ก้ามปูหลุด สมุนไพรช่วยขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้กระหายน้ำ

สรรพคุณของต้น ก้ามปูหลุด สมุนไพรช่วยขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้กระหายน้ำ

ก้ามปูหลุด หรือ ต้นปีกแมลงสาบ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก แตกแขนงมาก ลำต้นทอดเลื้อยคลุมดินและชูยอดขึ้นสูงประมาณ 10-30 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะอวบเป็นสีเขียวหรือเขียวประม่วงจนถึงม่วงลายเขียว มีข้อและปล้องชัด[1],[3] เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของประเทศเม็กซิโก ในปัจจุบันแพร่กระจายพันธุ์ปลูกไปทั่ว รวมทั้งประเทศไทยด้วย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือการแยกลำต้น โตเร็ว ชอบดินร่วน ความชื้นมาก และแสงแดดปานกลาง[2],[4]

ก้ามปูหลุด ชื่อสามัญ Inch plant, Wandering jew[4]

ก้ามปูหลุด ชื่อวิทยาศาสตร์ Tradescantia zebrina var. zebrina (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Tradescantia pendula (Schnizl.) D.R.Hunt, Zebrina pendula Schnizl.)[2] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า เป็นชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tradescantia zebrina Bosse[3] โดยจัดอยู่ในวงศ์ผักปลาบ (COMMELINACEAE)[1],[3]

สมุนไพรก้ามปูหลุด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปีกแมลงสาบ (ทั่วไป), ก้ามปู ก้ามปูหลุด (กรุงเทพฯ), จุยเต็กเช่า (จีนแต้จิ๋ว), เตี้ยวจู๋เหมย (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2]

ใบก้ามปูหลุด ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ หรือรูปรีขอบขนาน ปลายใบแหลมเรียว โคนใบมนเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียวอ่อนสลับสีเทาควันบุหรี่ลายทาง ส่วนท้องใบเป็นสีม่วงอมแดง ไม่มีก้านใบ กาบใบสั้นเป็นปลอกหุ้มรอบข้อสูงประมาณ 1 เซนติเมตร ที่กาบใบมีลายเส้นสีม่วงเป็นแนวตามความยาวและมีขนขึ้นเล็กน้อย[1],[3]

ดอกก้ามปูหลุด ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ โดยจะออกเป็นกระจุกที่ปลายยอด มีใบประดับใหญ่ 2 ใบ ซึ่งจะมีขนาดไม่เท่ากันประกบหุ้มช่อดอกอ่อนเอาไว้ ดอกมีสีขาวอมชมพูเล็กน้อย กลีบรองดอกเป็นสีขาว บาง โคนเชื่อมติดกันเป็นท่อ ยาวประมาณ 7-10 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็นกลีบรูปไข่ 3 กลีบ มีขนาดกว้างประมาณ 4-5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 6-8 มิลลิเมตร กลีบด้านบนเป็นสีม่วง ด้านล่างเป็นสีขาว กลางดอกมีเกสรเพศผู้ 6 อัน ก้านชูอับเรณูเป็นสีขาว มีขนยาวสีม่วง อับเรณูสีนวล รังไข่เล็ก ส่วนก้านเกสรเพศเมียเรียว ยอดเกสรเพศเมียมี 3 แฉก ดอกจะทยอยบานโผล่เหนือใบประดับ เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ก้านดอกสั้นมาก[1],[2],[3]

ผลก้ามปูหลุด ผลมีลักษณะเป็นรูปยาวรี ขนาดเล็ก ผลเมื่อแก่จะแตกอ้าออกไปตามความยาวของผลระหว่างช่อง ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 2-3 เมล็ด[1],[2],[3]

