เขียวหมื่นปี สมุนไพร แก้ไทฟอยด์ ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้

WM

ภาพจาก medthai

สรรพคุณของสมุนไพรว่านเขียวหมื่นปี(ว่านขันหมาก) เป็นยาดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ไทฟอยด์

เขียวหมื่นปี จัดเป็นสมุนไพรพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็กจำพวกว่าน เป็นต้นไม้ในกลุ่มอโกลนีมา อาจมีความสูงของต้นได้ถึง 1-2 เมตร มียางสีขาว ลำต้นตั้งตรงเป็นไม้เนื้ออ่อน มีข้อถี่ ไม่แยกต้น มีหัวอยู่ใต้ดิน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ[1],[2] มีถิ่นกำเนิดในประเทศเขตร้อนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน และแอฟริกา[3]

เขียวหมื่นปี ชื่อสามัญ Chinese Evergreen[2], Aglaonema (อโกลนีมา)[5]

เขียวหมื่นปี ชื่อวิทยาศาสตร์ Aglaonema modestum Schott ex Engl. จัดอยู่ในวงศ์บอน (ARACEAE)[1]

สมุนไพรเขียวหมื่นปี มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ว่านเขียวหมื่นปี, ว่านขันหมาก[2], มะเขือพ่อค้า บ้วนนีแช[3], แก้วกาญจนา (เป็นชื่อพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และเป็นราชาแห่งไม้ประดับ)[5], ว่านเหนียนชิง (จีนกลาง)[2] เป็นต้น

ใบเขียวหมื่นปี ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปหอกยาวหรือรูปใบพาย ปลายใบแหลม โคนใบค่อย ๆ สอบติดก้านใบแผ่นใบเป็นสีเขียวมีลายสลับกับสีเขียวแกมเทา เส้นใบจมพื้นใบนูนเป็นลอน ขอบใบบิด ลายเส้นใบคล้ายขนนก

ลักษณะด้านบนเป็นร่องเล็กน้อย ด้านนอกกลมนูน บริเวณโคนแผ่ออกเป็นกาบสีเขียวออกแดงเรื่อ ๆ โอบหุ้มกับลำต้น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 6-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร ก้านใบยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร[1],[5] ในช่วงแรก ๆ ใบจะเป็นสีเขียว แล้วจะค่อย ๆ พัฒนาการมาเป็นสีสันที่แปลกตาและดูสวยงามมากขึ้นเรื่อย ๆ[5]

ดอกเขียวหมื่นปี ดอกมีลักษณะคล้ายกับดอกไม้ในวงศ์บอนทั่วไป โดยจะออกดอกเป็นดอกเดี่ยวบริเวณง่ามใบ มีกาบหุ้มช่อดอกหรือกาบหุ้มปลีคล้ายดอกหน้าวัว ลักษณะเป็นรูปไข่หรือค่อนข้างกลม มีสีเหลืองนวล ช่อดอกมีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอก ประกอบไปด้วยเกสรเพศผู้ที่อยู่ส่วนบนและเกสรเพศเมียที่อยู่ส่วนล่าง เมื่อต้นมีอายุประมาณ 18-20 เดือน จะเริ่มออกดอก โดยจะสังเกตได้จากยอดที่เกิดใหม่ จะมีใบขนาดเล็กกว่าปกติ หรือที่เรียกว่า “ใบธง” ซึ่งดอกจะเกิดพร้อมกับใบธงนี้[1],[5]

ผลเขียวหมื่นปี ผลมีลักษณะและขนาดเท่ากับลูกหว้าขนาดใหญ่ เมื่อแก่จัดเป็นสีเหลืองแก่[5]

WM
ภาพจาก medthai

หมายเหตุ :

ในวงศ์ต้นว่านกลุ่ม Aglaonema นี้ นอกจากเขียวหมื่นปีแล้ว ยังมีว่านสาวน้อยประแป้ง เขียวหมื่นปีลายแตง เขียวหมื่นปีเงินมาก ล้วนนำมาใช้เป็นยาได้ทุกชนิด แต่ต้องระวังการใช้ เพราะพืชเหล่านี้มีพิษเล็กน้อย และในยาสมุนไพรไทยยังไม่พบคนนำไปใช้เป็นยา[1]

