กุหลาบมอญ(ดอกยี่สุ่น)สมุนไพร บำรุงหัวใจ แก้อาการอ่อนเพลีย

WM

ภาพจาก medthai

สมุนไพร กุหลาบมอญ(ดอกยี่สุ่น)ช่วย บำรุงหัวใจ แก้อาการอ่อนเพลีย ขับน้ำดี

กุหลาบมอญ หรือ ต้นยี่สุ่น เป็นสมุนไพรและกุหลาบพันธุ์พื้นเมืองของหงสาวดีหรือที่รู้จักกันว่าเป็นเมืองของชาวมอญในอดีต เป็นดอกไม้ที่ทรงโปรดของสมเด็จพระนเรศวร พระองค์ทรงนำกลับมาปลูกหลังจากเสร็จสงครามที่เมืองมอญ โดยจัดเป็นไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง มีความสูงของต้นประมาณ 1-2 เมตร แตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น เปลือกต้นเรียบ มีหนามแหลมตามกิ่ง

ตามลำต้น ปกติมีหนามมากและมีความยาวไม่เท่ากัน มีลักษณะตรงถึงโค้งเล็กน้อย หนามอ่อนเป็นสีน้ำตาลแกมสีแดง ส่วนหนามแก่เป็นสีเทา ต้นกุหลาบมอญเป็นไม้ดอกกลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดีในที่โล่งกลางแจ้งและในดินร่วนซุยที่มีธาตุอาหารเพียงพอและระบายน้ำได้ดี ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การปักชำกิ่ง และวิธีการตอนกิ่งซึ่งเป็นที่นิยมที่สุด เนื่องจากออกรากได้ง่าย[1],[3],[4],[6],[7]

กุหลาบมอญ ชื่อสามัญ Damask rose, Pink damask rose, Summer damask rose, Rose[1],[2],[3],[4],[5]

กุหลาบมอญ ชื่อวิทยาศาสตร์ Rosa × damascena Mill. จัดอยู่ในวงศ์กุหลาบ (ROSACEAE)[1],[2],[3],[4],[5]

สมุนไพรกุหลาบมอญ มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ยี่สุ่น (ภาคกลาง), กุหลาบออน (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น[1],[2],[5]

ใบกุหลาบมอญ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ปลายใบคี่ ออกเรียงสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 3-5 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบเป็นจักแบบฟันเลื่อยตลอดทั้งขอบใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร แผ่นใบด้านล่างมีขนไม่มีต่อม หูใบส่วนใหญ่ขอบเรียบ ปลายยื่นยาว ส่วนก้านใบมีขนสีน้ำตาลแดง[1],[3]

ดอกกุหลาบมอญ หรือ ดอกยี่สุ่น ออกดอกเป็นช่อแบบกระจะหรือช่อแบบกระจุกแตกแขนง มีประมาณ 3-10 ดอก หรืออาจมีมากกว่านี้ โดยจะออกดอกบริเวณปลายยอด ดอกย่อยเป็นสีชมพูและมีกลิ่นหอม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกว้างถึง 8 เซนติเมตร กลีบดอกมีลักษณะค่อนข้างกลมเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ปลายกลีบดอกมน หรือเป็นหยักตื้น ๆ หรือเป็นคลื่น กลีบดอกโดยปกติแล้วจะมีประมาณ 20-30 กลีบ ถ้ากลีบไม่ปกติจะมีประมาณ 5-10 กลีบต่อดอก กลีบดอกมีตั้งแต่สีแดงจนถึงสีขาว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นสีชมพูกุหลาบถึงแดง ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก มีประมาณ 100-120 ก้าน ส่วนเกสรเพศเมียก็มีจำนวนมากเช่นกัน ก้านเกสรมีขน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม เป็นติ่งแหลมกว้าง ม้วนโค้งตอนดอกบาน และจะร่วงในเวลาต่อมา มีต่อม ส่วนฐานรองดอกมีลักษณะเป็นรูปถ้วย ด้านนอกมีต่อมขนอยู่เป็นจำนวนมากและด้านในมีขน ส่วนก้านช่อดอกยาวได้ถึง 7 เซนติเมตรและมีหนามเล็ก ๆ[1],[3]

ผลกุหลาบมอญ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม บ้างว่ารูปไข่ ยาวได้ถึง 2.5 เซนติเมตร ผลเป็นผลสดและเป็นผลกลุ่ม ผลเป็นสีแดงอ่อนถึงเข้ม ในผลมีเมล็ดสีออกน้ำตาลประมาณ 1-3 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปสามเหลี่ยมกลม ยาวประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร[1],[3]

