบางทีคุณไม่สามารถปล่อยวางงานที่เครียด ๆ ออกจากใจได้ คุณแบกมันกลับมาคิดต่อที่บ้าน คิดจนเข้านอน ทำให้คุณนอนหลับไม่สนิท ตื่นมาคุณก็จะรู้สึกยังคงเมื่อยล้า พาลไม่อยากให้คุณลุกออกไปหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ เข้าไปอีก jobsDB แนะนำว่า ปล่อยวางและลองหาอะไรสนุก ๆ ทำให้ร่างกายกลับมากระปรี้กระเปร่าให้เร็วที่สุด

5.วิตกกังวลกับทุกเรื่อง
ลองนึกย้อนดูว่าคุณมักจะวิตกกังวลอยู่บ่อย ๆ แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือไม่ กลัวทำงานนี้ไม่ได้ กลัวขายงานนี้ไม่ผ่าน ไม่ไว้ใจและไม่เชื่อมั่นในคนอื่น กลัวเขาจะทำได้ไม่ดีเท่าเรา กลัวเขาจะทิ้งงาน กลัวไปเสียหมด ทั้ง ๆ ที่งานบางอย่างยังไม่ทันจะได้เริ่มทำเสียด้วยซ้ำ ถ้าเป็นแบบนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าคุณกำลังเครียดเกินไป ลองปล่อยวางเสียบ้าง ทำทุกอย่างแบบสบาย ๆ เข้าใจว่างานบางอย่างเป็นงานใหญ่ งานสำคัญอาจจะเป็นเรื่องยากที่คุณจะไม่กังวล แต่บางครั้งการกังวลที่มากเกินไป ก็พาลให้เพื่อนร่วมงานรับรู้ได้ถึงความเครียด ความกดดัน จากที่ทุกคนจะทำงานสบาย ๆ ปล่อยไอเดียกันอย่างเต็มที่ ก็กลายเป็นวิตกกันไปทั้งทีม แบบนี้ยิ่งแย่แน่นอน

คุณกำลังเป็นแบบใน 5 ข้อนี้อยู่หรือไม่คะ ถ้าใช่ตามที่ DooDiDo นำมาบอกกล่าวล่ะก็ ให้คุณรีบเปลี่ยนตัวเองเลยนะคะ เพราะอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังเครียดจากงานนั่นเองค่ะ ลองฝึกคิดบวก ยิ้มให้กับตัวเองในกระจกก่อนออกจากบ้าน ให้กำลังใจตัวเอง เพียงเท่านี้ก็สามารถเปลี่ยนตัวเองได้ง่าย ๆ แล้วค่ะ

ขอบคุณแหล่งที่มา : https://th.jobsdb.com