สรรพคุณของเขียวหมื่นปี

  1. รากและใบมีรสจืด ขมเล็กน้อย เป็นยาเย็น มีพิษเล็กน้อย ใช้เป็นยาดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ไทฟอยด์ (ราก, ใบ)[1]
  2. ใช้เป็นยาแก้อาการไอเป็นเลือด แก้อาการไอเนื่องจากปอดมีความร้อน แก้ไอหืดหอบ (ราก, ใบ)[1]
  3. ใช้เป็นยาแก้คอเจ็บ คอบวมอักเสบ ด้วยการใช้รากเขียวหมื่นปีนำมาล้างให้สะอาด ตำให้แหลกคั้นเอาน้ำ ผสมกับน้ำเย็น ใส่เกลือเล็กน้อย นำมาใช้เป็นยาอมกลั้วคอ (ราก)[1]
  4. ใช้เป็นยาแก้คอตีบ ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 8-20 กรัม ตำให้แหลก นำมาต้มกับน้ำรับประทานหรือนำมาคั้นเอาน้ำแล้วผสมกับน้ำส้มสายชูเล็กน้อย ใส่น้ำเย็น แล้วนำมาอมกลั้วคอ (ใบ)[1]
  5. ใช้เป็นยาแก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ (ราก, ใบ)[1]
  6. ใบนำมาตำให้แหลกผสมกับเหล้าขาว ใช้พอกแผลสด ปิดบาดแผลที่ถูกของมีคม แล้วเอาผ้าพันไว้ให้แน่น เมื่อหายเจ็บแล้วค่อยนำผ้าพันแผลออก จะเห็นว่ารอยแผลเชื่อมสนิทหรือเป็นรอยเล็กน้อย แต่ไม่อักเสบ หรือเจ็บปวด และเมื่อแผลแห้งและตกสะเก็ดจะไม่เป็นแผลเป็น (ใบ)[2]
  7. ใช้เป็นยาแก้ฝีบวมช้ำ แมลงกัดต่อย สุนัขหรืองูกัด ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำให้แหลก คั้นเอาน้ำผสมกับน้ำตาลเล็กน้อย รับประทานแต่น้ำ ส่วนกากที่เหลือให้นำมาพอกบริเวณบาดแผล (ใบ)[1] บ้างใช้ลำต้นนำมาบดให้เป็นแป้งเหนียว ใช้เป็นยาทาบริเวณที่ถูกสุนัขกัดเพื่อรักษาบาดแผล (ต้น)[4]
  8. ใบใช้ภายนอกเป็นยาแก้ฝี หนอง ฝีหนองบนผิวหนัง (ใบ)[1]
  9. ใบนำมาบดใช้เป็นยาแก้ลดบวม พอกแก้อาการเคล็ดบวม รักษาข้อเคล็ดอักเสบ บวม (ใบ)[1],[3]
  10. น้ำคั้นจากต้นจะมีฤทธิ์ระคายผิวหนัง ในรายที่เป็นโรคข้ออักเสบ จะช่วยทำให้เลือดมาเลี้ยงดีขึ้น (ต้น)[3]

ขนาดและวิธีใช้

  • การใช้ตาม [1] ใบแห้งให้ใช้ 6-15 กรัม ส่วนใบสดให้ใช้ 15-30 กรัม (โดยส่วนมากจะใช้ยาจากต้นสดมากกว่า) ส่วนการนำมาใช้ภายนอกให้นำมาตำพอกบริเวณที่เป็น[1]

ข้อควรระวัง

  • การนำมาใช้เป็นยาภายในต้องระวังให้มาก อย่าใช้นานเกินควร เนื่องจากยานี้จะทำให้เลือดเย็น[1]

ประโยชน์ของเขียวหมื่นปี

  • ว่านเขียวหมื่นปี เป็นไม้ประดับที่มีความสวยงามและเป็นสง่าแก่สถานที่ปลูก จึงนิยมนำมาปลูกไว้เพื่อประดับตกแต่งทั้งภายนอกและภายในอาคาร วัดในสมัยโบราณจะปลูกว่านชนิดนี้กันเกือบทุกวัด และถือว่าเป็นว่านที่มีมาแต่ช้านาน เป็นมรดกตกทอดจนถึงปัจจุบัน
    เนื่องจากเป็นว่านที่ปลูกเลี้ยงง่าย ปลูกได้ทั้งในดินปนทรายหรือดินร่วนซุย ไม่ชอบแสงแดดจัด ควรปลูกในที่ร่มหรือที่มีแสงแดดรำไร รดน้ำบ่อย ๆ หรือรดอาทิตย์ละครั้งก็ได้ สามารถเจริญงอกงามได้แม้ในที่มีแสงสว่างเพียงเล็กน้อย ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศแห้งแล้งหรือมีความชื้นต่ำได้ดี[2],[5]
  • เขียวหมื่นปีเป็นว่านคงกระพันชาตรี และเชื่อว่าจะทำให้ผู้ปลูกเลี้ยงมีอายุยืนนาน จึงเป็นว่านมงคลที่สามารถนำไปใช้เป็นของขวัญได้ทุก ๆ โอกาส มอบให้ได้ทั้งหญิงและชายทุกเพศทุกวัย เมื่อปลูกให้ว่าคาถา “นะโม พุทธายะ” ไปด้วย เอาดินกลบหัวหรือรากให้มิดถึงโคน ก่อนรดน้ำก็ให้เสกน้ำด้วยคาถาพระเจ้าห้าพระองค์[2],[3]
  • เขียวหมื่นปีจัดเป็นไม้ประดับที่มีความสามารถในการดูดสารพิษได้ในระดับปานกลาง เพราะมีใบกว้าง มีพื้นที่ผิวใบสำหรับดูดกลืนสารพิษได้มาก แต่มีอัตราการคายความชื้นสูงและมีประสิทธิภาพสูงในการดูดสารพิษจำพวกฟอร์มัลดีไฮด์ จึงเหมาะที่จะมาปลูกเพื่อดูดสารพิษ เสริมสร้างบรรยากาศบริเวณโดยรอบอาคารบ้านเรือนได้เป็นอย่างดี[6]
  • สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “เขียวหมื่นปี”.  หน้า 144.
  2. ๑๐๘ พรรณไม้ไทย.  “ว่านเขียวหมื่นปี”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.panmai.com.
  3. งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนวารินชำราบ สพม. เขต 29. “ว่านเขียวหมื่นปี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ict2.warin.ac.th/botany/.
  4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “เขียวหมื่นปี”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.
  5. ไม้ดอก ไม้ประดับ.  “ว่านเขียวหมื่นปี”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : maidokmaipradab.blogspot.com.
  6. คลังข้อมูล สพท. ปีที่ 4 ฉบับที่ 14, กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีการเผยแพร่ สำนักพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี.  “ไม้ประดับเพื่อชีวิต…ดูดสารพิษแทนเรา (2)”.