กาแฟ สมุนไพรช่วยชูกำลัง ลดความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์

สรรพคุณของ สมุนไพร กาแฟ ช่วยชูกำลัง ลดความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์

กาแฟ เป็นเครื่องดื่มที่ทำมาจากเมล็ดซึ่งได้จากต้นกาแฟ หรือที่มักเรียกว่า เมล็ดกาแฟคั่ว ในปัจจุบันมีการปลูกกาแฟมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก กาแฟเขียว ซึ่งเป็นกาแฟที่ไม่ผ่านการคั่วก็เป็นอีกหนึ่งสินค้าทางการเกษตรที่มีการซื้อขายกันมากที่สุดในโลก และในปัจจุบันกาแฟได้กลายเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากที่สุดด้วย

สำหรับสายพันธุ์หลักของกาแฟที่ปลูกกันทั่วไปจะมีอยู่ด้วยกัน 2 สายพันธุ์ ได้แก่ กาแฟอาราบิก้า (Coffee arabica) และ กาแฟโรบัสต้า (Coffee canephora) โดยกาแฟอาราบิก้าจะเป็นกาแฟที่ได้รับความนิยมในการดื่มมากกว่ากาแฟโรบัสต้า เนื่องจากกาแฟโรบัสต้ามีรสชาติที่ขมกว่าและให้รสชาติได้น้อยกว่ากาแฟอาราบิก้า ด้วยเหตุผลนี้ กาแฟที่เพาะปลูกกันเป็นจำนวนมากกว่า 3 ใน 4 ของโลก จึงเป็นกาแฟอาราบิก้า

แต่อย่างไรก็ตามกาแฟโรบัสต้าก็ยังสามารถพิสูจน์ได้ว่า ก่อให้เกิดโรคได้น้อยกว่ากาแฟอาราบิก้า อีกทั้งยังสามารถปลูกได้ในสภาพแวดล้อมที่กาแฟอาราบิก้าไม่สามารถเจริญเติบโตได้ ดังนั้นในธุรกิจกาแฟจึงมักจะใช้กาแฟโรบัสต้ามาทดแทนกาแฟอาราบิก้า เพราะมีราคาถูกกว่า

นอกเหนือจากกาแฟทั้งสองสายพันธุ์หลักนี้แล้วก็ยังมีกาแฟพันธุ์ Coffea liberica และ Coffea esliaca อีกด้วย โดยที่เชื่อว่าเป็นพืชท้องถิ่นของประเทศไลบีเรียและทางตอนใต้ของประเทศซูดานตามลำดับ

  • กาแฟอาราบิก้า ชื่อสามัญ Arabian coffee, Coffee, Kofi, Koffie, Brazillian coffee
  • กาแฟอาราบิก้า ชื่อวิทยาศาสตร์ Coffea arabica L. จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)[1]

ต้นกาแฟอาราบิก้า เป็นพืชพื้นเมืองของทวีปแอฟริกา บริเวณประเทศเอธิโอเปีย แต่ชาวอาหรับเป็นชาติแรกที่นำกาแฟมาชงดื่ม จึงทำให้ชื่อภาษาละตินของกาแฟใช้คำว่า “อาราบิก้า” (arabica) ที่หมายถึงชาวอาหรับ โดยต้นกาแฟจัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ที่มีความสูงของต้นประมาณ 2-4 เมตร ในปัจจุบันเพาะปลูกกันมากในเขตร้อนชื้นและกึ่งเย็น[1]

ใบกาแฟอาราบิก้า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบแหลมเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-12 เซนติเมตร และยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบเป็นมัน บางครั้งเป็นคลื่น มีหูใบอยู่ระหว่างก้านใบ[1]

ดอกกาแฟอาราบิก้า ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ กลีบดอกเป็นสีขาว ติดกันเป็นหลอด ดอกมีกลิ่นหอม[1]

ผลกาแฟอาราบิก้า ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปไข่แกมรูปทรงกลม โดยผลอ่อนจะเป็นสีเขียว แต่เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดง[1]

จุดเด่นของกาแฟอาราบิก้า คือ มีกลิ่นหอมและสารกาแฟสูง ทำให้เมื่อดื่มแล้วรู้สึกได้ถึงความกระปรี้กระเปร่า มีชีวิตชีวา โดยกาแฟชนิดนี้จะมีปริมาณของกาเฟอีนต่ำ เป็นกาแฟที่มีคุณภาพสูง มีความหอมไม่เป็นรองใคร เพียงแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เนื่องจากขาดการส่งเสริมและการประชาสัมพันธ์ที่ดี ในประเทศไทยมีการปลูกกาแฟชนิดนี้กันมากทางภาคเหนือบนดอยสูง[3]

กาแฟโรบัสต้า ชื่อสามัญ Robusta coffee

กาแฟโรบัสต้า ชื่อวิทยาศาสตร์ Coffea canephora Pierre ex A.Froehner (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Coffea robusta L.Linden)

ต้นกาแฟโรบัสต้า ลำต้นเจริญเติบโตมาจากรากแก้ว มีลักษณะเป็นข้อและปล้อง โคนใบจะอยู่ตามข้อของลำต้น เมื่อต้นโตขึ้นใบจะร่วงหล่นไป โคนใบมีตา 2 ชนิด คือ ตาบนและตาล่าง ตาบนจะแตกกิ่งออกมาเป็นกิ่งแขนงที่ 1 ลักษณะเป็นกิ่งนอนขนานกับพื้นดินมีข้อและปล้อง แต่ละข้อจะมีกลุ่มตาดอกที่จะติดเป็นผลกาแฟต่อไป ส่วนตาล่างจะแตกออกเป็นกิ่งตั้ง กิ่งจะตั้งตรงขึ้นไปเหมือนลำต้น และไม่ติดผล

