ขี้เหล็กเลือด สมุนไพรแก้กระษัย ขับปัสสาวะและบำรุงโลหิต

WM

ภาพจาก medthai

สรรพคุณและประโยชน์ของสมุนไพร ขี้เหล็กเลือด เป็นยา แก้กระษัย ขับปัสสาวะ

ขี้เหล็กเลือด จัดเป็นสมุนไพรพรรณไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีลักษณะคล้ายขี้เหล็กบ้าน ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 8-15 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลเข้ม ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลหรือสีเหลืองถึงสีเหลืองทองขึ้นปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เจริญเติบโตได้ในดินทั่วไป มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่ศรีลังกา พม่า กัมพูชา ลาว เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ส่วนในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าราบ ป่าผลัดใบ ชายป่าที่แห้งแล้ง สองข้างถนน หรือบางครั้งพบขึ้นตามเขาหินปูน[1],[2],[3],[5]

ขี้เหล็กเลือด ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna timoriensis (DC.) H.S.Irwin & Barneby (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cassia timoriensis DC.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)[1],[3],[5]

สมุนไพรขี้เหล็กเลือด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขี้เหล็กคันชั่ง ขี้เหล็กตาซี ขี้เหล็กแดง ขี้เหล็กยายชี ขี้เหล็กปันช่าง บี้ตะขะ ช้าขี้เหล็ก ขี้เหล็กแมลงสาบ (เชียงใหม่), มะเกลือเลือด (ราชบุรี), กะแลงแง็น (นราธิวาส), ขี้เหล็กคันชั่ง ขี้เหล็กแดง (ภาคเหนือ), ขี้เหล็กดง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ขี้เหล็กป่า (ภาคตะวันออกเฉียงใต้), กะแลงแงน ขี้เหล็กนางชี ขี้เหล็กเลือด ช้าขี้เหล็ก (ภาคใต้), ปี้ตะขะ (ละว้า-เชียงใหม่), แมะขี้เหละที แมะแคะแหล่ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮองสอน), จี้ลีหลอย (เงี้ยว-แม่ฮองสอน) เป็นต้น[1],[3]

ใบขี้เหล็กเลือด ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกตรงข้ามกัน มีใบย่อยประมาณ 10-20 คู่ แกนกลางยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่ม ก้านใบประกอบยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลมสั้น ๆ หรือเป็นติ่ง

โคนใบมนหรือกลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-6 เซนติเมตร แผ่นใบเกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่มทั้งสองด้านของแผ่นใบ ก้านใบย่อยสั้น ท้องใบเป็นสีแดง มีหูใบเป็นรูปติ่งหู ขนาดประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร[1],[2],[3]

WM
ภาพจาก medthai

ดอกขี้เหล็กเลือด ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงแบบหลวม ๆ โดยจะออกตามซอกใบ ยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร เกลี้ยงหรือมีขน ใบประดับเป็นรูปไข่ ปลายแหลม ยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร หลุดร่วงได้ง่าย ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่ม

ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ปลายกลม ยาวไม่เท่ากัน โดยจะยาวประมาณ 0.7-1.5 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่มด้านนอก สำหรับกลีบดอกนั้นจะเป็นสีเหลืองสด กลีบดอกมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปวงรีหรือรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร

โคนกลีบดอกแหลม มีก้านกลีบสั้น ๆ ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน 2 อันมีขนาดใหญ่กว่า ก้านเกสรยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร อับเรณูยาวประมาณ 8-10 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้อีก 5 อัน มีอับเรณูขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย อับเรณูมีช่องเปิดที่ปลาย เกสรเพศผู้ที่ลดรูปจะมี 3 อัน ขนาดยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร รังไข่และก้านเกสรเพศเมียเกลี้ยง ยอดเกสรมีขนาดเล็ก โดยจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม[1],[3],[5]

ผลขี้เหล็กเลือด ผลมีลักษณะเป็นฝักขนาดเล็ก ฝักเป็นรูปแถบ แบน และเกลี้ยง ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-16 เซนติเมตร เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลเข้ม กระเปาะแตกได้ ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลหลายเมล็ด หรือประมาณ 10-30 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปรีแบนและเป็นมันวาว เมล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร โดยจะติดผลในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม[1],[3],[5]

สรรพคุณของขี้เหล็กเลือด

  1. แก่นมีรสขม ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงโลหิต (แก่น)[1],[2],[5]
  2. ใช้เป็นยาแก้กระษัย (แก่น)[1],[2],[5]
  3. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (แก่น)[1],[2],[5]
  4. แก่นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคสตรีที่มีโลหิตระดูเสีย เป็นยาล้างขับโลหิต (แก่น)[1],[2],[5]
  5. ใช้เป็นยาแก้ไตพิการ (แก่น)[1],[2],[5]
  6. เปลือกต้นมีรสขม ใช้เป็นยาแก้โรคหิด (เปลือกต้น)[1]
  7. ใช้เป็นยารักษาอาการปวดเอว แก้ปวดเมื่อย แก้เส้นปัตคาดบริเวณท้องน้อยและหน้าขาตึง (แก่น)[1],[2],[5]

ประโยชน์ของขี้เหล็กเลือด

  1. ใบอ่อนและดอกตูม ใช้รับประทานเป็นอาหารได้[2]
  2. ใช้ปลูกเป็นไม้เบิกนำ เจริญเติบโตได้ในดินทั่วไป ทนความแล้งได้ดี[3]
  3. ชาวขมุจะใช้เนื้อไม้หรือกิ่งนำมาใช้ในการก่อสร้าง ส่วนลำต้นนำไปใช้ทำฟืน[4]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “ขี้เหล็กเลือด (Kii Lek Lueat)”.  หน้า 66.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ขี้เหล็กเลือด”.  หน้า 145-146.
  3. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ขี้เหล็กเลือด”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.
  4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ขี้เหล็กเลือด”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.
  5. ฐานข้อมูลชนิดพรรณพืช พื้นที่เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี.  “ขี้เหล็กเลือด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.en.mahidol.ac.th/conservation/.