ข้าวฟ่างสมุทรโคดม สมุนไพรบำรุงและให้พลังงานรักษาอาการไอ หอบ

WM

ภาพจาก medthai

สรรพคุณของสมุนไพรข้าวฟ่างสมุทรโคดม(ข้าวฟ่าง) เป็นยาบำรุงและให้พลังงานรักษาอาการไอ หอบ

ข้าวฟ่างสมุทรโคดม จัดเป็นสมุนไพรพรรณไม้จำพวกหญ้า ลำต้นมีลักษณะกลม สูงได้ประมาณ 3-4 เมตร ตามบริเวณข้อจะมีขนสั้นสีน้ำตาล ซึ่งมองเห็นได้ชัด ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด[1] มีชื่อสามัญ Negro Guinea Grass, Millet Grass, Sorghum [1] และมีชื่อวิทยาศาสตร์ Sorghum bicolor (L.) Moench (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Sorghum vulgare Pers.)[1] จัดอยู่ในวงศ์หญ้า (POACEAE หรือ GRAMINEAE)[1]

สมุนไพรข้าวฟ่างสมุทรโคดม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เข้าฟ่างสมุทรโคดม (ชุมพร), ข้าวป้างนก ข้าวป้างหางช้าง (ภาคเหนือ), ข้าวป้างงก (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), ข้าวฟ่าง จังหันมะพุด สมุทรโคดม (ภาคกลาง), เข้าป้างหางช้าง มกโคดม มุทโคดม (ภาคใต้), จังหันมะพูด (ไทย), ดั่วป้าง (ม้ง), เพล่เส่อแบ เป่เส่อแบล (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), เกาเลี้ยง ฮวงซู่ (จีน) เป็นต้น[1],[2]

ใบข้าวฟ่างสมุทรโคดม ใบออกสลับกัน ลักษณะของใบจะแคบเป็นเส้นยาวประมาณ 50 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 4 เซนติเมตร ปลายใบแหลมคม บริเวณท้องใบไม่มีขน แต่จะมีผงสีขาวนวล เส้นกลางใบจะแข็ง ส่วนขอบใบและหลังใบจะมีขนสั้น ๆ[1]

ดอกข้าวฟ่างสมุทรโคดม ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายยอด มีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร[1]

ผลข้าวฟ่างสมุทรโคดม ผลมีลักษณะกลมเท่ากับเมล็ดพริกไทย โผล่พ้นออกมาจากเปลือก ผลแก่จะมีเนื้อแข็ง ผิวภายนอกผลเป็นมัน ส่วนเมล็ดจะเป็นสีน้ำตาลออกเทา และมีแป้งมาก[1]