แต่สามารถสร้างกิ่งแขนงที่ให้ดอกผลได้ ซึ่งเรียกเป็นกิ่งแขนงที่ 1 เช่นกัน และกิ่งแขนงที่ 1 ยังสามารถแตกกิ่งแขนงต่อไปได้อีกเป็นกิ่งแขนงที่ 2 และกิ่งแขนงที่ 2 ก็สามารถแตกเป็นกิ่งแขนงที่ 3 ได้อีก โดยกิ่งแขนงเหล่านี้จะเกิดในลักษณะเป็นคู่สลับเยื้องกันบนลำต้นหรือกิ่งตั้ง เมื่อมีการตัดลำต้นกาแฟ ตาล่างบนลำต้นจะแตกกิ่งตั้งขึ้นมา กิ่งก็จะแตกเป็นกิ่งแขนงที่ 1, 2 และ 3 จากนั้นก็จะมีการสร้างดอกและผลกาแฟต่อไป โดยต้นกาแฟนั้นจะสามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด[2]

ใบกาแฟ ใบเป็นใบเดี่ยว เกิดที่ข้อเป็นคู่ตรงข้ามกัน โคนใบและปลายใบเรียวแหลม ส่วนขอบใบหยักเป็นคลื่น ตรงกลางใบกว้าง ผิวใบเรียบนุ่มเป็นมัน มีปากใบอยู่ด้านท้องใบ แต่ละใบจะมีปากใบประมาณ 3 ล้านถึง 6 ล้านรู โดยปากใบโรบัสต้าจะมีขนาดเล็กกว่าปากใบของกาแฟอาราบิก้า แต่จะมีจำนวนมากกว่า มีอายุใบประมาณ 250 วัน ส่วนก้านใบนั้นมีขนาดสั้น[2]

ดอกกาแฟ ปกติแล้วดอกกาแฟจะออกเป็นดอกเดี่ยวสมบูรณ์เพศ มีกลีบดอกประมาณ 4-9 กลีบ ส่วนกลีบเลี้ยงมี 4-5 ใบ มีเกสร 5 อัน และมีรังไข่ 2 ห้อง ในแต่ละห้องของรังไข่จะมีไข่ 1 ใบ ผลกาแฟจึงมีเมล็ด 2 เมล็ด ดอกจะออกเป็นกลุ่ม ๆ บริเวณโคนใบบนข้อของกิ่งแขนงที่ 1, 2 หรือ 3 กลุ่มดอกแต่ละข้อจะมีดอกประมาณ 2-20 ดอก ดอกจะออกจากกิ่งแขนงจากข้อที่อยู่ใกล้กับลำต้นออกไปหาปลายกิ่งแขนง โดยปกติแล้วต้นกาแฟจะออกดอกตามข้อของกิ่ง ข้อที่ออกดอกออกผลแล้วในปีต่อไปก็จะไม่ออกดอกและให้ผลอีก[2]

ผลกาแฟ ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงรี ก้านผลสั้น ผลดิบเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง สีส้ม และสีแดง ผลกาแฟจะประกอบด้วยเปลือก เนื้อที่มีสีเหลือง (เมื่อสุกมีรสหวาน) และกะลาที่ห่อหุ้มเมล็ด ช่วงระหว่างกะลากับเมล็ดจะมีเยื่อบาง ๆ ที่หุ้มเมล็ดอยู่ ซึ่งเราเรียกว่า “เยื่อหุ้มเมล็ด” ในแต่ละผลจะมี 2 เมล็ดประกับกันอยู่ ก้านที่ประกบกันจะอยู่ด้านในมีลักษณะแบน มีร่องตรงกลางเมล็ด 1 ร่อง ส่วนด้านนอกโค้ง ลักษณะของเมล็ดจะเป็นเมล็ดเดี่ยวหรือเมล็ดโทน ในบางครั้งหากการผสมเกสรไม่สมบูรณ์ จะทำให้ผลติดเมล็ดเพียงเมล็ดเดียว (คิดเป็นประมาณ 5-10%) ซึ่งจะมีลักษณะเป็นรูปกลมรีทั้งเมล็ด มีร่องตรงกลาง 1 ร่อง เมล็ดจำพวกนี้จะเรียกว่า “พีเบอร์รี่”[2]

จุดเด่นของกาแฟโรบัสต้า โดยส่วนใหญ่แล้วเราจะนำกาแฟโรบัสต้ามาผลิตเป็นกาแฟสำเร็จรูป หรือนำมาผสมกับกาแฟอาราบิก้าบางส่วน เพื่อผลิตเป็นกาแฟคั่วบดให้มีรสชาติที่แตกต่างออกไป สำหรับกาแฟโรบัสต้านั้นมีจุดเด่นในเรื่องของบอดี้ เมื่อดื่มแล้วจะรู้สึกได้ถึงความนุ่ม ชุ่มคอ กาแฟชนิดนี้จะมีปริมาณของกาเฟอีนสูงกว่ากาแฟอาราบิก้าเป็น 2 เท่า กาแฟโรบัสต้าในประเทศไทยจะมีการเพาะกันมากทางภาคใต้บนพื้นที่ราบ เช่นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดชุมพร[3]

