กะเม็งตัวผู้ สมุนไพรยาบำรุงโลหิต ช่วยรักษาโรคกระเพาะ

สรรพคุณและประโยชน์ของต้น กะเม็งตัวผู้  เป็นยาบำรุงโลหิต ช่วยรักษาโรคกระเพาะ

ต้นกะเม็งตัวผู้ จัดเป็นสมุนไพรประเภทไม้ล้มลุก มีลำต้นเลื้อยและชูขึ้น ลำต้นมีความสูงประมาณ 4-20 นิ้ว เป็นพรรณไม้ที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินที่ชื้นแฉะ และขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด[1] กะเม็งตัวผู้ ชื่อวิทยาศาสตร์ Sphagneticola calendulacea (L.) Pruski  (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Wedelia chinensis (Osbeck) Merr.) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE) เช่นเดียวกับกะเม็งตัวเมีย

กะเม็งตัวผู้ ชื่อสามัญ Chinese wedelia[2]

สมุนไพรกะเม็งตัวผู้ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ฮ่อมเกี่ยวคำ (เชียงใหม่), กะเม็งดอกเหลือง (คนไทย), อึ้งปั้วกีเชา (จีน)[1],[3]

ใบกะเม็งตัวผู้ ลักษณะของใบเป็นรูปหอกแกมรูปขอบขนาน โคนใบสอบแคบ ส่วนปลายใบเรียวแหลม หลังใบและท้องใบมีขนขึ้นประปราย ส่วนขอบใบเป็นหยักตื้น ๆ ใบมีความยาวประมาณ 0.5-3 นิ้วและกว้างประมาณ 0.5-1 นิ้ว มีก้านใบสั้น[1]

ดอกกะเม็งตัวผู้ ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวที่บริเวณยอด ลักษณะของดอกมีขนาดเล็ก เมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบดอกวงนอกมีลักษณะเป็นรูปรางน้ำ ปลายกลีบดอกเป็นหยัก 3 หยัก โดยกลีบดอกมีความยาวประมาณ 8-11 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกวงในลักษณะเป็นรูปท่อ ที่ปลายของกลีบดอกหยักเป็นแฉก 5 แฉก โดยกลีบดอกมีความยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร ที่กลางดอกมีเกสรตัวผู้โผล่พ้นมาจากกลีบดอก และมีเกสรตัวเมียที่แยกออกเป็นแฉกโค้ง[1]

ผลกะเม็งตัวผู้ ลักษณะเป็นรูปสอบแคบ ผิวผลขรุขระไม่เรียบ ผลมีรยางค์เป็นรูปถ้วย มีขนาดเล็กประมาณ 4-5 มิลลิเมตร[1]

สรรพคุณของกะเม็งตัวผู้

  • ใบกะเม็งตัวผู้ใช้เป็นยาบำรุง (ใบ)[1]
  • ช่วยบำรุงโลหิต ด้วยการใช้ทั้งต้นสดหรือแห้งนำมาต้มหรือทำเป็นผงใช้กิน (ทั้งต้น)[3]
  • ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ใบ)[1]
  • ใบกะเม็งตัวผู้ช่วยแก้อาการไอ (ใบ)[1] หรือจะใช้ทั้งต้นสดหรือแห้งนำมาต้มหรือทำเป็นผงใช้กินก็ได้ (ทั้งต้น)[3]
  • ช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นเลือด โดยนำลำต้นมาตากแห้งใช้ชงเป็นยาดื่ม หรือจะใช้ทั้งต้นสดหรือแห้งนำมาต้มหรือทำเป็นผงใช้กินก็ได้ (ลำต้น, ทั้งต้น)[1],[3]
  • ช่วยรักษาโรคกระเพาะครากหรือโรคกระเพาะอักเสบ ด้วยการใช้ลำต้นตากแห้งชงเป็นยาดื่ม (ลำต้น)[1]
  • ช่วยล้างพิษหรือสารตกค้างจากไต ทำให้ไตสมบูรณ์ ส่งผลทำให้ร่างกายแข็งแรง ไม่มีอาการปวดเมื่อย ช่วยชะลอความแก่ ทำให้ผิวพรรณสดใส ไม่ตกกระ ด้วยการใช้ทั้งต้นแห้งประมาณ 1 กำมือนำมาต้มกับน้ำจนเดือด ใช้ดื่มครั้งละ 1 แก้ว เช้า กลางวัน และเย็น หรือใช้ต้มดื่มแทนน้ำทั้งวันก็ได้เช่นกัน (ทั้งต้น)[3]
  • ช่วยแก้โรคผิวหนัง (ใบ)[1]
  • ลำต้นนำมาตำให้ละเอียดผสมกับข้าว ใช้พอกแก้อาการปวดบวม (ลำต้น)[1]

ประโยชน์ของกะเม็รงตัวผู้

  • ลำต้นช่วยทำให้น้ำสะอาด[1]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).
  2. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.  “Wedelia chinensis”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: en.wikipedia.org/wiki/Wedelia_chinensis.
  3. ไทยรัฐออนไลน์.  “กะเม็ง ล้างพิษตกค้างจากไต”.  (นายเกษตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thairath.co.th.