กระแตไต่ไม้ เป็นสมุนไพรช่วยสมานคุมธาตุ ช่วยรักษาปอดพิการ 

WM

ภาพจาก Medthai

สมุนไพรกระแตไต่ไม้ เป็นยาช่วยสมานคุมธาตุ ช่วยรักษาปอดพิการ

กระแตไต่ไม้ จัดเป็นสมุนไพรไม้ล้มลุกจำพวกเฟิร์นที่เลื้อยเกาะอยู่บนต้นไม้หรือตามก้อนโขดหิน ในที่ที่มีร่มเงาหรือแสงแดด หรือตามชายป่า ลำต้นจะทอดนอนยาวได้ถึง 1 เมตร ส่วนลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 เซนติเมตร โดยต้นกระแตไต่ไม้นี้จะกระจายพันธุ์อยู่ตามป่าเขตร้อน และขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เหง้าหรือสปอร์

มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศอินเดีย ศรีลังกา พม่า จีนตอนใต้ อินโดจีน มาเลเซีย ออสเตรเลีย และไทย ซึ่งในบ้านเราสามารถพบกระแตไต่ไม้ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ อาจจะพบขึ้นตามต้นไม้ ตามโขดหิน ตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา และป่าพรุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับความสูงต่ำ ๆ

กระแตไตไม้ มีชื่อสมุนไพรท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ใบหูช้าง สไบนาง (กาญจนบุรี), กระปรอก (จันทบุรี), ฮำฮอก (อุบลราชธานี), สะโมง (ส่วย-สุรินทร์), หัวว่าว (ประจวบคีรีขันธ์), กระปรอกว่าว (ประจวบคีรีขันธ์, ปราจีนบุรี), เดาน์กาโละ (มลายู-ปัตตานี), กูดขาฮอก เช้าวะนะ พุดองแคะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กูดขาฮอก กูดอ้อม กูดไม้ (ภาคหนือ), หว่าว (ปน), กาบหูช้าง เป็นต้น[1],[2],[4]

กระแตไต่ไม้ ชื่อสามัญ Oak-leaf fern, Drynaria และมีชื่อวิทยาศาสตร์ Drynaria quercifolia (L.) J. Sm. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Polypodium quercifolium L.) จัดอยู่ในวงศ์ POLYPODIACEAE

WM
ภาพจาก ไทยรัฐออนไลน์

เหง้ากระแตไต่ไม้ เหง้ามีลักษณะเป็นหัวกลม ยาว ปกคลุมไปด้วยเกล็ดสีน้ำตาลเข้มและมีขนยาวสีน้ำตาลคล้ายกำมะหยี่ปกคลุมอยู่ ส่วนเนื้อในมีสีขาวและเขียว[1]

ใบกระแตไต่ไม้ ใบเป็นใบเดี่ยว แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ชนิดแรกได้แก่ ใบที่ไม่สร้างสปอร์ ใบจะประกบต้นตั้งเฉียงกับลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายใบมนหรือแหลม ส่วนฐานใบเป็นรูปหัวใจ ใบมีความกว้างประมาณ 20 เซนติเมตรและอาจยาวได้ถึง 32 เซนติเมตร ขอบใบเว้าเป็นแฉกตื้น ๆ หุ้มอยู่บริเวณเหง้า ผิวของใบอ่อนมีขนเป็นรูปดาว ชนิดนี้ใบจะไม่มีก้าน

ชนิดที่สองคือ ใบที่ไม่สร้างสปอร์ ชนิดนี้จะอยู่สูงกว่าใบที่สร้างสปอร์ และชี้ขึ้นด้านบน ลักษณะของแผ่นใบจะเป็นรูปขอบขนานหรือเป็นรูปหอก ปลายใบเรียวแหลม ส่วนฐานใบเป็นรูปลิ่ม ใบมีความกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร และอาจยาวได้ถึง 80 เซนติเมตร ส่วนขอบใบมีลักษณะเว้าลึกเกือบถึงเส้นกลางใบ (คล้ายกับใบสาเก) เป็นพู เรียงตัวกันแบบขนนก

ใบมีสีเขียวหม่นเป็นมัน เนื้อใบเหนียว และมีก้านใบยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร ที่โคนก้านใบจะมีเกล็ดสีน้ำตาลดำ กลุ่มอับสปอร์ลักษณะเป็นรูปกลมหรือเป็นรูปขอบขนาน เรียงเป็นสองแถวอยู่ระหว่างเส้นของใบย่อย แอนนูลัสประกอบไปด้วยเซลล์เพียงแถวเดียว เรียงตัวในแนวตั้ง และไม่มีเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์[1]