สรรพคุณของกาแฟ

มีงานวิจัยหลายงานที่ระบุว่า เมล็ดกาแฟมีสารกาเฟอีนที่มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจและกระตุ้นประสาทส่วนกลาง การดื่มกาแฟจึงช่วยกระตุ้นระบบประสาท ทำให้ตาแข็ง นอนไม่หลับ ทำให้ร่างกายสดชื่น ขจัดความเซื่องซึมและอ่อนล้าได้[1],[4] โดยมีการยืนยันจากผลการทดลองที่ทำการทดลองกับนักกีฬากลุ่มหนึ่งที่ได้ดื่มกาแฟในระหว่างการฝึกซ้อม และได้พบว่านักกีฬากลุ่มดังกล่าวสามารถฝึกซ้อมกีฬาได้นานขึ้นหรืออึดมากขึ้น โดยความคึกคักที่เกิดขึ้นจะมีระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น[6]

ปริมาณกาเฟอีนในกาแฟที่เหมาะสมสามารถช่วยลดอาการหงุดหงิด อารมณ์ซึมเศร้า รวมถึงความเครียดได้ การดื่มกาแฟจึงทำให้ผู้ดื่มรู้สึกพึงพอใจและมีความสุข[3] โดยมีรายงานผลวิจัยที่ระบุว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟวันละ 2-3 แก้ว จะสามารถช่วยลดความเครียดได้ประมาณ 15% แต่ถ้าหากดื่มถึงวันละ 4 แก้ว ก็จะช่วยลดความเครียดได้ถึง 20%[6]

ช่วยลดความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์Arabica-Robusta โดยมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเซาท์ฟลอริดา ที่เปิดเผยว่าผู้ที่มีอายุล่วงเข้าสู่วัยกลางคน ควรดื่มกาแฟวันละ 4-5 แก้ว เพื่อช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมน GCSF เนื่องจากฮอร์โมนชนิดนี้สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้[6] ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษากับคนวัยกลางคนในประเทศฟินแลนด์จำนวน 1,400 คน ที่พบว่าคนที่ดื่มกาแฟวันละ 5 ถ้วยต่อวัน สามารถลดอัตราเสี่ยงของการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ถึง 65%[11]

เป็นที่เชื่อกันว่ากาแฟมีสรรพคุณที่ช่วยชูกำลังได้[10]

ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ กาเฟอีนในกาแฟมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด จึงช่วยระงับอาการปวดได้เช่นเดียวกับยาแก้ปวด อีกทั้งกาแฟยังช่วยละลายไขมันในเส้นเลือด บรรเทาอาการปวดศีรษะเนื่องจากการเมาสุรา อาการปวดศีรษะเนื่องจากเส้นประสาท รวมถึงอาการปวดศีรษะข้างเดียวหรือไมเกรน[3],[4]

กาเฟอีนสามารถช่วยขยายหลอดเลือดแดงที่หล่อเลี้ยงหัวใจได้ จึงทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดแดงบริเวณศีรษะหดตัว ซึ่งก็ช่วยลดอาการปวดศีรษะจากไมเกรนได้อีกด้วย[3]

ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันได้ว่า การดื่มกาแฟวันละ 2-5 แก้ว สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งในช่องปาก มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งตับได้ เนื่องจากกาเฟอีนจะไปช่วยยับยั้งการเกิดเซลล์ผิดปกติ และกำจัดสารพิษที่ร่างกายได้รับออกไปได้ในระดับหนึ่ง[3],[6] งานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ศึกษาจนพบว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟจะมีอัตราการเป็นโรคมะเร็งต่ำกว่าผู้ที่ไม่ได้ดื่ม ส่วนการศึกษาของมหาวิทยาลัยบอสตันพบว่า ผู้ป่วยที่ดื่มกาแฟอย่างน้อยวันละ 5 ถ้วย จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งลำไส้ต่ำกว่ากลุ่มอื่นถึง 40%[3]

ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาในประเทศญี่ปุ่นที่ทำการศึกษากับผู้หญิงเป็นระยะเวลา 12 ปี โดยพบว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟวันละ 3 แก้วหรือมากกว่า จะมีแนวโน้มในการลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ถึง 50%[11] และจากการศึกษากับผู้ชายจำนวน 50,000 คน เป็นระยะเวลา 20 ปี พบว่าผู้ที่ดื่มกาแฟวันละ 6 แก้ว จะมีอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม[11] โดยมีข้อมูลที่ระบุว่าการดื่มกาแฟนั้น จะสามารถช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้[5]

จากการศึกษาของภาคเกษตรและเคมีอาหารของสหรัฐอเมริกา ที่ได้ศึกษาจนพบว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำจะมีโอกาสรอดพ้นจากโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ถึง 50% เนื่องจากกาแฟมีกาเฟอีนที่มีคุณสมบัติในการยับยั้ง hIAPP และโพลีเปปไทด์ ที่เป็นตัวการก่อให้เกิดโปรตีนผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานชนิดที่ 2[6]

เมล็ดกาแฟ มีสรรพคุณช่วยลดน้ำระดับตาลในเลือดได้ โดยการใช้เมล็ดที่คั่วแล้ว นำมาชงกับน้ำร้อน เป็นเครื่องดื่มยามว่าง[12]

กาแฟมีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจ และช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ[4] จากการศึกษาที่ติดตามดูผู้หญิงจำนวน 27,000 คน เป็นเวลา 15 ปี พบว่าการดื่มกาแฟประมาณวันละ 1-3 ถ้วย จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจให้น้อยลงได้ถึง 26% แต่การดื่มกาแฟในปริมาณมากกว่านี้ต่อวันจะไม่ได้ผลในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ[9] ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งที่ทำการศึกษาในกลุ่มผู้หญิงที่ดื่มกาแฟไม่เกินวันละ 5 ถ้วย พบว่ากาแฟไม่มีส่วนทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจมากขึ้น แม้ในรายที่มีปัญหาเส้นเลือดหดตัวหรือหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ส่วนผู้ที่ดื่มกาแฟวันละ 6 ถ้วยขึ้นไปทุกวันก็ไม่มีอัตราการเต้นของหัวใจที่สูงเกินกว่าปกติ[3] การดื่มกาแฟจะทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น เพราะกาแฟมีสาร theobromine (เมล็ด)[1]

กาแฟมีนิโคติน แต่ไม่ใช่ชนิดเดียวกันกับที่พบได้ในบุหรี่ แต่เป็นวิตามินบีรวมชนิดหนึ่งที่ร่างกายต้องการ ซึ่งสามารถช่วยลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดได้ การดื่มกาแฟจึงช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดแข็งตัว[3]

การดื่มกาแฟหลังอาหาร สามารถช่วยละลายไขมัน ทำให้ไขมันเกิดการแตกตัว และให้พลังงานทดแทนได้ อีกทั้งกาแฟยังมีประโยชน์ต่อกระเพาะโดยตรง โดยจะช่วยทำให้น้ำย่อยที่กระเพาะและตับอ่อนมีเพิ่มขึ้น จึงทำให้ไขมันถูกเผาผลาญ การดื่มกาแฟจึงมีส่วนในการช่วยลดความอ้วนได้[3]

ช่วยเพิ่มไขมันดี (HDL) ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย จากผลการวิจัยพบว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟบ่อย ๆ จะมีไขมันชนิดดีเพิ่มขึ้น ซึ่งไขมันชนิดนี้จะเป็นตัวช่วยขับไล่คอเลสเตอรอล และช่วยป้องกันหลอดเลือดแข็งตัว[3]

จากการศึกษาของ ดร.จี เวปสเตอร์ และคณะ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท จากศูนย์การแพทย์นครฮอนโนลูลูของสหรัฐอเมริกา ได้พบว่า ผู้ชายที่ไม่ดื่มกาแฟจะมีโอกาสป่วยเป็นโรคพาร์กินสันมากกว่าผู้ที่ดื่มกาแฟมากกว่าวันละ 5 ถ้วย สูงถึง 5 เท่า[3] ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของสถาบันการแพทย์อเมริกันที่พบว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟวันละ 2-3 แก้ว เป็นประจำทุกวัน จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคพาร์กินสันได้ถึง 25%[6] แต่สำหรับกาแฟชนิดที่สกัดเอากาเฟอีนออก จะไม่ช่วยลดความเสี่ยงของโรคนี้[9]

การดื่มกาแฟสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคหอบ ช่วยบรรเทาอาการหอบหืด แก้หอบหอบหืดได้ เพราะกาแฟมีสารกาเฟอีนที่ช่วยระงับอาการตึงเครียดของประสาทสัมผัสสำรอง จึงช่วยลดการเกิดโรคหอบได้[3],[9]

ดร.ดาร์ซี โรแบร์โตลิมา ผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชวิทยาของมหาวิทยาลัยรีโอ เดจาเนโร ได้เปิดเผยว่า ผู้ที่มีปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศอันเนื่องมาจากการดื่มสุรา จากภาวะซึมเศร้า จากอายุขัย หรือจากการเสพยา สามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการดื่มกาแฟในปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละวัน[3]

ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เผยว่า ผู้หญิงที่ดื่มกาแฟวันละ 4 แก้ว จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีลดลงประมาณ 25% เช่นเดียวกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่ได้ระบุว่า ผู้ชายที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ จะช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้[6] โดยมีข้อมูลที่ได้ระบุว่า ผู้ชายที่ดื่มกาแฟอย่างน้อยวันละ 2 แก้ว จะช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้ 40% และลดได้ 25% สำหรับผู้หญิงที่ดื่มกาแฟในปริมาณเท่ากัน ส่วนผู้ที่ดื่มกาแฟมากกว่าวันละ 4 แก้ว จะช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้ถึง 45%[11]

มีงานวิจัยที่ได้พิสูจน์แล้วว่า กาแฟมีประโยชน์ในการช่วยป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี[3]

ช่วยลดการเกิดโรคตับจากสุรา จากสำรวจพบว่ากาแฟสามารถช่วยลดผลร้ายที่มีต่อตับได้ แต่ในส่วนนี้ยังต้องมีการวิจัยต่อไปว่า สารชนิดใดที่เป็นสารออกฤทธิ์ และมีผลต่อสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดโรคตับแข็งหรือไม่นอกจากแอลกอฮอล์[3] ส่วนอีกจากการศึกษาที่ทำการศึกษากับผู้ดื่มกาแฟจำนวน 125,000 คน โดยพบว่าการดื่มกาแฟเพียงวันละ 1 แก้ว ก็สามารถทำให้ความเสี่ยงของการเป็นโรคตับแข็งลดลง 20% และถ้าดื่มวันละ 4 แก้ว ก็จะสามารถช่วยลดอัตราเสี่ยงได้สูงถึง 80%[11]

กาแฟมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ[1] โดยมีข้อมูลที่ระบุว่า การดื่มกาแฟประมาณ 5 ถ้วยครึ่ง (ประมาณ 550 มิลลิกรัม) จะไม่ออกฤทธิ์ในการขับปัสสาวะแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม กาเฟอีนยังมีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะได้หากดื่มเกินครั้งละ 575 มิลลิกรัม หรือประมาณ 6 ถ้วย ดังนั้นในขณะออกกำลังกายหรือหลังออกกำลังกาย จึงไม่ควรดื่มกาแฟในปริมาณมาก เพราะจะทำให้ร่างกายขาดน้ำได้[9]

