กล้วยเต่า สมุนไพรดับพิษไข้ทั้งปวง ดับพิษตานซาง และแก้วัณโรค

WM

ภาพจาก medthai

สรรพคุณและประโยชน์ของสมุนไพร กล้วยเต่า ดับพิษไข้ทั้งปวง ดับพิษตานซาง และแก้วัณโรค

กล้วยเต่า จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงได้ประมาณ 1 เมตร ตามกิ่งอ่อนมีขนอ่อนขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่น ส่วนกิ่งแก่จะเรียบเป็นสีน้ำตาล ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย ไม่อุ้มน้ำ ชอบแสงแดดจัด มีเขตการกระจายพันธุ์ในเวียดนามและลาว ในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก โดยพบขึ้นในป่าดิบ ชายป่าหรือป่าโปร่ง ป่าเต็งรัง บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 100-350 เมตร[1],[2],[3],[4]

กล้วยเต่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Polyalthia debilis Finet & Gagnep.[1] จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)[1]

สมุนไพรกล้วยเต่า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ไข่เต่า (เชียงใหม่), ก้นครก (มหาสารคาม, ยโสธร), กล้วยตับเต่า กล้วยเต่า (ราชบุรี), ไข่เต่า ตับเต่า ตับเต่าน้อย (ภาคเหนือ), รกคก (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เป็นต้น[1],[2],[3]

ใบกล้วยเต่า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับในระนาบเดียวกัน ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานจนถึงรูปไข่กลับแกมรูปใบหอก ปลายใบแหลมหรือมนและมีติ่งแหลม โคนใบมนหรือหยักเว้าเล็กน้อย แผ่ใบแคบ มีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-13 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียวเข้มเกลี้ยงเป็นมัน ส่วนท้องใบมีขนและมีสีจางกว่า เส้นแขนงใบมีข้างละ 7-10 เส้น ก้านใบสั้น มีความยาวได้เพียง 3 มิลลิเมตร และมีขนสีเหลืองอ่อนขึ้นหนาแน่น[1],[2]

ดอกกล้วยเต่า ออกเป็นดอกเดี่ยวขนาดเล็กตามง่ามใบ ก้านดอกสั้น ดอกเป็นสีเหลืองอ่อน กลีบดอกเรียงสลับกันมี 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายมน มีขนาดกว้างประมาณ 4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ด้านนอกกลีบมีขนละเอียดสีเหลืองอ่อน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมีขนาดเล็กและมี 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมกลาย ๆ มีขนาดกว้างและยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ด้านนอกมีขนอ่อนนุ่ม ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมากอยู่บนแกนกลางของดอก ส่วนเกสรเพศเมียมี 4 อัน อยู่ที่ปลายของแกนกลางดอก ออกดอกในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม[1],[2]

ผลกล้วยเต่า ออกผลเป็นกลุ่ม อยู่บนแกนตุ้มกลม แต่ละผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก คอดระหว่างเมล็ด ปลายเรียวแหลม ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1.3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ผิวเปลือกผลมีขนอ่อนนุ่ม ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีน้ำตาล ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-3 เมล็ด เมล็ดมีสีน้ำตาล มีลักษณะแบนกลม ก้านผลยาวได้ประมาณ 5 มิลลิเมตร ผลจะแก่ในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม[1],[2],[4]

WM
ภาพจาก medthai

สรรพคุณของกล้วยเต่า

  • รากมีรสเย็น ใช้เป็นยาแก้ตัวร้อน ดับพิษไข้ทั้งปวง ดับพิษตานซาง และแก้วัณโรค (ราก)[5]
  • ทางภาคอีสานจะใช้เหง้า เปลือก และเนื้อไม้กล้วยเต่า นำมาใช้เป็นยาแก้ท้องเสียในเด็ก ถ่ายกะปริบกะปรอยเป็นมูกเลือด (เหง้า, เปลือก, เนื้อไม้)[1]
  • ใช้ต้นหรือรากนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ปวดท้อง (ต้น, ราก)[3]
  • ชาวบ้านในจังหวัดยโสธรจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคกระเพาะ (ราก)[3]

ประโยชน์ของกล้วยเต่า

ผลสุกมีสีเหลือง มีรสหวาน (ในส่วนของเนื้อหุ้มเมล็ด) สามารถนำมารับประทานได้[1],[2],[3],[4]

ใช้เป็นอาหารสัตว์ของโค กระบือ คุณค่าทางอาหาร[3] ที่พบจะมี

  • โปรตีน 12.5%
  • แคลเซียม 0.39%
  • ฟอสฟอรัส 0.22%
  • โพแทสเซียม 1.23%
  • ADF 45.9%
  • NDF 58.4%
  • DMD 30.9%

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  “กล้วยเต่า”.  หน้า 64.
  2. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กล้วยเต่า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.
  3. สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์.  “กล้วยเต่า”. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : nutrition.dld.go.th.
  4. พืชกินได้ในป่าสะแกราช, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.).  “กล้วยเต่า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.tistr.or.th.
  5. สมาคมเภสัชและอายุรเวชโบราณ แห่งประเทศไทย.  “ตับเต่าน้อย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.ayurvedicthai.com.