กะหล่ำดอก  สมุนไพรที่ช่วยแก้อาการปวดศีรษะชนิดเรื้อรัง โรคหอบหืด

สรรพคุณสมุนไพร ดอกกะหล่ำ ช่วยแก้อาการปวดศีรษะชนิดเรื้อรัง รักษาโรคหอบหืด หลอดลมอักเสบ

กะหล่ำดอก มีถิ่นกำเนิดในแถบชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก จัดเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุเพียงปีเดียวหรือสองปี ไม่มีเนื้อไม้ ลำต้นตั้งตรง มีความสูงของลำต้นประมาณ 50-80 เซนติเมตร เมื่อโตเต็มที่จะออกดอกและสูงได้ประมาณ 90-150 เซนติเมตร ขนาดดอกหนักประมาณ 0.5-1.2 กิโลกรัม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10-20 เซนติเมตร และมีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 60-90 วัน ระบบรากแผ่กระจายบนชั้นดินลึกไม่เกิน 30 เซนติเมตร มีรากแขนงขนาดใหญ่ที่อาจชอนไชลงไปในดินได้ลึกกว่านี้ ลำต้นไม่มีการแตกแขนง ส่วนของลำต้นยาวได้ประมาณ 20-30 เซนติเมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดแล้วย้ายกล้าไปปลูก เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศเย็นที่อุณหภูมิระหว่าง 14-20 องศาเซลเซียส[1]

กะหล่ำดอก ชื่อวิทยาศาสตร์ Brassica oleracea L. var. botrytis L., Brassica oleracea L. cv. Group Cauliflower จัดอยู่ในวงศ์ BRASSICACEAE (CRUCIFERAE)[1]

กะหล่ำดอก (ดอกเขียวและดอกขาว) มีชื่อสามัญว่า Cauliflower, Heading Broccoli ส่วนกะหล่ำดอกม่วง จะมีชื่อสามัญว่า Purple cauliflower[1]

กะหล่ำดอก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กะหล่ำต้น ผักกาดดอก (ทั่วไป) เป็นต้น

ลักษณะของกะหล่ำดอก

ใบกะหล่ำดอก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนอันกันเป็นกระจุกคล้ายดอกกุหลาบซ้อน มีใบประมาณ 15-25 ใบ อยู่เรียงโดยรอบช่อดอก ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ใบกว้างที่ขอบใบเป็นคลื่นนั้นจะมีขนาดกว้างประมาณ 30-40 เซนติเมตร และยาวประมาณ 40-50 เซนติเมตร ส่วนใบผอมเรียวนั้นขอบใบจะเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 20-30 เซนติเมตร และยาวประมาณ 70-80 เซนติเมตร ผิวใบเรียบมีชั้นของไขห่อหุ้มผิวใบอยู่ แผ่นใบเป็นสีเทาจนถึงสีเขียวปนฟ้า เส้นกลางใบและเส้นใบเป็นสีขาว ไม่มีก้านใบ[1]

ดอกกะหล่ำ พืชผักชนิดนี้ผู้บริโภคจะใช้ส่วนของดอกที่อยู่บริเวณปลายยอดของลำต้น ช่อดอกเป็นกระจุกลักษณะคล้ายโดม ดอกเป็นสีขาวถึงสีเหลืองอัดกันแน่นจนแยกจากกันเป็นดอกเดี่ยวไม่ได้ ก้านช่อดอกสั้นและฉ่ำน้ำ ช่อดอกมีลักษณะหลวมหรือเบียดกันแน่น อาจมีลักษณะเป็นทรงกลมหรือแบน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10-40 เซนติเมตร กระจุกช่อดอกประกอบไปด้วยช่อดอกหลายช่อ

ในแต่ละช่อจะเป็นช่อแบบกระจะยาวประมาณ 40-70 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ดอกมีครบทั้ง 4 ส่วน เป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ กลีบเลี้ยงตั้งตรงสีเขียว กลีบดอกเป็นรูปช้อนสีเหลืองจนถึงสีขาว มีขนาดกว้างประมาณ 10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 6 อัน แบ่งเป็นขนาดสั้น 2 อัน และยาว 4 อัน รังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ มี 2 รังไข่เชื่อมติดัน มีผนังเทียมกั้นอยู่ตรงกลาง มีต่อมน้ำ 2 อัน อยู่ระหว่างรังไข่ และเกสรเพศผู้ที่มีลักษณะสั้น

ส่วนก้านช่อดอกและก้านดอกพองขยายออกรองรับกระจุกดอก ขนาดและลักษณะของช่อดอกจะแตกต่างกันออกไปตามพันธุ์ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ตามอายุการเก็บเกี่ยว คือ พันธุ์เบา (Early Snowfall, Burpeeana, Snow Drift), พันธุ์กลาง (Snowfall, Halland Erfurt Improve, Cauliflower Main Crop Snowfall), และพันธุ์หนัก (Winler, Putna) ดอกกะหล่ำมีลักษณะอวบและกรอบ ซึ่งเราจะเรียกส่วนนี้ว่า “ดอกกะหล่ำ” ถ้าหากให้ปล่อยเจริญเติบโตต่อไป ก็จะพัฒนากลายเป็นช่อดอกและติดเมล็ดได้ต่อไป[1]