การดื่มกาแฟวันละ 2 แก้ว อาจช่วยลดอาการปวดกล้ามเนื้อหลังการออกกำลังกายได้ถึง 58% จึงทำให้ยาแก้ปวดหลายประเภทนั้นมีส่วนผสมของกาเฟอีนอยู่ด้วย 65 มิลลิกรัม (เช่น aspirin, ibuprofen เป็นต้น) นอกจากนี้กาเฟอีนยังสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ถึง 40%[11]

ช่วยลดโอกาสเป็นโรคเกาต์ สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคเกาต์ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แนะนำให้ดื่มกาแฟวันละ 3-6 แก้วอย่างต่อเนื่อง เพราะจากผลการวิจัยของสถาบันการแพทย์แห่งหนึ่ง ที่ได้ยืนยันว่า กาเฟอีนมีส่วนช่วยบรรเทาอาการอักเสบของข้ออันเนื่องมาจากกรดยูริกที่เกินขนาดอย่างได้ผล โดยผู้ที่ดื่มกาแฟวันละ 6 แก้ว จะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคเกาต์ได้ถึง 60%[6]

จากการศึกษาของ University of Bari ที่ประเทศอิตาลี พบว่าการดื่มกาแฟวันละ 1-2 แก้ว จะช่วยป้องกันโรคหนังตากระตุกได้ และช่วยลดอัตราการกระตุกให้ช้าลงได้ในผู้ป่วย[10]

ใช้แก้อหิวาตกโรค (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[12]

จากการศึกษาของนายแพทย์วินเซนต์ ทูบิโอโล แห่งศูนย์การแพทย์ยูซีแอลเออ-ฮาร์เบอร์ เขาได้ตั้งทฤษฎีใหม่ว่า การได้รับกาเฟอีนในขนาด 400 มิลลิกรัมต่อวัน อาจช่วยลดอาการแพ้เกสรจากดอกไม้ได้[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกาแฟ

  • สารสำคัญที่พบ คือ arabinogalactan, aspartic acid, atractyligenin, β-sitosterol, cafestol, caffeine, caffeoyl tyrosine, caffeoyl, fucosterol, glucopyranosyl, guaiacol, quinic acid, kahweol, phosphoric acid, pyrazine, pyridine, pyrrole, stigmasterol, tryptophan, vinyl เป็นต้น[12]
  • กาแฟมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ยับยั้งการเกิดมะเร็ง ยับยั้งการเพิ่มน้ำหนัก กระตุ้นประสาทส่วนกลาง กระตุ้นหัวใจ กระตุ้นไต กระตุ้นกล้ามเนื้อ ช่วยกระตุ้น alanine aminotransferase ลอครีเอตีนีน ยับยั้ง r-glutamyltransferase เพิ่มคอเลสเตอรอลในเลือด มีฤทธิ์เหมือน juvenile hormone มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ ล่อแมลง[12]
  • เมื่อปี ค.ศ.1994 ที่ประเทศอินเดีย มีรายงานผลการทดลอง สารสกัดจากเมล็ดกาแฟต่อผลเมตาบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรต และผลการลดระดับน้ำตาลในเลือดของกาแฟ โดยผลการทดลองพบว่า กาแฟสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้[12]
  • ประโยชน์ของกาแฟ
  • เมล็ดกาแฟถูกนำมาผลิตจนเป็นเครื่องดื่มที่แพร่หลายไปทั่วโลก ในประเทศไทยมีการผลิตกาแฟอาราบิก้าและกาแฟโรบัสต้าได้มากพอ ทำให้บางปีก็มีการส่งออกไปขายยังต่างประเทศด้วย แต่ยังต้องมีการนำเข้ากาแฟคุณภาพดีเข้ามาผสม เพื่อใช้ผลิตเป็นผงกาแฟสำเร็จรูปสำหรับการบริโภคในประเทศเช่นกัน[1]
  • กาแฟมีสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นตัวช่วยต้านสารพิษที่เกิดจากภายในและภายนอกร่างกาย[11]
  • ช่วยขับไล่ความแก่ชรา แม้ว่าร่างกายจะต้องการออกซิเจนมากก็จริง แต่ถ้ามีออกซิเจนมากเกินไปก็อาจทำให้มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งสูงและทำให้แก่ชราเร็ว โดยเฉพาะในกาแฟที่เข้มข้นจะทำให้ออกไซด์แตกตัวและลดการเกิดมะเร็งได้[3]

ส่วนประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ของกาแฟ ยังพบว่า คุณประโยชน์บางอย่างอาจส่งผลต่อเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น เช่น กาแฟได้รับการพิสูจน์แล้วว่า สามารถช่วยลดการฆ่าตัวตายในเพศหญิงได้ และช่วยป้องกันนิ่วและโรคถุงน้ำดีในผู้ชาย และช่วยลดโอกาสการเกิดโรคเบาหวานได้ทั้งสองเพศ โดยจะลดประมาณ 30% ในเพศหญิง แต่จะลดมากกว่า 50% ในเพศชาย เป็นต้น และการดื่มกาแฟดูเหมือนว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลดขนาดของหน้าอก[10] ช่วยลดความรู้สึกหนาวได้เนื่องจากมีกาเฟอีน