WM
ภาพจาก medthai

สรรพคุณของกุหลาบมอญ

  1. ตำรายาไทยใช้กลีบดอกมีรสสุขม ใช้เข้ายาหอมเป็นยาบำรุงหัวใจ (กลีบดอก, ดอกแห้ง)[1],[2],[3],[5]
  2. ดอกแห้งช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย (ดอกแห้ง)[3],[5]
  3. น้ำดอกไม้เทศที่มีส่วนผสมของกุหลาบมอญ ช่วยแก้อาการอ่อนเพลียและกระวนกระวาย[1],[2]
  4. กลีบดอกช่วยขับน้ำดี (กลีบดอก)[1],[2]
  5. ดอกแห้งใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ (ดอกแห้ง)[1],[3],[5]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกุหลาบมอญ

  • กุหลาบมอญมีฤทธิ์ในการคลายกล้ามเนื้อเรียบ[3]
  • มีฤทธิ์กดการทำงานของกล้ามเนื้อลาย[3]
  • น้ำมันกุหลาบมอญเป็นสารที่มีความปลอดภัยในการใช้ โดยมีค่าทำให้สัตว์ทดลองครึ่งหนึ่ง (LD50) เมื่อให้ยาทางปากกับหนูขาวและให้ยาทาโดยการทาผิวหนังของกระต่ายมากกว่า 5 กรัมต่อกิโลกรัม[3]
  • ประโยชน์ของกุหลาบมอญ
  • ที่เห็นกันอยู่ทั่วไปก็คือ การนำดอกมาใช้ในการร้อยพวงมาลัย ใช้ในการร้อยพวงอุบะดอกไม้ในงานมงคลหรือในงานพิธีต่าง ๆ โดยนำกลีบมาร้อยเป็นพวง[7]
  • กลีบดอกสามารถนำมาชุบแป้งทอด ใช้รับประทานเป็นผักร่วมกับน้ำพริกได้ หรือใช้ทำเป็น “ยำดอกกุหลาบ”[6],[7]
  • สำหรับการใช้ในงานด้านอาหาร เช่น การนำมาแต่งหน้าขนมตะโก้ หรือนำมาใช้โรยบนท่อนอ้อยควั่น เพิ่มความสวยงามให้กับอาหารให้ดูน่ารับประทานยิ่งขึ้น[7]
  • กลีบดอกใช้ทำเป็นชากุหลาบ ด้วยการใช้กลีบกุหลาบที่ตากแห้งแล้วนำมาชงในน้ำเดือด ก็จะได้ชากุหลาบสีสดสวยงาม โดยมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ แก้อาการอ่อนเพลีย และมีฤทธิ์เป็นยาระบายแบบอ่อน ๆ หากมีรสฝาดก็ให้เติมมะนาวหรือเกลือ[7]
  • กลีบดอกสดของกุหลาบมอญมีน้ำมันหอมระเหยที่สามารถนำมาใช้ในการแต่งกลิ่นเครื่องสำอาง แต่งกลิ่นยา แต่งกลิ่นอาหารและน้ำเชื่อมของขนมไทย[1],[2],[3],[4],[5]
  • กลีบดอกนอกจากจะนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยแล้ว ยังนำมาทำดอกไม้ประดิษฐ์และบุหงาได้อีกด้วย[4]
  • น้ำมันกุหลายมอญใช้เป็นหัวน้ำหอมได้[3]
  • น้ำกุหลาบใช้เป็นส่วนผสมของน้ำดอกไม้เทศ (หัวน้ำหอมที่ทำจากดอกกุหลาบชนิดหนึ่ง)[1],[2]
  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากกุหลาบมอญเป็นไม้ดอกที่มีดอกสวยงามและมีกลิ่นหอมแรงมาก ดอกบานได้หลายวัน ออกดอกได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งยังเป็นกุหลาบพันธุ์ที่สามารถปลูกได้ง่าย การดูแลรักษาก็ไม่ยาก[4],[7]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “กุหลาบมอญ (Ku Lhap Mon)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 53.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  “”กุหลาบมอญ”.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  หน้า 181.
  3. ฐานข้อมูลน้ำมันหอมระเหยไทย, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.).  “กุหลาบมอญ”.  อ้างอิงใน: หนังสืออุทยานสมุนไพรพุทธมณฑล, หน้า 21, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย, กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและพลังงาน.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th/essentialoils/.
  4. คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.  “กุหลาบมอญ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.natres.psu.ac.th.
  5. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กุหลาบมอญ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.
  6. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร.  “กุหลาบมอญ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.
  7. หนังสือพิมพ์มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 484, วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553.  “กุหลาบมอญ กุหลาบในตำนาน”.  (องอาจ ตัณฑวณิช).