WM
ภาพจาก medthai

สรรพคุณของข้าวฟ่างสมุทรโคดม

  1. ใช้เมล็ดแห้งประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน จะมีรสชุ่ม มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงและให้พลังงาน (เมล็ด)[1]
  2. ใช้เป็นยารักษาโรคประสาท ควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ ด้วยการใช้รากข้าวฟ่างสมุทรโคดมแห้งประมาณ 30 กรัม ผสมกับเหง้าว่านน้ำเล็ก (Acorus gramineus soland.) 15 กรัม, หญ้าปล้องจีน (Juncus effuses L.) 15 กรัม, ใบไผ่ขมจีน (Pleioblastus amarus (Keng) Keng f.) 5 ใบ (จะใช้รากข้าวฟ่างสมุทรโคดมเพียงอย่างเดียวก็ได้) แล้วนำมาผสมกันต้มกับน้ำกิน (รากแห้ง)[1]
  3. ใช้เป็นยารักษาอาการไอ หอบ ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 15 กรัม นำมาตุ๋นกับน้ำตาลแล้วใช้กรวดกิน (รากแห้ง)[1]
  4. รากสดใช้ต้มกับน้ำกินตอนอุ่น ๆ เป็นยาแก้เจ็บกระเพาะอาหาร หรือเจ็บปวดบริเวณหน้าอก (รากสด)[1]
  5. ใช้เป็นยารักษาโรคอหิวาตกโรค บิด ช่วยฝาดสมานลำไส้และกระเพาะอาหาร ด้วยการใช้เมล็ดแห้งประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (เมล็ด)[1]
  6. ใช้รากแห้งประมาณ 15-30 กรัม ถ้าสดใช้ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำ จะมีรสชุ่ม มีสรรพคุณช่วยรักษาอาการปวดกระเพาะอาหาร และช่วยห้ามโลหิต (ราก)[1]
  7. ใช้รักษาระบบการย่อยอาหารไม่ดี ด้วยการใช้เมล็ดแห้งที่คัดเอาสิ่งเจือปนอื่น ๆ ทิ้งออกแล้ว นำมาคั่วจนเหลืองและมีกลิ่นหอม วางผึ่งให้เย็น ก่อนนำมากินควรบดประมาณครั้งละ 1.5-3 กรัม วันละ 3-4 ครั้ง ส่วนเด็กที่ระบบการย่อยอาหารไม่ดี ให้ใช้เมล็ดข้าวฟ่างสมุทรโคดมที่แห้งแล้วประมาณ 30 กรัม นำมาคั่วให้เหลืองและมีกลิ่นหอม และลูกพุทราคั่วจนเกรียมรวมกันบดเป็นผง ใช้กินวันละ 2 ครั้ง (เมล็ด)[1]
  8. ใช้เป็นยาช่วยขับปัสสาวะ ด้วยการใช้เมล็ดแห้งประมาณ 30-60 กรัม หรือรากแห้งประมาณ 15-30 กรัม (ถ้ารากสดใช้ประมาณ 30-60 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกิน (ราก, เมล็ด)[1]
  9. สตรีคลอดบุตรยาก (ช่วยในการเร่งคลอดทารก) ให้ใช้รากข้าวฟ่างสมุทรโคดมที่แห้งในที่ร่ม นำมาเผาให้เป็นเถ้าและบดให้เป็นผง ใช้ผสมกับเหล้ารับประทานครั้งละ 6 กรัม (รากแห้ง)[1]
  10. หากสตรีตกโลหิตหลังการคลอดบุตร ให้ใช้รากสดประมาณ 7 ต้น (ประมาณ 30-60 กรัม) ผสมกับน้ำตาลทรายแดงประมาณ 15 กรัม แล้วต้มกับน้ำกิน จะช่วยบรรเทาอาการตกเลือดลงได้ (รากสด)[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของข้าวฟ่างสมุทรโคดม

ต้นอ่อน (ต้นสดและยอดอ่อน) จะมี cyanogenetic glycosides สัตว์ที่กินพืชชนิดนี้แบบสด ๆ อาจเป็นอันตรายถึงตายได้ มี cyanogenetic glycosides มากในต้นอ่อน ข้าวฟ่างที่ปลอดภัยและสามารถนำมาเป็นอาหารสัตว์ได้จะเป็นข้าวฟ่างที่มีอายุประมาณ 80 วัน สัตว์ที่กินต้นสดจะมีอาการน้ำลายเป็นฟอง เดินโซเซ หัวตก หายใจถี่ สำรอกอาหาร และถึงตายได้ในที่สุด

ถ้าสัตว์เริ่มมีอาการเป็นพิษ ให้ฉีดโซเดียมไนไตรท์และโซเดียมไทโอซัลเฟตเข้าหลอดเลือดดำก่อนที่จะเกิดอาการหนัก และเมื่อเมล็ดเริ่มงอก จะมีอัลคาลอยด์ hordwnine (B-P-hydroxy-phenethyl dimethyl amylamine, C10H15ON) 0.07% ซึ่งมีผลต่อการหายใจ ในปริมาณมาก ๆ อาจทำให้เกิดอันตรายถึงตายได้ และในต้นอ่อนและยอดอ่อนยังมีสาร cadaverine, putrescine, P-hydroxyphenylformaldehyde, cyanogenetic glycosides และอื่น ๆ อีก[1]

