กะเรกะร่อน สมุนไพรแก้หูเป็นน้ำหนวก ซับเลือดหรือใส่แผลเน่า

สรรพคุณของสมุนไพร  กะเรกะร่อน แก้หูเป็นน้ำหนวก ซับเลือดหรือใส่แผลเน่า

กะเรกะร่อน มีเขตการกระจายพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[4] จัดเป็นกล้วยไม้อิงอาศัยเกาะอยู่ตามต้นไม้อื่น ๆ ลำต้นมีขนาดสั้น เกาะรวมกันเป็นกระจุกแน่น (ลำต้นเป็นหัวรูปรี มีหลายข้อ และขึ้นชิดกันเป็นกอ ๆ) ต้นมีรากออกเป็นเส้นแข็งชี้ขึ้นไปในอากาศ สามารถพบได้ตามป่าผลัดใบและป่าไม่ผลัดใบ (บ้างว่าพบได้ตามป่าเต็งรัง[4]) ตามที่โล่งแจ้งมีแสงแดดจัด ในระดับหลายความสูง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ[1],[2] พืชชนิดนี้เป็นพืชคนละชนิดกับ “กะเรกะร่อนปากเป็ด” (Cymbidium finlaysonianum Lindl.)

กะเรกะร่อน ชื่อวิทยาศาสตร์ Cymbidium aloifolium (L.) Sw.[1] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cymbidium simulans Rolfe[5], Epidendrum aloifolium L.[5]) จัดอยู่ในวงศ์กล้วยไม้ (ORCHIDACEAE)[1]

สมุนไพรกะเรกะร่อน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เอื้องปากเป็ด (เชียงใหม่), เอื้องด้ามข้าว (ลำปาง), กล้วยหางไหล (ชุมพร), กาเรการ่อน (ภาคกลาง) เป็นต้น[1]

ใบกะเรกะร่อน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมนเว้าเล็กน้อย โคนใบสอบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร แผ่นใบมีลักษณะหนาแข็ง หลังใบและท้องใบเรียบ[1]

ดอกกะเรกะร่อน ออกดอกเป็นช่อสายห้อยลง โดยจะออกที่โคนต้น มีช่อดอกประมาณ 1-2 ช่อ ช่อดอกมีความยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร ในช่อดอกมีดอกย่อยจำนวนมาก (ประมาณ 17-26 ดอก) ดอกมีขนาดประมาณ 2.5 เซนติเมตร (บ้างว่าเส้นผ่านศูนย์กลางดอกกว้างประมาณ 3.5 เซนติเมตร) กลีบดอกสั้นสีเหลืองมีลักษณะเป็นรูปแถบ มีแถบสีม่วงหรือสีน้ำตาลอมแดงขอบขาว ส่วนกลีบเลี้ยงมี 3 กลีบ มีลักษณะเป็นรูปแถบ โดยกลีบดอกจะแคบและสั้นกว่ากลีบเลี้ยง ดอกมีเกสรเพศผู้มีสีเหลือง โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน (บ้างว่าจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคม)[1],[2],[4],[5]

ผลกะเรกะร่อน ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก เป็นพู 5 พู ผิวผลเรียบ (บ้างว่า ผลมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานสีน้ำตาล ยาวประมาณ 6-7 เซนติเมตร[4]) ผลเป็นสีเขียวอมสีเหลือง เมื่อผลแห้งจะแตกได้ ในผลมีเมล็ดเป็นผงละเอียดจำนวนมาก[1]

สรรพคุณของกะเรกะร่อน

  • ใบสดเมื่อนำไปลนไฟให้นุ่มแล้วบีบเอาน้ำมาหยอดหู แก้หูเป็นน้ำหนวก (ใบสด)[1]
  • เมล็ดนำมาใช้โรยใส่แผลเพื่อซับเลือดหรือใส่แผลเน่า (ชาวเมี่ยน) (ใบสด)[3]

ประโยชน์ของกะเรกะร่อน

  • นอกจากจะใช้เป็นยาสมุนไพรแล้ว ยังสามารถนำปลูกเป็นไม้ประดับได้อีกด้วย[4]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “กะเรกะร่อน (Kare Karon)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 45.
  2. โครงการรวบรวมข้อมูลพันธุ์กล้วยไม้พื้นเมืองในจังหวัดอุบลราชธานี, คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “กะเรกะร่อน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.agri.ubu.ac.th.
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “กะเรกะร่อน”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย.  (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.
  4. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ, สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “กะเรกะร่อน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: biodiversity.forest.go.th.
  5. ความหลากชนิดของกล้วยไม้ป่าจากตลาดชายแดนไทย-พม่า ทางภาคตะวันตกของประเทศไทย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “กะเรกะร่อน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: pirun.kps.ku.ac.th/~b4816185/.