กลึงกล่อม  เป็นสมุนไพรแก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับพิษภายใน

WM

ภาพจาก medthai

สรรพคุณและประโยชน์ของ กลึงกล่อม แก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับพิษภายใน แก้น้ำเหลือง

กลึงกล่อม จัดเป็นสมุนไพรไม้พุ่มกึ่งไม้ต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็ก มีความสูงได้ประมาณ 2-5 เมตร แตกกิ่งต่ำ เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ตามกิ่งแก่ขนาดใหญ่และเปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาลเข้ม ผิวเปลือกมักย่นเป็นสันนูนขรุขระ ไม่เป็นระเบียบ กิ่งอ่อนมีขนขึ้นประปราย ส่วนกิ่งแก่จะเกลี้ยง ตามกิ่งก้านมีช่องระบายอากาศเป็นตุ่มสีขาวหรือสีเทาอมชมพูขนาดเล็กกระจัดกระจายทั่วไป

ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะกล้าจากเมล็ด เป็นไม้เติบโตช้า ชอบน้ำปานกลาง แสงแดดน้อย มีสถานภาพเป็นไม้นอกประเภทหวงห้าม มีเขตการกระจายพันธุ์ในจีนตอนใต้ อินเดียตอนใต้ ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ

แต่ทางภาคใต้จะพบได้ค่อนข้างน้อยกว่าภาคอื่น ๆ โดยมักพบขึ้นตามที่โล่งที่เป็นดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี ตามป่าเปิด ป่าเบญจพรรณ พื้นที่โล่งบริเวณชายป่า ตามพื้นที่ราบลุ่มที่มีน้ำท่วมเป็นครั้งคราว หรือตามฝั่งแม่น้ำลำคลอง[1],[2],[3],[5]

กลึงกล่อม ชื่อวิทยาศาสตร์ Polyalthia suberosa (Roxb.) Thwaites จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)[1]

สมุนไพรกลึงกล่อม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า น้ำน้อย (เลย), ไคร้น้ำ (อุตรดิตถ์), กำจาย (นครสวรรค์), กระทุ่มกลอง กระทุ่มคลอง กลึงกล่อม ชั่งกลอง ท้องคลอง (ราชบุรี), ช่องกลอง (กาญจนบุรี), มงจาม (อ่างทอง), น้ำนอง (ปัตตานี, ภาคใต้), จิงกล่อม (ภาคใต้), ผักจ้ำ มะจ้ำ (ภาคเหนือ) เป็นต้น[1],[2]

WM
ภาพจาก medthai

ลักษณะของกลึงกล่อม

ใบกลึงกล่อม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรียาว รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ปลายใบเป็นติ่งแหลมสั้น ๆ โคนใบสอบและเบี้ยวเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบแต่มักย่นเป็นคลื่นหรือม้วนงอขึ้นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.7-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร

หลังใบและท้องใบเรียบเกลี้ยงเป็นมัน หรืออาจมีขนสั้น ๆ เหลืออยู่ตามเส้นกลางใบ ท้องใบจะมีสีเขียวนวล เส้นแขนงใบมีข้างละ 7-8 เส้น ก้านใบสั้น ยาวได้ประมาณ 1-3 มิลลิเมตร ใบแห้งด้านบนจะเป็นสีเทา ส่วนด้านล่างจะเป็นสีน้ำตาลอ่อน[1],[2],[3]

ดอกกลึงกล่อม ออกเป็นดอกเดี่ยว โดยจะออกตามกิ่ง ออกตรงข้ามหรือเยื้องกับใบใกล้ปลายยอด หรือออกเหนือง่ามใบเล็กน้อย ดอกมีกลิ่นหอม เป็นสีเหลืองห้อยลง กลีบเลี้ยงดอกมี 3 กลีบ ลักษณะของกลีบเลี้ยงเป็นรูปไข่ ด้านนอกมีขน ส่วนกลีบดอกนั้นเป็นสีเหลืองหรือสีเหลืองอมน้ำตาล มี 6 กลีบ กลีบดอกจะมีขนาดใหญ่กว่ากลีบเลี้ยง เรียงสลับกัน 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบดอกชั้นนอกจะมี 3 กลีบ มีขนาดเล็กสั้นกว่ากลีบดอกชั้นใน และกลีบดอกชั้นในมี 3 กลีบ ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร และใหญ่กว่ากลีบดอกชั้นนอก กลีบด้านนอกมีขนขึ้นประปราย มีเกสรเพศผู้ขนาดเล็กจำนวนมาก อยู่ชิดกันแน่นเป็นพุ่มกลม ก้านชูดอกมีสีแดง ลักษณะเรียวยาว ยาวประมาณ 1.3-3.2 เซนติเมตร มีใบประดับเล็ก ๆ ติดอยู่ใกล้โคนก้าน เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.6 เซนติเมตร[1],[2],[3]

ผลกลึงกล่อม ออกผลเป็นกลุ่ม มีจำนวนมาก ประมาณ 25-35 ผลย่อยต่อกลุ่ม มีหลายผลอยู่บนแกนตุ้มกลาง ก้านช่อผลยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ผลย่อยมีลักษณะเป็นรูปทรงรีหรือกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-7 มิลลิเมตร ผลเป็นผลสดและมีเนื้อ ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มจนถึงสีม่วงดำ ก้านผลยาวประมาณ 0.7-1.2 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดเดียวต่อ 1 ผลย่อย หรือบางผลอาจมีเมล็ด 2 เมล็ด เมล็ดจะมีลักษณะเป็นรูปรี มีสีน้ำตาล มีดอกและผลเกือบตลอดทั้งปี[1],[2],[3],[5]

สรรพคุณของกลึงกล่อม

  • รากและเนื้อไม้ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ (รากและเนื้อไม้)[2],[4]
  • ใช้เป็นยาขับพิษ ขับพิษภายใน แก้น้ำเหลือง (รากและเนื้อไม้)[2],[4]
  • ใบและกิ่งมีสาร suberosol ที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อโรคเอดส์ (HIV) ในหลอดทดลอง (ใบและกิ่ง)[1],[2],[4]

ประโยชน์ของกลึงกล่อม

  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับให้ร่มเงาทั่วไปสำหรับบ้านขนาดเล็ก เพื่อช่วยบังแดดให้กับห้องทางด้านใต้และหรือทางตะวันตก ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าปรับอากาศไปได้มาก อีกทั้งผลยังดูสวยงามน่ารักและเป็นอาหารนกได้ด้วย[2],[5]
  • ยอดอ่อน ผลอ่อน ใช้รับประทานเป็นผักสด หรือนำไปต้มรับประทานร่วมกับน้ำพริก[6] ทางอาหารสำหรับชาวล้านนานั้นจะนิยมนำผักกลึงกล่อมมาเป็นส่วนผสมของอาหารประเภทส้า เช่น ส้าผัก ส้าผักรวม หรือใช้เป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริกหรือลาบ (ศรีวรรณ จำรัส, 2550, สัมภาษณ์)
  • ผลสุกรับประทานได้ สัตว์ป่าชอบกินนัก[5]
  • สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “กลึงกล่อม (Klueng Klom)”.  หน้า 39.
  2. สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กลึงกล่อม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm.
  3. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กลึงกล่อม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.
  4. พืชสมุนไพรโตนงาช้าง.  “กลึงกล่อม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : paro6.dnp.go.th/web_km/พืชสมุนไพรโตนงาช้าง/.
  5. เว็บไซต์ท่องไทยแลนด์ดอทคอม.  “กลึงกล่อม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thongthailand.com.
  6. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร.  “น้ำนอง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.