ผลข้าวฟ่างสมุทรโคดม จะมีเปลือกอยู่ประมาณ 7.3-9.3%, ไขมัน 7.8-12.1%, แป้ง 80.8-84.6% และสารจะมีสีที่เปลือกนอก โดยเปลือกผลจะมีสีแดงและสีน้ำตาลจำพวก phenolic pigments tannic acid 0.2-2.0% และ anthocyanogen จะมีรสขมเป็นพวก eriodictyol และ pelargonidin ส่วนเปลือกชั้นกลางจะมี apigenin-6-glucoside[1]

เมล็ดมีความชื้นประมาณ 10.4-13.0%

น้ำตาล 1.2% (ส่วนมากจะเป็น sucrose 0.85%, fructose 0.09%, glucose 0.09%, raffinose, maltose 0.11%, stachyose เล็กน้อย)

โปรตีน 9.73-10.29%, คาร์โบไฮเดรต 72.6% (ส่วนมากเป็นแป้ง pentosan และ cellulose)

ไขมัน 2.80-3.18%, เถ้า 1.57-1.87%

แคลเซียม 51.4-127.3 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

ฟอสฟอรัส 148.6-204.0 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

ธาตุเหล็ก 1.1-1.6 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

โปรตีน 10.4% มี albumin 1.3-7.7%, globulin 1.5-9.3% แต่ขาดกรดอะมิโนอย่าง lysine

ส่วนเมล็ดอ่อนมี aspartic acid, lysine, glycine มากกว่าเมล็ดแก่ แต่จะมีปริมาณของ glutamic acid, proline, leucine น้อยกว่าเมล็ดแก่

เมล็ดจะมีไขมันประมาณ 2.8-3.2%, เป็นน้ำมัน 2.5%, wax 0.5% ส่วนที่เหลือนั้นจะเป็น bound lipids 0.140.28% ประกอบไปด้วย lysolecithin, lecithin, unsaponified matters 1.7-3.2% และในน้ำมันจะประกอบไปด้วย linoleic acid 40-55%, palmitic acid 6-10%, stearic acid 30.3-47%, linolenic acid 0-1% unsaponified matters

นอกจากนี้ในเมล็ดยังมีวิตามินเอ 79 หน่วยสากล, Biotin 0.009-0.04 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์, nicotinic acid 2.8 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์, thiamine 0.37 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์, pantothenic acid 0.46-1.48 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์, riboflavin 0.28 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์, pyridoxine 0.21-0.86 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์, choline chloride 12.5 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และมีสารที่มีฤทธิ์คล้าย gibberillin 12.5 ไมโครกรัม ต่อ 100 กรัม เมล็ดสีขาวจะมี carotenoids ประมาณ 1.5 ppm. และ P-coumaric acid น้ำเมล็ดมี lactic acid และ phytic acid[1]

ประโยชน์ของข้าวฟ่างสมุทรโคดม

  1. เมล็ดใช้เป็นอาหารสำหรับสัตว์[1]
  2. เมล็ดอาจนำมาหมักกับเหล้า จะได้เหล้าที่มีกลิ่นหอม หรืออาจนำมาใช้หุงเป็นอาหาร หรือทำเป็นขนมก็ได้ ด้วยการนำเมล็ดตากแห้งนำไปทอดให้พองแล้วใช้ทำเป็นขนม[1],[2]
  3. เมล็ดที่นำมาคั่วให้พองแล้วสามารถนำมารับประทานได้ (คั่วกินเหมือนข้าวตอก) หรืออาจนำเมล็ดที่คั่วจนพองนี้ไปย้อมสีต่าง ๆ และทำเป็นดอกไม้เทียม[1],[2]

ข้อห้ามในการใช้ข้าวฟ่างสมุทรโคดม

  1. สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[1]
  2. เมล็ดที่มีเชื้อราจำพวก Rhizopus nigricans จะมีสารที่เป็นพิษ คือสาร alfatoxin เมื่อกินเข้าไปแล้วจะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ร่างกายเสียน้ำมาก กระหายน้ำ ปัสสาวะมาก และเป็นตะคริว[1]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ข้าวฟ่างสมุทรโคดม”.  หน้า 120-124.
  2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “สมุทรโคดม, ข้าวฟ่าง”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.