เมล็ดกาแฟ สามารถช่วยทำให้ลมหายใจหอมสดชื่นได้ วิธีการก็คือเอาเมล็ดกาแฟมาอมไว้ชั่วครู่ ลมหายใจของคุณก็จะมีกลิ่นสะอาดและสดชื่นอีกครั้ง[10]

ช่วยกำจัดกลิ่นอาหาร ถ้ามือของคุณมีกลิ่นปลา กลิ่นกระเทียม หรือกลิ่นอาหารแรง ๆ เมล็ดกาแฟเพียงเล็กน้อยก็สามารถช่วยกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้ วิธีก็คือให้เทเมล็ดกาแฟลงบนมือแล้วถือเข้าด้วยกันสักครู่ แล้วน้ำมันจากเมล็ดกาแฟจะช่วยดูดซับกลิ่นออกไป หลังจากนั้นก็ให้ล้างมือด้วยน้ำอุ่นและสบู่ให้สะอาดอีกครั้ง[10]

ปัจจุบันมีการนำเมล็ดกาแฟที่เก็บได้จากผลสุกแล้วเอาเนื้อออกมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มากมาย เช่น กาแฟผงสำเร็จรูป กาแฟพร้อมดื่ม ผสมในขนมอบ ไอศกรีม ลูกกวาด ทอฟฟี่ หรือนำมาสกัดเอากาเฟอีน เพื่อใช้ผสมในยาและเครื่องดื่มต่าง ๆ เช่น โค้ก เป็นต้น

โทษของกาแฟ

  • กาเฟอีนมีคุณสมบัติคล้ายยาเสพติดอย่างอ่อน ผู้ที่ดื่มกาแฟจึงมักต้องดื่มเป็นประจำ หรือที่เรียกว่า “ติดกาแฟ” จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีผู้ดื่มกาแฟกันมาก[4] และจากผลสำรวจพบว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟในปริมาณ 235 มิลลิกรัมต่อวันขึ้นไป พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 10% จะรู้สึกมีความทุกข์มากขึ้นเมื่อร่างกายขาดกาเฟอีน[10]
  • กาแฟเพียงถ้วยเดียวก็สามารถเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้[5]
  • มีคำแนะนำว่าผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟในปริมาณสูง เพราะจากการศึกษาพบว่า กาเฟอีน 250 มิลลิกรัม สามารถทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นทั้งตัวบนและตัวล่างในทุกกลุ่ม และจะยิ่งสูงมากขึ้นในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงกว่า 1.5 เท่าของกลุ่มที่มีความดันปกติ ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งได้ระบุว่า การดื่มกาแฟเป็นประจำในปริมาณน้อย ๆ ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นยังไม่แน่นอน เนื่องจากมีการศึกษาติดตามผลในพยาบาล 155,000 คน ที่ดื่มกาแฟมานาน 10 ปี พบว่าไม่ทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ John hopkins ที่ได้ทำการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,000 ราย โดยติดตามผลเป็นเวลา 33 ปี ที่พบว่ากาเฟอีนมีผลต่อความดันโลหิตน้อยมาก[9]
  • หากร่างกายได้รับกาเฟอีนสูงกว่า 150 มิลลิกรัมต่อวัน กาเฟอีนจะไปแทรกแซงการนอนหลับ ทำให้นอนหลับยาก หลับไม่สนิท ทำให้ช่วงเวลาที่หลับนั้นสั้นลง ซึ่งอาจทำให้ร่างกายไม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่[5],[7]
  • ผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ หากหยุดดื่มกะทันหันจะทำให้มีอาการปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ร่างกายอ่อนเพลีย และง่วงนอนได้[7]
  • การดื่มกาแฟอาจทำให้หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติหรือเต้นไม่เป็นจังหวะได้ เนื่องจากกาเฟอีนในกาแฟมีฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง จึงส่งผลให้อัตราการบีบตัวของหัวใจและปริมาณของเลือดที่สูบฉีดต่อนาทีเพิ่มขึ้น[7]
  • สาร theobromine ในกาแฟอาจทำให้มีอาการปวดแสบที่ลิ้นปี่ได้[1]
  • การดื่มกาแฟหลายถ้วยต่อวัน จะลดความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายลงได้ โดยเฉพาะอย่างในสตรี[5]
  • กาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งของกรด pepsin และ gastrin ซึ่งอาจทำให้โรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้รุนแรงขึ้นได้[7]
  • กาแฟมีฤทธิ์ลดการดูดซึมของธาตุเหล็กได้ คุณจึงควรระมัดระวังในการดื่มกาแฟในขณะท้องว่าง อีกทั้งการดื่มกาแฟในขณะท้องว่างกาเฟอีนยังไปเร่งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารอีกด้วย[1],[7]

เนื่องจากกาแฟมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ โดยไปลดการดูดกลับของโซเดียม โพแทสเซียม และแคลเซียมออกจากไต จึงทำให้แร่ธาตุเหล่านี้ถูกขับออกมาพร้อมปัสสาวะ ถ้าหากร่างกายสูญเสียแคลเซียมออกจากร่างกายบ่อย ๆ ในปริมาณมาก อาจเป็นการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนในหญิงวัยหมดประจำเดือนได้[5],[7]

การดื่มกาแฟมากกว่าวันละ 1 แก้ว จะมีโอกาสเกิดการเป็นหมันมากขึ้น[9]

