กล้วยหมูสัง เป็นสมุนไพรบรรเทาอาการท้องขึ้น ท้องเฟ้อ ปวดท้อง

WM

ภาพจาก medthai

สรรพคุณและประโยชน์ของ กล้วยหมูสัง บรรเทาอาการท้องขึ้น ท้องเฟ้อ บำบัดอาการปวดท้อง

กล้วยหมูสัง จัดเป็นสมุนไพรพรรณไม้เถาเนื้อแข็งขนาดใหญ่ แยกจากโคนต้นได้หลายเถา สามารถเลื้อยพาดตามพุ่มไม้ไปได้ไกลถึง 30 เมตร เนื้อไม้เหนียวแข็ง ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมเหลืองขึ้นหนาแน่น จัดเป็นพืชหายากชนิดหนึ่ง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ปักชำกิ่ง และวิธีการตอนกิ่ง ชอบดินร่วน ต้องการน้ำปานกลาง และในที่ที่มีแสงแดดทั้งวัน มีเขตการกระจายพันธุ์ในจีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย ส่วนในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์ทางภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงใต้ โดยมักขึ้นตามชายป่าดิบชื้น ป่าละเมาะที่ชุ่มชื้น ป่าโปร่งที่ชุ่มชื้น บริเวณที่โล่งริมลำธาร ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 700 เมตร[1],[2],[3]

กล้วยหมูสัง ชื่อวิทยาศาสตร์ Uvaria grandiflora Roxb. ex Hornem. จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)[1],[2]

สมุนไพรกล้วยหมูสัง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กล้วยมูซัง (สงขลา), กล้วยมดสัง กล้วยมุดสัง ย่านนมควาย (ตรัง), กล้วยหมูสัง (ภาคใต้) เป็นต้น[1],[2]

WM
ภาพจาก medthai

ลักษณะของกล้วยหมูสัง

ใบกล้วยหมูสัง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมรูปไข่กลับ รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบเว้าเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-25 เซนติเมตร แผ่นใบมีขนทั้งสองด้าน โดยแผ่นใบด้านบนจะเป็นสีเขียวเข้มเป็นมันและมีขนขึ้นประปรายตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ ส่วนด้านล่างใบจะเป็นสีเขียวนวลมีขนสั้นนุ่มทั่วไป ก้านใบยาวประมาณ 3-8 มิลลิเมตร[1],[2]

ดอกกล้วยหมูสัง ออกเป็นดอกเดี่ยว โดยจะออกที่ปลายกิ่งและตามกิ่ง ออกตรงข้ามหรือเยื้องกับใบเล็กน้อย ดอกเป็นสีแดงสด จะส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ ในช่วงพลบค่ำและกลางคืน มีน้ำหวานจำนวนมากรอบฐานดอก กลีบดอกมี 6 กลีบ เรียงสลับกัน 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบดอกเป็นสีแดงสดหรือสีแดงเลือดนก โคนกลีบดอกเป็นสีเหลืองอ่อน

ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ปลายมน ยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร กลีบดอกจะค่อนข้างหนา ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 3 กลีบ สีเขียวอมเหลือง ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงค่อนข้างบอบบาง ผิวด้านในเกลี้ยง ส่วนผิวด้านนอกมีขนสั้นขึ้นประปราย

ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก อยู่ชิดกันแน่นเป็นพุ่มกลม รังไข่ยาวได้ประมาณ 7 มิลลิเมตร มีขนสั้น ยอดเกสรเพศเมียแผ่ออกคล้ายรูปแตร มีเมือกเหนียวสีเหลืองแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้น เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6-11 เซนติเมตร[1],[2]

ผลกล้วยหมูสัง ออกผลเป็นกลุ่ม ๆ แต่ละกลุ่มมีผลย่อยจำนวนมาก ประมาณ 6-15 ผล อยู่บนแกนตุ้มกลม ก้านช่อผลยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร ลักษณะของผลย่อยเป็นรูปทรงกระบอกสั้น ๆ ยาวได้ประมาณ 3-6 เซนติเมตร ปลายผลมน บางตอนของผลคอดเว้าเล็กน้อย ตามผิวมีตุ่มเล็ก ๆ ขึ้นกระจายและมีขนขึ้นประปราย ผลอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนผลสุกเป็นสีเหลืองอมส้ม มีรสหวานเปรี้ยวใช้รับประทานได้ ภายในผลมีเมล็ดมาก ส่วนก้านผลย่อยยาวประมาณ 1-4 เซนติเมตร[1],[2] ออกดอกและผลในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน และพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม[3]

สรรพคุณของกล้วยหมูสัง

  • ใบและราก นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาบำบัดอาการปวดท้อง (ใบและราก)[1],[2]
  • ชาวมลายูจะใช้ใบกล้วยหมูสัง นำมาต้มกับข้าวกินเป็นยาบรรเทาอาการท้องขึ้น ท้องเฟ้อ (ใบ)[1],[2]
  • ประโยชน์ของกล้วยหมูสัง
  • ผลสุกเป็นสีเหลืองอมส้ม มีกลิ่นหอมและมีรสหวานเปรี้ยว ใช้รับประทานได้[1],[2]
  • เถานำมาใช้ประโยชน์แทนหวาย[2]

กล้วยหมูสังเป็นพรรณไม้ที่ให้ดอกสีสวยงดงาม ดอกเป็นสีแดงสดและมีกลิ่นหอม มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นไม้เลื้อยประดับ โดยจะส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ ในช่วงพลบค่ำและกลางคืน[4]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  “กล้วยหมูสัง”.  หน้า 90.
  2. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ย่านนมควาย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.
  3. พืชถิ่นเดียวและพืชหายากของประเทศไทย, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ย่านนมควาย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th.
  4. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “กล้วยหมูสัง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.