กากหมากตาฤาษี ใช้เป็นยาสมุนไพรแก้หูเป็นน้ำหนวก แผลเน่าเรื้อรัง

สรรพคุณของสมุนไพร กากหมากตาฤาษี แก้หูเป็นน้ำหนวก แก้แผลเน่าเรื้อรัง

กากหมากตาฤาษี จัดเป็นพืชเบียน เกาะอาศัยแย่งอาหารจากรากพืชชนิดอื่น มีความสูงได้ประมาณ 10-25 เซนติเมตร ลำต้นอยู่รวมกันเป็นก้อนขนาดใหญ่อยู่ใต้ดิน โดยลำต้นจะมีอยู่หลายสี เช่น สีน้ำตาล สีแดง สีแดงปนน้ำตาล สีเหลือง หรือสีเหลืองปนส้ม[1] มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และทวีปออสเตรเลีย ส่วนในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยพบขึ้นในป่าดิบชื้นทั่วไป บนเขาสูง ที่ความสูง 500-2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล โดยมักเกาะเบียนพืชในวงศ์ LEGUMINOSAE และพืชในวงศ์ VITACEAE หรือ VITIDACEAE[2]

กากหมากตาฤาษี ชื่อวิทยาศาสตร์ Balanophora fungosa J.R.Forst. & G.Forst. จัดอยู่ในวงศ์ขนุนดิน (BALANOPHORACEAE)[1],[2]

สมุนไพรกากหมากตาฤาษี มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เห็ดหิน (เลย), ว่านดอกดิน (สระบุรี), กากหมากตาฤาษี (ตราด), บัวผุด (ชุมพร), ดอกกฤษณารากไม้ (ประจวบคีรีขันธ์), กกหมากพาสี (ภาคเหนือ), ขนุนดิน (ภาคกลาง) เป็นต้น[1],[2]

ใบกากหมากตาฤาษี ใบเป็นใบเดี่ยว เรียบเวียนรอบลำต้น ใบมีขนาดเล็ก มีประมาณ 10-20 ใบ ใบเป็นสีเหลืองอมส้ม สีเหลืองอมแดง หรือสีน้ำตาล ปลายใบแหลม มีขนาดกว้างมากที่สุดประมาณ 2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3 เซนติเมตร[1],[2]

ดอกกากหมากตาฤาษี ออกดอกเป็นช่อ ดอกเป็นสีแดงอมน้ำตาล มีกลิ่นหอมเอียน ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่คนละต้น ช่อแก่จะชูก้านขึ้นพ้นผิวดินเป็นกลุ่มหรือเป็นกระจุก กลุ่มหนึ่งอาจมีดอกถึง 10 ดอก โดยช่อดอกเพศผู้มีลักษณะเป็นรูปไข่แกมรี มีขนาดกว้างประมาณ 2-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-15 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร กาบรองดอกเป็นรูปเหลี่ยมหรือมน ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ดอกมีจำนวนมาก กลีบดอกมีประมาณ 4-5 กลีบ สีเหลืองอมเขียวอ่อน มีขนาดเล็กมาก ดอกเรียงชิดกัน ไม่เบี้ยว กลีบดอกมีขนาดเท่ากัน มีเกสรเพศผู้ 4-5 อัน เชื่อมติดกันเป็นก้อนแบนแคบ ๆ ยาวได้ประมาณ 2.5-5 มิลลิเมตร ตุ่มเกสรเป็นรูปเกือกม้า

ส่วนช่อดอกเพศเมียจะเป็นสีน้ำตาลอมแดง ลักษณะค่อนข้างกลมหรือรี มีขนาดประมาณ 2-10 เซนติเมตร ดอกเล็กละเอียดจำนวนมากอยู่ชิดกันแน่น ออกดอกในช่วงประมาณเดือนกันยายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พบออกดอกนอกฤดูกาลบ้าง แต่ก็ไม่บ่อยนัก[1],[2]

สรรพคุณของกากหมากตาฤาษี

ทั้งต้นกากหมากตาฤาษี มีรสฝาด แพทย์ตามชนบทจะเอาผลตากแห้ง นำมาฝนกับน้ำฝนบนฝาละมีหม้อดิน ใช้เป็นยาแก้หูเป็นน้ำหนวก แก้แผลเน่าเรื้อรังเป็นอย่างดี (ต้น)[1]

ชาวบ้านในแถบตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จะนำหัวของกากหมากตาฤาษี ไปผสมกับสมุนไพรอื่น ๆ ทำเป็นยาแก้หอบหืดมานมนาน ซึ่งว่านับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าทึ่ง เพราะมีรายงานทางด้านการแพทย์ว่า ลำต้นที่มีลักษณะเป็นหัวที่ฝังอยู่ใต้ดินนำมาสกัดได้สารโคนิเฟอริน (coniferin) สามารถใช้ทำยาแก้โรคหอบหืดได้ (ต้น)[3]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  “กากหมากตาฤาษี”.  หน้า 72.
  2. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กากหมากตาฤาษี”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.
  3. กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม.  “สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่า ขนุนดิน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamensis.org.