สรรพคุณของกระแตไต่ไม้

  • เหง้ามีรสจืดเบื่อ สรรพคุณเป็นยาช่วยสมานคุมธาตุ (เหง้า)[1],[2],[3]
  • ช่วยบำรุงโลหิต ด้วยการใช้เหง้าประมาณ 3-4 เหง้า ผสมกับตำลึงเอื้องเงิน 1 ต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา วันละ 2-3 ครั้ง (เหง้า)[1],[3]
  • ช่วยให้โลหิตในร่างกายหมุนเวียน ช่วยขยายหลอดเลือด แก้อาการมือเท้าเย็น (เหง้า)[3]
  • เหง้าใช้ต้มกับน้ำดื่ม ช่วยรักษามะเร็งในปอด และช่วยรักษาปอดพิการ (เหง้า)[1]
  • เหง้าช่วยแก้เบาหวาน (เหง้า)[1],[2],[4]
  • เหง้าใช้ผสมกับหัวยาข้าวเย็น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้หอบหืด (เหง้า)[1],[3]
  • ขนจากเหง้านำมาบดให้ละเอียด แล้วใช้สูบแก้อาการหืด (ขนจากเหง้า)[1]
  • รากและแก่นนำมาต้มน้ำดื่มและนำมาใช้อาบ มีสรรพคุณช่วยแก้ซาง (ราก, แก่น)[1]
  • ใบใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ใช้ต้มกับน้ำอาบ แก้ไข้สูง (เหง้า)[1]
  • เหง้านำมาต้มกับน้ำดื่มหรือใช้ฝนกับน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการกระหายน้ำได้ (เหง้า)[1]
  • เหง้านำมากินสด ๆ โดยใช้เนื้อสีขาวที่เอาขนออกแล้ว นำมาฝานตากแดดแล้วนำมาบด ช่วยแก้อาการปวดประดงเลือด (เหง้า)[1]
  • ช่วยแก้ริดสีดวงจมูก ด้วยการใช้เหง้านำมาต้มกับน้ำดื่มหรือนำมาใช้ฝนกับน้ำดื่ม (เหง้า)[1]
  • ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[3]
  • ช่วยแก้อาการปวดฟัน (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[3]
  • ใช้เป็นยาเบื่อพยาธิ ขับพยาธิ (เหง้า)[1],[2],[3],[4]
  • ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ (อาการปัสสาวะปวด หรือกะปริบกะปรอย หรือเป็นขุ่นข้น มีสีเหลืองเข้ม หรือมีเลือด) (เหง้า)[1],[2],[3]
  • เหง้าช่วยแก้นิ่ว (เหง้า)[1],[2]
  • ช่วยแก้ไตพิการ (อาการเกี่ยวกับโรคทางเดินปัสสาวะ มีปัสสาวะขุ่นข้น สีเหลืองเข้มหรือแดง และมักมีอาการแน่นท้อง รับประทานอาหารไม่ได้) (เหง้า)[1],[2],[3],[4]
  • เหง้าช่วยขับระดูขาวของสตรี (เหง้า)[1],[2],[4]
  • รากและแก่นใช้ต้มกับน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการประจำเดือนไหลไม่หยุดของสตรี (ราก, แก่น)[1]
  • ใบนำมาต้มน้ำดื่ม ช่วยรักษาอาการไม่สบาย มีอาการอ่อนเพลียของสตรีขณะอยู่ไฟในช่วงหลังคลอดบุตร (ใบ)[1]
  • เหง้านำมาพอกช่วยแก้อาการปวดบวม (เหง้า)[1]
  • ใบใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ต้มกับน้ำอาบช่วยแก้บวม (ใบ)[1]
  • ใบใช้ตำพอกแผล ช่วยรักษาแผลเรื้อรังและแผลพุพอง (ใบ)[2]
  • ช่วยรักษาแผลพุพอง แผลเนื้อร้าย (เหง้า)[1]
  • ช่วยแก้แผลฝี หนอง (เหง้า)[1]
  • เหง้านำมาฝนใช้ทาแก้งูสวัด (เหง้า)[1]
  • ใช้เป็นยาห้ามเลือด (ไม่ระบุแน่ชัดว่าใช้ผสมกับสมุนไพรอื่นหรือใช้เพียงแต่เหง้าอย่างเดียว)[1]

เหง้าใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น นำมาต้มน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการปวดเส้น (เหง้า)[1]

ใช้บำบัดอาการป่วยอันเนื่องมาจากกระดูกแตกและเส้นเอ็นฉีกขาด อาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำดำเขียว แก้ไขข้ออักเสบ อาการปวดหลัง ปวดเข่า ปวดข้อ โดยใช้ทั้งแบบเดี่ยวและนำไปใช้ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น (ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าเป็นเหง้า)[3]

ประโยชน์ของกระแตไต่ไม้

นอกจากจะใช้เป็นยาสมุนไพรแล้ว ยังนิยมใช้ปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับตกแต่งอีกด้วย เนื่องจากใบมีลักษณะสวยงาม[4]

มีความเชื่อว่า ว่านกระแตไต่ไม้เป็นว่านทางด้านเมตตามหานิยม มีผลดีในด้านการค้าขาย ทำให้ซื้อง่ายขายคล่อง[5]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  • ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “กระแตไต่ไม้”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.
  • สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กระแตไต่ไม้”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.
  • ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน.  “กระแตไต่ไม้”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th.
  • สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “กระแตไต่ไม้”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: web3.dnp.go.th.
  • บ้านว่านไทย.  “ว่านกระแตไต่ไม้”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: banvanthai.com.