คํามอกหลวง สมุนไพร รักษาโรคเบาหวาน แก้บิดและถ่ายเป็นมูกเลือด

WM

ภาพจาก medthai

สรรพคุณของสมุนไพร คํามอกหลวง รักษาโรคเบาหวาน แก้บิดและถ่ายเป็นมูกเลือด

คำมอกหลวง หรือ ต้นคำมองช้าง สมุนไพรชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยที่ดอยสุเทพ[5] สามารถพบได้ตั้งแต่พม่า ไทย และลาว ในประเทศไทยจะพบได้มากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[6] โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ผลัดใบในช่วงสั้น ๆ ก่อนออกดอก

ลำต้นมีความสูงของต้นประมาณ 7-15 เมตร ลักษณะของต้นเป็นทรงพุ่มกลมและโปร่ง เรือนยอดโปร่ง ลำต้นมักคดงอ แตกกิ่งน้อย (บ้างว่าแตกกิ่งก้านแผ่กว้าง) กิ่งอ่อนมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมและมีขน เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีครีมอ่อนหรือสีเทาถึงสีเทาเข้ม แตกเป็นสะเก็ด หลุดออกมาเป็นแผ่นบาง ๆ และมียางเหนียวสีเหลืองข้นเป็นก้อนที่ปลายยอด

ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ในดินทั่วไป ชอบความชื้นปานกลางและแสงแดดแบบเต็มวัน สามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณ ป่าผสมผลัดใบ และป่าเต็งรัง ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 200-400 เมตร[1],[2],[3],[4],[5],[6],[9]

คำมอกหลวง ชื่อวิทยาศาสตร์ Gardenia sootepensis Hutch. จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)[1],[2]

คำมอกหลวง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แสลงหอมไก๋ หอมไก๋ (ลำปาง), ไข่เน่า (นครพนม), ผ่าด้าม ยางมอกใหญ่ (นครราชสีมา), คำมอกช้าง (ภาคเหนือ), ไม้มะไขมอก (คนเมือง), ซือเก่าพรึ (ม้ง), เบล่เด่อปุดย (ปะหล่อง) เป็นต้น[1],[2],[7]

ใบคำมอกหลวง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก โดยออกเป็นกระจุกที่ปลายยอด ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปขอบขนานแกมไข่กลับ หรือเป็นรูปไข่กลีบ ปลายใบแหลมหรือมนมีหางสั้น ๆ โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-15 เซนติเมตรและยาวประมาณ 9-28 เซนติเมตร

โดยใบอ่อนจะเป็นสีชมพูอ่อนถึงสีแดง มีขนสีเงิน ส่วนใบแก่หลังใบเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน ท้องใบมีขนละเอียด แผ่นใบหนาแข็งและกรอบ มีเส้นใบข้างประมาณ 16-20 คู่ มีลักษณะตรงและขนานกันและโค้งมาจรดกันที่ขอบใบ มองเห็นเส้นแขนงใบได้ชัดเจน ก้านใบยาวประมาณ 1 เซนติเมตร มีหูใบเป็นปลอกรอบกิ่ง โดยหูใบจะอยู่ระหว่างก้านใบ หลุดร่วงได้ง่าย และจะทิ้งรอยแผลกลมเป็นตุ่มตารูปกรวยกว้างไว้ และที่ยอดอ่อนจะมีน้ำยางคล้ายขี้ผึ้งสีเหลืองหุ้มไว้อยู่ สามารถมองเห็นได้ชัดเจน[1],[2],[3]

ดอกคำมอกหลวง ออกดอกเดี่ยว โดยจะออกดอกที่ปลายยอดหรือตามซอกใบ ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-7 เซนติเมตร ดอกเป็นสีเหลืองเข้ม มีกลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด หลอดกลีบดอกมีความยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร

WM
ภาพจาก medthai

มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกแคบ ปลายแยกเป็น 5 พูและแผ่ออก ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร บิดเป็นเกลียว ในดอกตูมก้านดอกจะมีความยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร กลีบดอกจะเป็นสีขาวนวลเมื่อแรกบาน แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสดภายหลัง ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 ก้าน ไม่มีก้านชู เรียงสลับกับกลีบดอกบนปากหลอด และโผล่พ้นปากหลอดกลีบดอกออกมาเพียงเล็กน้อย

