กล้วยนวล เป็นได้ทั้งอาหารและสมุนไพรใช้รักษาผมร่วง

WM

ภาพจาก medthai

สรรพคุณและประโยชน์ของ กล้วยนวล  ใช้รักษาผมร่วง

กล้วยนวล มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่ประเทศอินเดีย เนปาล พม่า จีนตอนใต้ และในภูมิภาคมาเลเซีย รวมไปถึงนิวกินีและฟิลิปปินส์ด้วย ส่วนในประเทศไทยจะพบได้ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และทางภาคใต้ เป็นกล้วยลำต้นเดี่ยว ไม่มีไหล น้ำยางเป็นสีเหลืองอมส้ม จัดเป็นไม้ล้มลุกที่มีกาบใบกลายเป็นลำต้นเทียม ลำต้นเทียมมีจุดสีดำม่วงกระจาย ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก มีความสูงของต้นประมาณ 5-6 เมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของต้นประมาณ 30-50 เซนติเมตร โคนต้นกว้างอวบใหญ่ ส่วนกาบลำต้นเป็นสีเขียวและมีนวลหนาสีขาว ไม่มีหน่อที่โคนต้น[1],[2],[5] ต้นกล้วยนวลสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ เป็นไม้ล้มลุกที่เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนระบายน้ำได้ดี และขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด[3]

กล้วยนวล ชื่อสามัญ Elephant banana[4], Ensets[5]

กล้วยนวล ชื่อวิทยาศาสตร์ Ensete glaucum (Roxb.) Cheesman[2],[5] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Musa glauca Roxb.)[1],[3] จัดอยู่ในวงศ์กล้วย (MUSACEAE)[1],[2]

สมุนไพรกล้วยนวล มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กล้วยศาสนา (เชียงใหม่), กล้วยโทน (น่าน), กล้วยหัวโต (กรุงเทพฯ), กล้วยญวน, แอพแพละ, นอมจื่อต๋าง (เมี่ยน) เป็นต้น[1],[2],[5],[6]

WM
ภาพจาก medthai

ลักษณะของกล้วยนวล

ใบกล้วยนวล ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปรียาวขอบขนาน ปลายใบยาวคล้ายหาง ส่วนโคนใบมีลักษณะเป็นรูปลิ่ม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 50-60 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.4-1.8 เมตร แผ่นใบเกลี้ยงเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบมีนวลหนา ก้านใบยาวเป็นสีเขียวนวล และมีร่องเปิดที่เส้นกลางใบ ส่วนก้านใบสั้น[1],[3]

ดอกกล้วยนวล ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่คล้ายระฆังห้อยดิ่งลง โดยปลีมีใบประดับขนาดใหญ่สีเขียวเรียงสลับ และชิดติดกันตั้งแต่โคนจนถึงปลาย[1] ช่อดอกหรือปลีมีลักษณะเป็นรูปกรวย ยาวประมาณ 2.5 เมตร มีใบประดับเรียงซ้อนเหลื่อมกัน มีนวลติดทนอยู่ด้านใน แต่ละใบมีประมาณ 10-20 ดอก โดยดอกเพศผู้จะอยู่ช่วงปลาย ส่วนดอกเพศเมียหรือดอกสมบูรณ์เพศจะออกบริเวณช่วงโคน กลีบรวมที่เชื่อมติดกันยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ที่ปลายมี 3 หยัก กลีบรวมที่แยกเป็นรูปหัวใจสั้นกว่ากลีบรวมที่เชื่อมติดกัน ที่ปลายเป็นติ่ง[4]

ผลกล้วยนวล ผลอยู่รวมกันเป็นหวีภายในปลี ผลเป็นผลเดี่ยว ลักษณะของผลเป็นรูปรีสั้น ๆ และมีสันตามยาว ผลมีขนาดกว้างประมาณ 3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6 เซนติเมตร ภายในผลมีเนื้อเยื่อบาง ๆ และมีเมล็ดสีดำขนาดใหญ่ ผิวเรียบและแข็งมาก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร[1],[2],[4]

สรรพคุณของกล้วยนวล

  • รากเหง้าใช้เป็นยาแก้ถ่ายท้องได้เป็นอย่างดี (รากเหง้า)[1]
  • น้ำใส ๆ ที่อยู่ภายในโพรงหัว ใช้รักษาผมร่วง (น้ำใสที่อยู่ในโพรงหัว)[1]
  • ประโยชน์ของกล้วยนวล
  • ผลอ่อนนำมาใช้ทำส้มตำกล้วย[3] หรือใช้รับประทานสด หรือจะใช้ผลดิบเป็นเครื่องเคียงก็ได้[5]
  • ยอดอ่อนนำมาใช้ทำแกงหยวกกล้วยใส่ไก่ มีรสหวานเล็กน้อย[3]
  • ปลีกล้วยสามารถนำมารับประทานได้ด้วยการนำไปแกง (เมี่ยน)[2]
  • บ้างว่ากล้วยชนิดนี้รับประทานไม่ได้ แต่สามารถนำมาใช้เลี้ยงสุกรได้[4] โดยกาบกล้วยใช้เป็นอาหารสุกร (เมี่ยน)[2]
  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปในสวน[5]
  • ใบนำมาใช้รองผักหญ้า รองข้าวเหนียวตอนอุ่นในลังถึง หรือใช้กาบใบนำมาทำเชือกสำหรับรัดสิ่งของ หรือใช้สับทำปุ๋ยใส่โคนต้นไม้อื่น[6]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  “กล้วยนวล”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, รศ.ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  หน้า 65.
  2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน).  “กล้วยหัวโต, กล้วยนวล”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.
  3. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร.  “กล้วยนวล”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.
  4. สำนักงานหอพรรณไม้, สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  (29 พฤศจิกายน 2547).  “กล้วยนวล”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th/botany/.
  5. ห้องสมุดความรู้การเกษตร, กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.  “กล้วยนวล”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doae.go.th/library/html/index_netscape.html.