กะพวมมะพร้าว สมุนไพร บำบัดโรคริดสีดวงทวาร แก้อาการผิดเดือน

WM

ภาพจาก medthai

สมุนไพร กะพวมมะพร้าว ที่มีสรรพคุณ บำบัดโรคริดสีดวงทวาร แก้อาการผิดเดือน

กะพวมมะพร้าว จัดเป็นสมุนไพรกลุ่มพรรณไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงได้ประมาณ 7-15 เมตร เปลือกต้นเป็นสีขาว ตามกิ่งอ่อนมีขนสีเหลือง จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือวิธีการตอนกิ่ง มีเขตการกระจายพันธุ์ในเทือกเขาหิมาลัยตอนใต้ อินเดีย ศรีลังกา และในภูมิภาคมาเลเซีย ส่วนในประเทศไทยพบได้ทางภาคเหนือและภาคใต้ โดยมักพบขึ้นตามป่าดิบ ทุ่งหญ้าคา และบริเวณฝั่งน้ำทั่วไป[1],[2]

กะพวมมะพร้าว ชื่อวิทยาศาสตร์ Vernonia arborea Buch.-Ham. จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1],[2]

สมุนไพรกะพวมมะพร้าว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หนาดจืด (คนเมือง), จวง อ้ายเหนียวหมา (นครศรีธรรมราช), นวลแป้ง (สุราษฎร์ธานี), ตอนเลาะ (กระบี่), สมองกุ้ง (ตรัง), กะพวมมะพร้าว กะพอมมะพร้าว (สงขลา), ขี้อ้น (ยะลา), กะพวม งวงช้าง (ภาคใต้) เป็นต้น[1],[2],[3]

ใบกะพวมมะพร้าว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปขอบขนานแกมรี ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบเป็นรูปลิ่มหรือสอบเข้ากัน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-7.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ส่วนด้านล่างมีขน หรือมีขนขึ้นตามเส้นใบ เส้นแขนงใบมีข้างละ 8-13 เส้น ก้านใบยาวได้ประมาณ 1-2 เซนติเมตร[2]

ดอกกะพวมมะพร้าว ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่นบริเวณปลายยอด มีหลายช่ออยู่รวมกันเป็นช่อแยกแขนง ในแต่ละช่อจะมีวงใบประดับ 5-6 ชั้น ลักษณะเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่ มีขนที่ปลาย มีขนาดกว้างประมาณ 4-6 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร มี 5-6 ดอก กลีบเลี้ยงลดรูปเป็นเส้นยาวประมาณ 5-7 มิลลิเมตร ที่ปลายเส้นมีขนยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร 2-3 เส้น ดอกเป็นสีขาวหรือสีม่วง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ส่วนปลายจักเป็น 5 จัก มีเกสรเพศผู้ 5 อัน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ[2]

ผลกะพวมมะพร้าว ผลเป็นรูปกิ่งสามเหลี่ยม ผลยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร มีสันตามยาว 10 สัน ผิวผลเกลี้ยงหรือมีขนนุ่มห่าง ๆ[2] รยางค์เป็นสีขาวหม่น ๆ มักเรียงกันเป็นวง 2 วง โดยวงในจะยาวกว่าวงนอก ยาวได้ประมาณ 5-7 มิลลิเมตร[1]

WM
ภาพจาก medthai

สรรพคุณของกะพวมมะพร้าว

  • ใบใช้เป็นยาชงดื่ม มีฤทธิ์เป็นยาช่วยย่อยและเป็นยากระตุ้น (ใบ)[1] ส่วนในมาเลเซียจะใช้ยาชงจากทั้งต้นกะพวมมะพร้าว เป็นยาช่วยย่อย (ทั้งต้น)[2]
  • อินโดนีเซียจะใช้เปลือกเคี้ยวเป็นยาบำบัดโรคริดสีดวงทวารหนักในระยะเริ่มแรก (เปลือก)[2]
  • ลำต้นนำไปต้มรวมกับปูเลย เถารางจืด และกิ่งเปล้าน้อย ใช้เป็นยาห่มให้สตรีหลังคลอดบุตรที่อยู่ไฟ (ลำต้น)[3]
  • คนเมืองจะใช้ลำต้นนำมาฝนกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการผิดเดือน (ลำต้น)[3]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  “กะพวมมะพร้าว”.  หน้า 50-51.
  2. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กะพวมมะพร้าว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “กะพวมมะพร้าว”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.