ส่วนเกสรเพศเมียมี 1 ก้าน ที่ปลายของเกสรจะมีลักษณะคล้ายกระบอง ก้านเกสรเพศเมียจะยาวโผล่พ้นปากหลอดของกลีบดอก ส่วนอับเรณูมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน รังไข่จะอยู่ใต้วงกลีบมี 1 ช่อง และมีออวุลจำนวนมาก

ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ติดกันเป็นหลอดขนาดยาวประมาณ 1.2-2 เซนติเมตรและปลายแยกเป็น 2 แฉก ปลายเป็นพูเล็ก ๆ ด้านหนึ่งแยกลึก ส่วนด้านนอกมีขนละเอียดเหนียว ๆ โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม[1],[2],[3]

ผลคำมอกหลวง ผลเป็นผลสดมีเนื้อ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงรี รูปไข่ รูปกระสวยแกมรูปไข่กลับ หรือเป็นรูปขอบขนาน ผลมีติ่งที่ปลายและสันตื้น ๆ ประมาณ 5-6 สัน ผลเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีดำ ที่ผิวมีปุ่มหูดกับช่องอากาศ ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1.8-2.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2.2-4 เซนติเมตร ภายในผลมีเนื้อและเมล็ดจำนวนมาก โดยจะออกผลในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนสิงหาคม[1],[2],[3]

สรรพคุณของคำมอกหลวง

  1. แก่นนำไปใช้ปรุงเป็นยารักษาโรคเบาหวาน (แก่น)[8]
  2. เนื้อไม้ใช้เข้ายากับโมกเตี้ยและสามพันเตี้ย ใช้ต้มกับน้ำเป็นยาดื่มแก้บิดและถ่ายเป็นมูกเลือด (เนื้อไม้)[3]
  3. แก่นคำมอกหลวงใช้ผสมกับแก่นมะพอก นำมาต้มรวมกันให้หญิงอยู่ไฟใช้อาบและสระผม (แก่น)[3]
  4. เมล็ดคำมอกหลวงนำมาต้มเคี่ยวกับน้ำใช้ผสมเป็นยาฆ่าเหา (เมล็ด)[1],[2],[3],[4]

ประโยชน์ของคำมอกหลวง

  • ต้นคำมอกหลวงเป็นไม้ทนแล้ง เหมาะที่จะปลูกเพื่อให้ร่มเงาได้ อีกทั้งยังใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ดี เพราะดอกมีสีสันสวยงามและมีกลิ่นหอมมาก โดยจะออกดอกพร้อมกันทั้งต้น และดอกจะบานประมาณ 2-3 วัน ดอกสามารถส่งกลิ่นหอมได้ยาวนาน แม้ดอกร่วงแล้วแต่ก็ยังส่งกลิ่นหอม[4],[5],[6]
  • ดอกใช้สำหรับถวายพระ (คนเมือง)[7]
  • สมัยก่อนจะนิยมใช้ผลนำไปสระผม[8]
  • เนื้อในเมล็ดแก่ใช้รับประทานได้ (ชาวม้ง)[7]
  • ยางเหนียวจากยอดสามารถนำมาขยี้จนเป็นก้อน ๆ แล้วนำไปใส่ในร่องระหว่างโคนมีดกับด้าม จะช่วยทำให้มีดแน่นติดกับด้ามมีดมากขึ้น[7]
  • เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้างและงานแกะสลักได้[9]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “คำมอกหลวง (Khammok Luang)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 80.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “คํามอกหลวง”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้า 101.
  3. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “คำมอกหลวง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.
  4. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “คํามอกหลวง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th.
  5. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “คำมอกหลวง”.  (นพพล เกตุประสาท).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th.
  6. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “คํามอกหลวง”.  อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้ภูสวนทราย หน้า 101, หนังสือไม้ต้นในสวน Tree in the Garden.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.
  7. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน).  “คำมอกหลวง”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.
  8. ฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในโรงเรียน, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.  “คํามอกหลวง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: copper.msu.ac.th/plant/.
  9. สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร.  “คำมอกหลวง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: minpininteraction.com.