โกงกางใบเล็ก สมุนไพรไทยแก้คลื่นเหียนอาเจียน ท้องร่วงและแก้บิด

WM

ภาพจาก medthai

สมุนไพรไทย โกงกางใบเล็ก แก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน ท้องร่วง และแก้บิด

โกงกางใบเล็ก สมุนไพรกลุ่มไม้ที่ขึ้นในดินเลนค่อนข้างอ่อนและมีน้ำทะเลท่วมถึงแบบสม่ำเสมอ บริเวณชายฝั่ง ริมคลอง และริมแม่น้ำที่มีน้ำทะเลท่วมถึง และมักจะขึ้นอยู่ตามบริเวณด้านนอกของป่าชายเลน ซึ่งการกระจายพันธุ์ก็จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ เช่น ที่อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา จะพบขึ้นกระจายทั่วไปถัดจากกลุ่มไม้ลำแพน ส่วนป่าชายเลนในท้องที่อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด มักจะพบขึ้นอยู่ลึกเข้าไปจากขอบป่าหลังเขตแนวของไม้แสมและไม้ลำพู เป็นต้น

นอกจากนี้ยังสามารถพบต้นโกงกางใบเล็กได้ในบริเวณริมฝั่งของเขาหินปูน หิวควอร์ตไซต์ และเขาหินเชลอีกด้วย[1] โดยมีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศอินเดีย ศรีลังกา ทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย[3]

โกงกางใบเล็ก ชื่อวิทยาศาสตร์ Rhizophora apiculata Blume (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Rhizophora candelaria DC.) จัดอยู่ในวงศ์โกงกาง (RHIZOPHORACEAE) เช่นเดียวกับโกงกางใบใหญ่[1],[2]

สมุนไพรโกงกางใบเล็ก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า โกงกาง (ระนอง), พังกาทราย (กระบี่), พังกาใบเล็ก (พังงา), โกงกางใบเล็ก (ภาคกลาง) เป็นต้น[1],[2]

ต้นโกงกางใบเล็ก จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 20-30 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก เปลือกต้นเป็นสีเทาเกือบเรียบ เปลือกหนาประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร เมื่อทุบทิ้งไว้สักครู่ด้านในของเปลือกจะเป็นสีแสดอมแดงไปจนถึงสีเลือดหมู

ส่วนกระพี้เป็นสีเหลืองอ่อน แก่นเป็นสีน้ำตาลแดง เนื้อไม้มีลักษณะเป็นมันวาว เสี้ยนไม้ตรง มีรอยแตกตามแนวตั้งมากกว่าแนวนอน และนิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้ฝักโดยตรง ด้วยการเก็บฝักที่แก่และสมบูรณ์ หรือจะเก็บฝักที่ร่วงหล่นในน้ำ (ฝักสมบูรณ์จะลอยน้ำ)

เมื่อเก็บมาแล้วก็ควรนำไปปลูกทันที เพราะหากเก็บไว้นานความสามารถในการงอกจะลดลงไปตามระยะเวลาที่เก็บ (เปลือกไม้มีสารแทนนินปริมาณมาก ประมาณ 7-27% ของน้ำหนักเปลือกไม้)[1]

รากโกงกางใบเล็ก รากเป็นระบบรากแก้ว บริเวณโคนของลำต้นมีรากเสริมออกมาเหนือโคนต้นประมาณ 1-3 เมตร โดยรากที่โคนต้นหรือรากค้ำจุนลำต้นจะแตกแขนงไม่เป็นระเบียบ โดยมีหนึ่งหรือสองรากที่ทำมุมเกือบตั้งฉากกับลำต้นและหักเป็นมุมฉากลงดิน มีไว้เพื่อช่วยพยุงลำต้นให้ตั้งตรง[4]

ใบโกงกางใบเล็ก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ใบแต่ละคู่จะออกแบบสลับทิศทางกัน ใบหนาเป็นมัน ลักษณะเป็นรูปมนค่อนไปทางรูปใบหอก ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งเล็กสีดำมองเห็นได้ชัดเจน

ส่วนโคนใบสอบเข้าหากันคล้ายรูปลิ่ม ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7-18 เซนติเมตรหรือเล็กกว่า ก้านใบยาวประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ส่วนหูใบเป็นสีแดงเข้ม ยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร หุ้มใบอ่อนไว้ ใบเกลี้ยงทั้งหน้าและหลังใบและมีจุดสีน้ำตาล[1]

ดอกโกงกางใบเล็ก ออกดอกเป็นช่อแบบ Cymes ในช่อหนึ่งจะมี 2 ดอกย่อยอยู่ชิดติดกัน แตกออกมาจากซอกใบบริเวณปลายกิ่ง ที่ฐานของดอกย่อยจะมีใบประดับเป็นรูปถ้วยรองรับอยู่ เมื่อแห้งจะมีลักษณะแข็ง โดยกลีบเลี้ยงจะมี 4 กลีบ เป็นสีเขียวอมเหลือง แข็งอวบ ยาวประมาณ 10-14 เซนติเมตร

โดยโคนกลีบจะติดกัน ส่วนปลายกลีบแยกออกเป็นแฉก ๆ ลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายกลีบแกลมและยังคงติดอยู่จนเป็นผล ส่วนกลีบดอกมี 4 กลีบ ลักษณะเป็นรูปใบหอกเป็นแผ่นบาง ๆ สีขาว มีความยาวประมาณ 8-11 มิลลิเมตร ไม่มีขนและร่วงเร็ว