ผลกะหล่ำดอก ผลแตกแบบผักกาด มีขนาดกว้างประมาณ 0.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร มีเมล็ดประมาณ 10-30 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลมเป็นสีน้ำตาล มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-4 มิลลิเมตร

สรรพคุณของกะหล่ำดอก

  • ช่วยแก้อาการปวดศีรษะชนิดเรื้อรัง[2]
  • ช่วยรักษาโรคหอบหืด หลอดลมอักเสบ ด้วยการดื่มน้ำกะหล่ำดอกประมาณ 1-2 ออนซ์ทุกวัน[2]
  • ช่วยรักษาแผลในปาก ด้วยการใช้กะหล่ำดอกนำมาคั้นเอาน้ำ แล้วนำน้ำที่ได้ไปใช้อมกลั้วปาก[2]
  • น้ำคั้นจากกะหล่ำดอกยังใช้อมกลั้วปาก เพื่อรักษาอาการเจ็บคอ แก้คออักเสบได้ด้วย[2]
  • กะหล่ำดอกสดมีสรรพคุณช่วยรักษาแผลเรื้อรัง โรคเรื้อนกวาง[2]

ประโยชน์ของกะหล่ำดอก

กะหล่ำดอกเป็นผักอีกชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ทำอาหารได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอาหารระดับโรงแรม ระดับภัตตาคาร หรือในร้านข้าวแกง รวมไปถึงในครัวของแต่ละบ้าน สาเหตุที่กะหล่ำดอกได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากนั้นก็เนื่องมาจากผักชนิดนี้มีรสชาติอร่อย กรอบหวาน ดอกเป็นสีเหลืองดูน่ารับประทาน สามารถใช้ประกอบอาหารได้หลายเมนู เช่น ผัด แกง ใช้ทำผักดอก หรืออื่น ๆ อีกมากมาย[1]

กะหล่ำดอกเป็นผักที่ขายได้ราคาดี ไม่ค่อยเกิดความเสียหายในระหว่างการขนส่ง สามารถเก็บไว้ได้นานกว่าผักอื่นหลายชนิด เนื่องจากมีลำต้นที่แข็งแรง เนื้อแน่น และไม่อวบน้ำ สามารถนำเอาส่วนของดอกทั้งสีขาวและสีม่วงมาใช้ประกอบอาหารได้เหมือนบร็อคโคลี่ และสีม่วงของดอกยังช่วยเพิ่มสีสันของอาหารให้ดูสวยงามน่ารับประทานมากยิ่งขึ้นอีกด้วย[1]

กะหล่ำดอกอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อีกทั้งยังมีสารเอนไซม์ ซัลโฟราเฟน (sulforaphane), ไดไทอัลไทโอน (dithiolthiones), กลูโคไซโนเลท (glucosinolates), สารไอโซไทโอไซยาเนท (isothiocyanates), สารผลึกอินโดล (indoles), อินโดล ทรี คาร์บินัล (indole-3-carbinal), สารฟีโนลิกส์ (phenolics), กรดโฟลิกและคูมารีน ( folic acid & coumarines) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกะหล่ำดิบนั้นจะมีวิตามินซีสูง มีโพแทสเซียม กำมะถัน และมีเส้นใยมาก โดยสารซัลโฟราเฟนจะช่วยต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง ส่วนกรดโฟลิกนั้นจะช่วยป้องกันโรคมะเร็งลำไส้และมะเร็งเต้านม สารอินโดลจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันและต้านมะเร็งบางชนิดได้ดี และสารอินโดล ทรี คาร์บินัลจะช่วยป้องกันมะเร็งเต้านม เป็นต้น[2]

ในกะหล่ำดอกจะมีสารที่สามารถดึงสารก่อมะเร็งที่เรียกว่าคาร์ซิโนเจน (carcinogens) ออกจากเซลล์ กลไกที่เกิดขึ้นคือ สาร sulforaphane ทำให้มีการผลิตเอนไซม์ phase II มากขึ้น ซึ่งสามารถไปลดการผลิตเอนไซม์ phase I ที่เป็นอันตรายได้ เพราะเอนไซม์ phase II สามารถไปทำอันตรายสารพันธุกรรมในเซลล์ (cellular DNA)[2]

พืชผักในวงศ์ CRUCIFERAE รวมไปถึงกะหล่ำดอก จะมีสารประกอบที่สามารถต้านอนุมูลอิสระได้ดี จึงช่วยต้านมะเร็งได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ดี[2]

