กล้วยบัวสีชมพู เป็นยาสมุนไพรแก้ท้องเสียในเด็กได้เป็นอย่างดี

WM

ภาพจาก medthai

สรรพคุณและประโยชน์ของ กล้วยบัวชมพู เป็นยาสมุนไพรแก้ท้องเสียในเด็กได้เป็นอย่างดี

กล้วยบัวสีชมพู จัดเป็นสมุนไพรไม้ล้มลุก มีความสูงได้ประมาณ 1-3 เมตร ลำต้นอยู่ใต้ดิน กาบใบห่อหุ้มกับลำต้นเทียม ส่วนมากลำต้นเทียมจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 10 เซนติเมตร ขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อ ขึ้นได้ดีในดินทั่วไป ต้องการน้ำมากและแสงแดดจัด เมื่ออยู่ในที่รำไรลำต้นจะสูง หากอยู่ในที่กลางแจ้งต้นจะเตี้ย พรรณไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย พม่า และบังกลาเทศ[1],[3]

กล้วยบัวสีชมพู ชื่อสามัญ Flowering Banana[3]

กล้วยบัวสีชมพู ชื่อวิทยาศาสตร์ Musa ornata Roxb.[1] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Musa rosacea N. J. von Jacquin., Musa speciosa M. Tenore, Musa carolinae A. Sterler, Musa rosea J. G. Baker, Musa rosea Jacq., Musa salaccensis H. Zollinger, Musa mexicana E. Matuda[2],[3]) จัดอยู่ในวงศ์กล้วย (MUSACEAE)[1]

สมุนไพรกล้วยบัวสีชมพู มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กล้วยบัว (กรุงเทพฯ) เป็นต้น[1]

WM
ภาพจาก medthai

ลักษณะของกล้วยบัวสีชมพู

ใบกล้วยบัวสีชมพู ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ปลายใบมนหรือตัด โคนใบเบี้ยว ด้านหนึ่งมน อีกด้านหนึ่งเรียวแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 25 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2 เมตร หลังใบเรียบ แผ่นใบเป็นนวลสีขาวเล็กน้อยทั้งสองด้าน เส้นกลางใบเป็นสีแดง ก้านใบยาวได้ประมาณ 60 เซนติเมตร[1],[3]

ดอกกล้วยบัวสีชมพู ปลีช่อดอกตั้งตรง ก้านช่อหนา ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ใบประดับมี 2 ใบ ลักษณะคล้ายใบ ยาวได้ประมาณ 30 เซนติเมตร กาบประดับเป็นสีชมพู ปลายกาบแหลม กาบด้านล่างยาวได้ประมาณ 10 เซนติเมตร มีขนาดเล็กลงช่วงปลายช่อ ปลายกลีบเป็นสีเหลือง

กาบดอกเพศเมียอยู่ช่วงล่าง มีกาบประมาณ 7 กาบ ดอกเพศเมียจะมี 3-5 ดอก ในแต่ละกาบ เรียงแถวเดียว กลีบดอกรวมเป็นสีเหลืองอมส้ม กลีบรวมที่ติดกันยาวประมาณ 3.5 เซนติเมตร กลีบที่แยกยาวได้ประมาณ 3 เซนติเมตร ปลายหยักเป็นพูตื้น ๆ 5 พู พับงอ เกสรเพศผู้ที่หมันยาวได้ประมาณ 1/3 หรือ 1/2

ส่วนของความยาวก้านเกสรเพศเมีย รังไข่ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ดอกเพศผู้มี 3-6 ดอก ในแต่ละกาบ เรียงแถวเดียวกัน กลีบรวมเป็นสีส้มครึ่งบน ด้านล่างมีสีอ่อนกว่า กลีบรวมที่ติดกันยาวประมาณ 3.5-4 เซนติเมตร คล้ายกับดอกเพศเมีย กลีบรวมที่แยกกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-3.5 เซนติเมตร เกสรเพศผู้ยาวเท่ากับกลีบรวมที่แยก ก้านชูอับเรณูยาวกว่าอับเรณู อับเรณูเป็นสีม่วง[1],[3]

ผลกล้วยบัวสีชมพู ผลเป็นสีเขียว เรียงชิดกันคล้ายนิ้วมือ ผลย่อยยาวประมาณ 6-8 เซนติเมตร มี 4-5 สัน ก้านผลนั้นสั้น ผลมีลักษณะเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนานเป็นเหลี่ยม ปลายและโคนเรียว ผิวเปลือกเรียบ หวีหนึ่งมีแถวเดียวเรียงไม่เป็นระเบียบ เมื่อสุกจะเป็นสีเหลือง ข้างในผลมีเมล็ดสีดำ เมล็ดมีลักษณะเป็นเหลี่ยมและแบน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มิลลิเมตร[1],[2],[3]

หมายเหตุ : กล้วยบัวสีชมพูมีลักษณะทั่วไปคล้ายกับกล้วยบัว (Musa laterita Cheesman) แต่จะมีการเจริญของลำต้นชิดกันมากกว่า มีเหง้าสั้นกว่า ก้านช่อดอกไม่มีขน และใบประดับเป็นสีชมพู ส่วนผลสั้นกว่าเล็กน้อย3]

สรรพคุณของกล้วยบัวสีชมพู

แพทย์ตามชนบทจะใช้กาบหัวปลี ผล และรากเหง้าของกล้วยบัวสีชมพู เป็นยาแก้ท้องเสียในเด็กได้เป็นอย่างดี (หัวปลี, ผล, รากเหง้า)[1],[2]

ประโยชน์ของกล้วยบัวสีชมพู

นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป โดยนิยมปลูกเป็นไม้ประดับมานานแล้ว ก่อนที่จะมีการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ (ตั้งในปี 1824) อันเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีชื่อวิทยาศาสตร์ผิด โดยเฉพาะชื่อ Musa rosacea Jacq. ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงไม้ดอกไม้ประดับ นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ผสมที่มีลักษณะใกล้เคียงกับกล้วยบัวสีชมพูเป็นจำนวนมาก จนทำให้ใบประดับแต่ละพันธุ์มีหลากหลายสี โดยเฉพาะพันธุ์ที่ผสมขึ้นมาเองเพื่อเป็นไม้ตัดดอกแล้วนำมาตั้งชื่อเป็น Musa ornata ตามด้วยพันธุ์ผสมอื่น ๆ เช่น African Red, Bronze, Costa Rican Stripe, Macro, Lavender Beauty, Leyte White เป็นต้น[3]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “กล้วยบัวสีชมพู (Kluai Bua Si Chom Phu)”.  หน้า 37.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  “กล้วยบัวสีชมพู”.  หน้า 66.
  3. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “กล้วยบัวสีชมพู”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.