ดอกมีเกสรตัวผู้จำนวน 12 อัน ยาวประมาณ 0.6-0.75 เซนติเมตร โดยเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียจะอยู่ในดอกเดียวกัน ส่วนรังไข่เป็นแบบ Half-inferior มีอยู่ 2-3 ห้อง ซึ่งในแต่ละห้องจะมี 2 ออวุล โดยดอกโกงกางใบเล็กจะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม[1]

ผลโกงกางใบเล็ก ผลเป็นแบบ Drupebaceous ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมคล้ายไข่ เมื่อผลแก่จะไม่แตก เปลือกของผลมีลักษณะหยาบสีน้ำตาล มีส่วนของกลีบเลี้ยงติดอยู่ ภายในหนึ่งผลจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด โดยเมล็ดจะไม่มีการพักตัว และจะเจริญต่อไปในขณะที่ผลยังติดอยู่บนต้น

ซึ่งเมล็ดจะงอกส่วนของ Radicle แทงทะลุออกมาทางส่วนปลายของผล ตามด้วยส่วนของต้นอ่อน โดยจะเจริญยาวออกมาเรื่อย ๆ มีลักษณะปลายแหลมยาว เป็นสีเขียว หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่า “ฝักโกงกางใบเล็ก” โดยฝักจะยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร

ซึ่งผลจะแก่ในช่วงเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกรกฎาคม (มีรายงานว่าฝักของโกงกางจะแก่ไม่พร้อมกันทั่วประเทศ) และเมื่อผลแก่เอ็มบริโอจะหลุดออกจากเปลือกผลและปักลงดินเลนแล้วจะงอกทันที แต่ถ้าหล่นลงน้ำก็จะลอยไปตามน้ำและจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 2 เดือน เมื่อเกยตื้นและติดอยู่กับที่เมื่อไหร่ก็จะงอกทันที[1]

WM
ภาพจาก medthai

สรรพคุณของโกงกางใบเล็ก

  • ช่วยแก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน ด้วยการใช้เปลือกนำมาต้มกับน้ำดื่ม (เปลือก)[4]
  • น้ำจากเปลือกใช้กินแก้อาการท้องร่วง ช่วยแก้บิด (น้ำจากเปลือก)[2] บ้างก็ว่าใช้ใบอ่อนรับประทานแก้ท้องร่วง (ใบอ่อน)[3]
  • น้ำจากเปลือกใช้ชะล้างแผลและใช้ห้ามเลือดได้ (น้ำจากเปลือก)[2] หรือจะนำเปลือกมาตำให้ละเอียด ใช้พอกห้ามเลือดจากบาดแผลสด หรือจะใช้ใบอ่อนนำมาเคี้ยวหรือบดให้ละเอียดก็ใช้พอกแผลสดเพื่อห้ามเลือดได้เช่นกัน อีกทั้งยังช่วยป้องกันเชื้อโรคได้ด้วย (ใบ, เปลือก)[4]

ประโยชน์ของต้นโกงกางใบเล็ก

  • เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ทำฟืนและถ่านที่มีคุณภาพดีได้ เนื่องจากเป็นไม้ที่ให้ความร้อนสูงและนาน (ให้ค่าความร้อนประมาณ 6,600-7,200 แคลอรี/กรัม) อีกทั้งยังมีขี้เถ้าน้อยและไม่เกิดสะเก็ดไฟเวลานำมาใช้ จึงเป็นที่นิยมของผู้ใช้โดยทั่วไป[1]
  • เนื้อไม้โกงกางมีคุณสมบัติที่ดี มีลักษณะเปลาตรง มีความแข็งแรงและความเหนียว จึงสามารถนำมาแปรรูปเพื่อใช้ในงานก่อสร้างต่าง ๆ ทำกลอน หลังคาจาก รอด ตง อกไก่ของบ้าน หรือใช้สำหรับทำเสา ทำไม้เสาเข็ม หรือไม้สำหรับค้ำยัน ทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ หรือใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ก็ได้[1],[2]
  • ฝักนำมาใช้ทำไวน์[4]
  • เปลือกของต้นโกงกางใบเล็กและใบใหญ่เป็นแหล่งที่มีสารแทนนินและฟีนอลธรรมชาติที่มีราคาถูกที่สุด ซึ่งสารชนิดนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ทำสี ทำหมึก ยา ใช้ในการฟอกหนัง ใช้ทำกาวสำหรับติดไม้ ฯลฯ[1]
  • เปลือกต้นให้น้ำฝาดประเภท Catechol ซึ่งให้สีน้ำตาลที่สามารถนำไปใช้ย้อมสีผ้า แห อวน เชือก หนัง ฯลฯ[2],[4]
  • ป่าไม้โกงกางมีความสำคัญอย่างมากสำหรับสัตว์ทะเลจำพวก กุ้ง หอย ปู ปลา เพราะเป็นที่วางไข่และฟักตัวอ่อน เนื่องจากเป็นแหล่งที่มีสภาพสมดุลทางธรรมชาติสูงมาก
  • ป่าไม้โกงกางมีประโยชน์อย่างมากในการช่วยป้องกันรักษาชายฝั่งทะเลจากการกัดเซาะของกระแสน้ำ และยังใช้เป็นแนวกำบังคลื่นลมที่เคลื่อนเข้ามาปะทะชายฝั่งได้อีกด้วย

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. สวนพฤกษศาสตร์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “โกงกางใบเล็ก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th.
  2. ข้อมูลพรรณไม้ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “โกงกางใบเล็ก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/.
  3. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “โกงกางใบเล็ก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: biodiversity.forest.go.th.
  4. “โกงกางใบเล็ก”.  (วรรณี ทัฬหกิจ หัวหน้างานสิ่งแวดล้อม โรงเรียนท้ายหาด อ.เมืองฯ จ.สมุทรสงคราม).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.geocities.ws/Jukkrit_L.