ผักกะหล่ำดอกสามารถช่วยควบคุมการทำงานของหัวใจและความดันโลหิตได้ เนื่องจากมีโพแทสเซียมสูง[2]

กะหล่ำดอกมีวิตามินซีสูง การรับประทานเป็นประจำสามารถช่วยป้องกันและรักษาหวัด โรคเลือดออกตามไรฟัน ช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกาย ทำให้ผู้ที่อ่อนแอหรือผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว

กะหล่ำดอกเป็นผักที่อุดมไปด้วยโคลีน ซึ่งมีบทบาทในการพัฒนาและบำรุงสมองของทารกในครรภ์

กะหล่ำดอกเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ที่ควบคุมน้ำหนัก เพราะให้พลังงานต่ำ ไม่ต้องกลัวอ้วน และรับประทานได้ง่าย เพราะอร่อย ไม่ขมหรือเหม็นเขียวเหมือนกับผักชนิดอื่น ๆ

กะหล่ำดอกอุดมไปด้วยเส้นใยอาหาร จึงช่วยในการขับถ่าย ขับล้างสารพิษในร่างกาย

ช่วยต้านการอักเสบ ช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดหลอด โรคหลอดเลือดในสมอง

วิตามินยูเป็นวิตามินที่พบได้ในพืชตระกูลกะหล่ำ ซึ่งทางการแพทย์จะเรียกว่าวิตามินยูว่า เอส มีไทล์เมทิโอนีน (S-methylmethionine) ซึ่งทางการแพทย์จะใช้สารชนิดนี้ในการช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหารและช่วยบรรเทาอาการปวดท้องที่มีสาเหตุมาจากแผลในกระเพาะ ช่วยทำให้การหลังของน้ำย่อยนั้นเป็นปกติ และช่วยหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในลำไส้ได้ แถมยังช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญของฮอร์โมนเอสโทรเจนในร่างกายได้อีกด้วย ดังนั้นการรับประทานพืชตระกูลกะหล่ำซึ่งมีวิตามิยูอยู่เป็นประจำ จึงช่วยลดอัตราเสี่ยงของมะเร็งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศหญิงได้ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ และมะเร็งเต้านม เป็นต้น[3]

คุณค่าทางโภชชนาการของกะหล่ำดอก ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 25 กิโลแคลอรี่
  • คาร์โบไฮเดรต 4.97 กรัม
  • น้ำตาล 1.91 กรัม
  • ใยอาหาร 2.0 กรัม
  • ไขมัน 0.28 กรัมกะหล่ําดอก
  • โปรตีน 1.92 กรัม
  • น้ำ 92.07 กรัม
  • วิตามินบี1 0.05 มิลลิกรัม (4%)
  • วิตามินบี2 0.06 มิลลิกรัม (5%)
  • วิตามินบี3 0.507 มิลลิกรัม (3%)
  • วิตามินบี6 0.184 มิลลิกรัม (14%)
  • วิตามินบี9 57 ไมโครกรัม (14%)
  • วิตามินซี 48.2 มิลลิกรัม (58%)
  • วิตามินอี 0.08 มิลลิกรัม (1%)
  • วิตามินเค 15.5 ไมโครกรัม (15%)
  • แคลเซียม 22 มิลลิกรัม (2%)
  • ธาตุเหล็ก 0.42 มิลลิกรัม (3%)
  • แมกนีเซียม 15 มิลลิกรัม (4%)
  • แมงกานีส 0.155 มิลลิกรัม (7%)
  • ฟอสฟอรัส 44 มิลลิกรัม (6%)
  • โพแทสเซียม 299 มิลลิกรัม (6%)
  • โซเดียม 30 มิลลิกรัม (2%)
  • สังกะสี 0.27 มิลลิกรัม (3%)

% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

คำแนะนำในการรับประทานกะหล่ำดอก

ในการรับประทานกะหล่ำดอกอย่าปรุงสุกมากจนเกินไป เพราะการปรุงสุกเกินไปจะทำลายคุณสมบัติทางยาของกะหล่ำดอกได้[2]

เนื่องจากดอกกะหล่ำนั้นมีสารพิวรีนในระดับปานกลาง ผู้ที่เป็นโรคเก๊าท์ควรรับประทานในปริมาณที่จำกัด ควรงดเว้นและหลีกเลี่ยง เพราะอาจทำให้อาการของโรคกำเริบขึ้นมาได้

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. กลุ่มสื่อส่งเสริมการเกษตร ส่วนส่งเสริมและเผยแพร่ สำนักพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมส่งเสริมการเกษตร.
  2. รายการสาระความรู้ทางการเกษตร ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่.  “กะหล่ำดอกและกะหล่ำปลี”.  บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร ประจำวันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2545.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th.
  3. นิตยสารเฮลท์แชนเเนล ปีที่ 6 ฉบับที่ 68 ประจำเดือนกรกฎาคม 2554.