ก่อนหน้าที่มีข้อถกเถียงกันว่า การดื่มกาแฟอาจส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ของสตรีได้ แต่จากหลักฐานยังไม่พบผลเสียดังกล่าว นักวิจัยจึงแนะนำว่าให้ดื่มกาแฟปริมาณน้อย ๆในขณะตั้งครรภ์จึงจะไม่เกิดผลเสีย (แต่หากงดได้ก็ควรจะงด)[9] ส่วนการศึกษาในประเทศเดนมาร์กที่ได้ทำการศึกษากับสตรีจำนวน 18,478 คน ที่ดื่มกาแฟปริมาณมากในระหว่างการตั้งครรภ์ พบว่ามันส่งผลทำให้อัตราเสี่ยงของการตายของทารกหลังคลอดเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่มีผลกระทบต่ออัตราการตายในปีแรกของทารก โดยในรายงานได้ระบุว่า ผลการศึกษานี้บ่งชี้ถึงผลกระทบจากการดื่มกาแฟตั้งแต่วันละ 4-7 ถ้วย ส่วนผู้ที่ดื่มตั้งแต่วันละ 8 ถ้วยขึ้นไป (หรือ 48 ออนซ์ขึ้นไป) จะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นถึง 220% เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ดื่ม จากผลการศึกษานี้จึงทำให้รู้ว่าสตรีตั้งครรภ์ควรเพิ่มความระมัดระวังในการดื่มกาแฟในปริมาณที่มากเกินไป[10]

เด็กเล็กไม่ควรดื่มกาแฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ขวบ

กาเฟอีนในกาแฟ

กาเฟอีน คืออะไร? : กาเฟอีน (caffeine) เป็นสารประกอบที่พบได้มากในเมล็ดกาแฟ โดยกาเฟอีนบริสุทธิ์นั้นจะมีลักษณะเป็นผลึกรูปเข็ม มีรสขม และไม่มีกลิ่น ปริมาณของกาเฟอีนที่มีอยู่ในกาแฟแต่ละชนิดจะแตกต่างกันออกไป โดยกาแฟโรบัสต้าจะมีปริมาณกาเฟอีนสูงกว่ากาแฟอาราบิก้า[7]

ปริมาณของกาเฟอีนที่ส่งผลต่อร่างกายและอารมณ์ : กาเฟอีนในขนาดต่ำ (50-200 มิลลิกรัม) จะกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว ไม่ง่วงนอน กระปรี้กระเปร่า สดชื่น, ส่วนกาเฟอีนในขนาดปานกลาง (200-500 มิลลิกรัม) อาจทำให้ปวดศีรษะ เครียด กระวนกระวาย มือสั่น นอนไม่หลับ, และกาเฟอีนในขนาดสูง (1,000 มิลลิกรัม) จะเริ่มทำให้มีอาการกระสับกระส่ายอยู่นิ่งไม่ได้ หัวใจเต้นเร็ว ปัสสาวะบ่อย เบื่ออาหาร และมีอาการคลื่นไส้ บางข้อมูลระบุว่าอาจมีอาการกล้ามเนื้อกระตุก ทำให้งุนงงสับสน ความคิดและคำพูดติดขัด หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ บางรายอาจมีอาการแสงวูบวาบลวงตาและได้ยินเสียงดังในหู แต่ถ้าหากได้รับกาเฟอีนมากกว่า 10,000 มิลลิกรัม จะทำให้เกิดโรคลมชัก ระบบหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุด[7],[8]

ฤทธิ์ของกาเฟอีน : กาเฟอีนในกาแฟสามารถถูกดูดซึมได้หมดและรวดเร็วในระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนท้องว่างจะยิ่งดูดซึมเร็วขึ้น ภายหลังการดื่มกาแฟประมาณ 30-60 นาที ความเข้มข้นของกาเฟอีนในเลือดจะขึ้นสู่ระดับสูงสุด และหลังจากกาเฟอีนถูกดูดซึมก็จะกระจายตัวไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอวัยวะที่มีเลือดไปเลี้ยงมาก เช่น สมอง หัวใจ ตับ และไต นอกจากนี้กาเฟอีนยังสามารถกระจายไปสู่รกและน้ำนมได้บ้างประมาณ 0.06% ส่วนการขับกาเฟอีนออกจากร่างกายก็จะแตกต่างกันออกในแต่ละบุคคล โดยขึ้นอยู่กับอายุและสภาพร่างกาย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วในผู้ใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 5-6 ชั่วโมง ในการจับกาเฟอีนปริมาณครึ่งหนึ่งที่ได้รับออกจากร่างกาย[7]

กาแฟเป็นสารเสพติดหรือไม่? : การดื่มกาแฟเป็นความชินมากกว่า สิ่งที่จะเรียกว่าติดได้ คือ จะต้องได้รับเป็นประจำและปริมาณต้องเพิ่มขึ้น แต่กาแฟไม่ได้ทำให้มีความต้องการเพิ่มขึ้น ส่วนในกรณีของสารเสพติดนั้นหากไม่ได้รับจะมีอาการลงแดงหรือทนไม่ไหว แต่การดื่มกาแฟจะไม่ให้ผลอย่างนั้น การดื่มกาแฟจึงไม่ใช่การติด แต่เป็นนิสัยมากกว่า อีกทั้งสารเสพติดจำพวกแอมเฟตามีน มอร์ฟีน นิโคติน จะมีคุณสมบัติในการกระตุ้นการหลั่งของสารโดพามีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับอาการเสพติด แต่กาเฟอีนจะไม่มีคุณสมบัติเช่นนั้น[7]