สรรพคุณของก้ามปูหลุด

  • ทั้งต้นมีรสขมหวานเล็กน้อย เป็นยาเย็น มีพิษเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อปอดและลำไส้ ใช้เป็นยาทำให้เลือดเย็น ช่วยขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ (ทั้งต้น)[1]
  • ช่วยแก้อาการไอเป็นเลือด ตำรับยาแก้ไอเป็นเลือดจะใช้ต้นสด 50-100 กรัม นำมาต้มกับปอดหมู รับประทานวันละ 2 ครั้ง (ทั้งต้น)[1] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า ให้ใช้ต้นสด 60-90 กรัม นำมาต้มกับปอดหมูหนัก 120 กรัม โดยผสมน้ำต้มให้เหลือ 1 ชาม ใช้ดื่มหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง (ต้นสด)[3]
  • ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้เจ็บคอ คอบวม คออักเสบ (ทั้งต้น)[1]
  • ลำต้นและใบใช้ต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้กระหายน้ำ (ลำต้นและใบ)[2]
  • ใช้เป็นยาแก้บิด แก้บิดเรื้อรัง อันเนื่องมาจากการติดเชื้อ ตำรับยาแก้บิดจะใช้ต้นสด 50-100 กรัม นำมาต้มกับน้ำข้าว ใช้รับประทานวันละ 3 ครั้ง (ทั้งต้น)[1] ส่วนตำรับยาแก้บิดเรื้อรังจะใช้กาบหุ้มดอกสดหนัก 150 กรัม และข้าวสารคั่วจนเกรียม (เริ่มไหม้) 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำ ใช้แบ่งดื่มเป็น 3 ครั้ง (กาบหุ้มดอกสด)[3]
  • ใช้เป็นยาขับฝีในท้อง (ทั้งต้น)[1]
  • ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ รักษานิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรือทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ ตำรับยาแก้นิ่วหรือทางเดินปัสสาวะอักเสบ จะใช้ต้นสด 50-100 กรัม นำมาต้มกับน้ำ 3 ถ้วย จนเหลือ 1 ถ้วย ใช้รับประทานวันละ 2 ครั้ง (ทั้งต้น)[1]
  • ใช้เป็นยาแก้ตกขาวของสตรี (ทั้งต้น)[1] ตำรับยาแก้สตรีตกขาวมาก จะใช้ต้นสดประมาณ 60-120 กรัม, น้ำตาลกรวด 30 กรัม, และต่าฉ่าย (Mytilum crassitesta Lischke) อีก 30 กรัม นำมาผสมน้ำต้มให้เหลือครึ่งชาม ใช้ดื่มหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง (ต้นสด)[3]
  • ตำรับยาแก้โรคหนองใน จะใช้ต้นสดประมาณ 60-120 กรัม นำมาใส่น้ำแล้วต้มให้เหลือ 1 ถ้วย ใช้ดื่มหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง (ต้นสด)[3]
  • ใช้เป็นยาแก้ไตอักเสบ บวมน้ำ (ทั้งต้น)[1]
  • ใบใช้ต้มกินน้ำเป็นยาช่วยลดอาการบวม (ใบ)[2]
  • ลำต้นใช้เป็นยารักษาแผลไฟไหม้[2] ให้ใช้ทั้งต้นสดนำมาล้างให้สะอาดตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าขาวเพียงเล็กน้อย ใช้ทั้งเนื้อและน้ำพอกบริเวณที่ถูกไฟไหม้วันละ 2 เวลา เช้าและเย็น จะช่วยไม่ให้ปวดแสบปวดร้อนและค่อย ๆ ทุเลาลงจนหายไป (ต้นสด)[4]
  • ใช้เป็นยาแก้พิษงูกัด ใช้พอกฝี ดูดพิษฝี แก้ฝีอักเสบ (ทั้งต้น)[1],[2],[3]
  • ตำรายาแผนจีน ไต้หวัน จะใช้ใบนำมาตำให้พอละเอียด แล้วนำไปพอกแก้อาการบวมตามข้อได้ดีมาก (ใบ)[4]

ขนาดและวิธีใช้ : ก่อนนำมาใช้ ให้เก็บต้นสดนำมาล้างให้สะอาด หรือตากแห้งเก็บเอาไว้ใช้[3] ต้นสดให้ใช้ครั้งละ 50-100 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ตำแล้วคั้นเอาน้ำรับประทาน ส่วนต้นแห้งให้ใช้ครั้งละ 15-35 กรัม[1]

ข้อควรระวัง : ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอและสตรีมีครรภ์ ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[1],[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของก้ามปูหลุด

  • สารที่พบในก้ามปูหลุด ได้แก่ Calcium oxalate, Hydrocolloid, Gum[1],[3]
  • น้ำต้มที่ได้จากก้ามปูหลุด หรือที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ สามารถกระตุ้นลำไส้ที่แยกออกจากตัวของหนูตะเภาได้ แต่จะไม่มีผลต่อมดลูกและหัวใจ[1]

ประโยชน์ของก้ามปูหลุด

  • ต้นก้ามปูหลุด เป็นพรรณไม้ที่นิยมนำมาปลูกไว้เป็นไม้ประดับทั่วไป เนื่องจากใบมีสีสันสวยงาม[2],[4]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “ก้ามปูหลุด”.  หน้า 70.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ก้ามปูหลุด”.  หน้า 59-60.
  3. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ปีกแมลงสาบ หรือ ก้ามปูหลุด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.
  4. ไทยรัฐออนไลน์.  “ก้ามปูหลุด รักษาแผลไหม้ลดบวม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thairath.co.th.