ปริมาณกาเฟอีนที่ปลอดภัย : สภาพร่างกายของแต่ละคนมีความไวต่อปริมาณกาเฟอีนที่แตกต่างกัน บางคนดื่มกาแฟ 1 ถ้วยก็อาจทำให้มีอาการใจสั่น นอนไม่หลับได้ แต่อาจจะไม่มีผลกับอีกคนหนึ่งที่มีความทนทานมากกว่า อย่างไรก็ตามองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาก็ได้กำหนดปริมาณกาเฟอีนที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ นั่นก็คือไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบได้กับการดื่มกาแฟไม่เกิน 3 ถ้วยต่อวัน[7]

กาเฟอีนก็ทำให้ร่างกายอ่อนเพลียได้เช่นกัน : จากการสำรวจพบว่า  ผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนเพลียไม่มีแรงจากการดื่มกาแฟ พบว่าแทบทุกคนดื่มกาแฟวันละ 10 กว่าถ้วย โดยผู้ป่วยเหล่านี้คิดว่าการดื่มกาแฟหลายถ้วยจะทำให้มีแรงทำงาน แต่ในความเป็นจริงแล้วยิ่งดื่มกาแฟมากเท่าไร กาเฟอีนในร่างกายก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ก็เท่ากับว่าเป็นการดึงพลังงานออกจากตัวมากเท่านั้น เมื่อยิ่งดื่มจึงยิ่งอ่อนเพลีย เมื่อเพลียก็ยิ่งดื่มมากขึ้น หมุนเวียนเป็นวงจรเช่นนี้เรื่อยไป และเพื่อเป็นการแก้อาการอ่อนเพลีย ควรงดดื่มกาแฟโดยเด็ดขาดเป็นเวลา 2-3 เดือน และหากทำได้อย่างเคร่งครัดอาการอ่อนเพลียก็จะหายไป[8]

อันตรายของกาเฟอีน : กาเฟอีนเปรียบเสมือนยาพิษถ้าหากได้รับมากเกินไป การบริโภคกาเฟอีนในปริมาณเข้มข้นและในปริมาณมาก อาจทำให้ร่างกายอาเจียน หมดสติ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้[10]

ดื่มกาแฟอย่างไรให้ได้ประโยชน์

  • อย่างแรกเราต้องสังเกตตัวเองก่อนว่า ร่างกายของเรามีความไวต่อการตอบสนองของปริมาณกาแฟกี่ถ้วย และมีอาการอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ก็เพื่อหาปริมาณที่เหมาะสมให้กับตัวเอง[7]
  • หากคุณมีอาการนอนหลับยากอยู่เป็นทุนอยู่แล้ว ก็ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟในช่วงบ่ายหรือช่วงหัวค่ำ[7]
  • ไม่ควรดื่มกาแฟเพื่อหักโหมในการทำงาน จนทำให้อดนอนติดต่อกันหลาย ๆ คืน แม้ว่ากาเฟอีนจะช่วยทำให้ร่างกายตื่นตัวได้จริง แต่อย่างไรก็ตาม สมองก็ต้องได้รับเวลาการพักผ่อนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับรู้[7]
  • สำหรับผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ ควรรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งของแคลเซียมเพิ่มเติมเพื่อทดแทนแคลเซียมที่สูญเสียไปกับปัสสาวะ ทั้งนี้ก็เพื่อลดความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน[7]
  • ควรดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำจากฤทธิ์ในการขับปัสสาวะของกาเฟอีน[7]
  • เนื่องจากในกระบวนการคั่วเมล็ดกาแฟ จะทำให้มีอนุมูลอิสระเกิดขึ้น การรับประทานผักผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระจะช่วยกำจัดอนุมูลอิสระในร่างกายออกไปได้[7]
  • ควรระวังครีมเทียมและน้ำตาลที่เติมลงไปในกาแฟ เพราะยิ่งเติมมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มแคลอรีให้กาแฟและเพิ่มพลังงานส่วนเกินให้กับร่างกาย[8]
  • หากดื่มกาแฟหลายถ้วยในหนึ่งวัน คุณควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่มีกาเฟอีนเพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มกาเฟอีนให้กับร่างกาย เช่น น้ำอัดลม ช็อกโกแลต โกโก้ เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น[8]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. พืชเครื่องดื่ม, โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กาแฟ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th.
  2. คลังข้อมูลสารสนเทศระดับภูมิภาค (ภาคใต้), สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์กรมหาชน). “กาแฟ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.arda.or.th.
  3. Coffee กาแฟ, มหาวิทยาลัยนเรศวร. “กาแฟ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : student.nu.ac.th.
  4. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 167 คอลัมน์ : ต้นไม้ใบหญ้า. “กาแฟ : ความขมที่ชาวโลกนิยม”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.
  5. งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด, สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง. “ข้อดี-ข้อเสียของการดื่มกาแฟ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.lib.ru.ac.th.
  6. ผู้จัดการออนไลน์. “9 ข้อดีของกาแฟ ดื่มอย่างเหมาะสมสุขภาพก็แจ่มใส”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.manager.co.th.
  7. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 369 คอลัมน์ : เรื่องน่ารู้. “กาแฟให้อะไรกับคุณบ้าง”. (สุธีรา สัตย์ซื่อ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.
  8. สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ. “ดื่มกาแฟ (ทุกวัน) อย่างไรให้มีผลเสียน้อยที่สุด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.hiso.or.th.
  9. ผู้จัดการออนไลน์. (เอมอร คชเสนี). “กาแฟดีหรือร้ายกันแน่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.manager.co.th.
  10. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “กาแฟ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : th.wikipedia.org/wiki/กาแฟ.
  11. ภก.นพ.สันติ ปลอดทอง. “ประโยชน์ของกาแฟ”.
  12. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “กาแฟ”  หน้า 57.