กระถินไทย เป็นสมุนไพรยาอายุวัฒนะ เสริมสร้างและบำรุงกระดูก

WM

ภาพจาก sanook

สมุนไพร กระถินไทย เป็นยาอายุวัฒนะ เสริมสร้างและบำรุงกระดูก

กระถิน เป็นสมุนไพรที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเขตร้อนและในหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก มีการนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย เนื่องจากต้นกระถินเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ได้ง่ายจึงพบได้ทั่วไป  จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก มีขนาดความสูงประมาณ 3-10 เมตร ไม่ผลัดใบ

ลักษณะทรงต้นเป็นเรือนยอดรูปไข่หรือกลม เปลือกต้นมีสีเทา และมีปุ่มนูนของรอยกิ่งก้านที่หลุดร่วงไป และขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยหรือในดินเหนียวอุ้มน้ำได้ดี

กระถิน มีชื่อสมุนไพรท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กะเส็ดโคก กะเส็ดบก (ราชบุรี), กะตง กระถิน กระถินน้อย กระถินบ้าน ผักก้านถิน (สมุทรสงคราม), ผักก้านถิน (เชียงใหม่), ผักหนองบก (ภาคเหนือ), กระถินไทย กระถินบ้าน กระถินดอกขาว กระถินหัวหงอก (ภาคกลาง), ตอเบา สะตอเทศ สะตอบ้าน (ภาคใต้), กระถินยักษ์ เป็นต้น[1],[2]

ชื่อสามัญ White popinac[1], Lead tree[1], Horse tamarind[2], Leucaena[2], lpil-lpil[6]

ชื่อวิทยาศาสตร์ Leucaena leucocephala (Lam.) de Wit จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)[1],[2]

ใบกระถิน ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นเรียงสลับกัน ยาวประมาณ 12.5-25 เซนติเมตร แกนกลางใบประกอบมีขน ใบแยกแขนงประมาณ 3-19 คู่ เรียงตรงข้ามกัน มีความยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ส่วนใบย่อยมีประมาณ 5-20 คู่ เรียงตรงข้ามกัน

WM
ภาพจาก Medthai

ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน มีความกว้างประมาณ 2-5 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 0.6-2.1 เซนติเมตร โคนใบเบี้ยว ปลายใบแหลม ขอบใบมีขน แต่ละใบมีเส้นแขนงอยู่ประมาณข้างละ 5-6 เส้น ส่วนก้านใบย่อยมีความยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร[1],[2]

ดอกกระถิน ดอกมีสีขาว ออกดอกเป็นช่อแบบกระจุกแน่นตามง่ามใบและปลายกิ่งประมาณ 1-3 ช่อ กลีบเลี้ยงโคนติดกันลักษณะเป็นรูประฆัง ส่วนปลายแยกเป็นสามเหลี่ยมเล็ก 5 แฉก มีขน ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้ 10 อัน เมื่อดอกบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน[1],[2]

ฝักกระถิน ฝักมีลักษณะแบน ปลายฝักแหลม โคนสอบ ฝักเมื่อแก่จะแตกตามยาว ฝักยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ในฝักมีเมล็ดเรียงตามขวางอยู่ประมาณ 15-30 เมล็ด และจะออกผลในช่วงเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนมกราคม[1],[2]

เมล็ดกระถิน เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไข่แบนกว้าง มีสีน้ำตาลและเป็นมัน[1],[2]

สรรพคุณของกระถิน

  • ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ (ราก[4],[5], เมล็ดแก่[6])
  • กระถินมีฟอสฟอรัสสูง จึงช่วยเสริมสร้างและบำรุงกระดูก (ยอดอ่อน, ฝักอ่อน, เมล็ด)[3]
  • ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (ยอดอ่อน)[5]
  • ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง (ยอดอ่อน)[5]
  • กระถินอุดมไปด้วยวิตามินเอ จึงช่วยบำรุงและรักษาสายตาได้ (ยอดอ่อน)[5]
  • ช่วยบำรุงหัวใจ (ฝักอ่อน, ยอดอ่อน)[6]
  • ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ (เมล็ดแก่)[6]
  • ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ฝักอ่อน, ยอดอ่อน)[6]
  • ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (ฝักอ่อน, ยอดอ่อน)[6]
  • ช่วยแก้เกล็ดกระดี่ขึ้นตา (ดอก)[4]
  • ช่วยแก้อาการท้องร่วง (ฝัก)[5],[6]
  • เมล็ดกระถินใช้เป็นยาถ่ายพยาธิตัวกลม (Ascariasis) สำหรับผู้ใหญ่ให้ใช้ครั้งละ 25-50 กรัม ส่วนเด็กให้ใช้ 5-20 กรัมต่อวัน โดยใช้รับประทานขณะท้องว่างในตอนเช้าประมาณ 3-5 วัน (เมล็ด)[4],[5],[6]
  • ช่วยขับลมในลำไส้ (ราก[2],[4],[5], เมล็ดแก่[6])
  • ช่วยขับระดูขาวของสตรี (ราก[2],[4],[5], เมล็ดแก่[6])
  • ช่วยลดการเกิดนิ่วในกระเพาะอาหาร (ยอดอ่อน, ฝักอ่อน, เมล็ด)[3]
  • ดอกกระถินช่วยบำรุงตับ (ดอก)[2],[4],[6] ช่วยบำรุงไตและตับ (เมล็ดแก่)[6]
  • ฝักกระถินเป็นยาฝาดสมาน ใช้ห้ามเลือด (ฝัก, เปลือก)[5],[6]
  • หมายเหตุ : ใบอ่อน ยอดอ่อน และดอกมีรสมัน เมล็ดอ่อนมีรสมันอมหวานเล็กน้อย รากมีรสจืดเฝื่อน ส่วนเปลือกมีรสฝาด[6]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระถิน

ผลเมล็ดมีฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและช่วยลดไขมันในเลือดของหนูขาว แต่เมล็ดมีสารลิวซีนีน (Leucenine) ซึ่งจะทำให้สัตว์เป็นหมันได้[4]

สารสกัดจากใบกระถินเมื่อฉีดเข้าหลอดเลือดของสุนัขจะทำให้มีระดับความดันโลหิตลดลง มีอัตราการเต้นของหัวใจช้าลง ช่วยกระตุ้นการหายใจ มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต แต่ฤทธิ์ดังกล่าวนี้สามารถต้านได้ด้วย Atropine และยาต้านฮิสตามีน และเมื่อนำน้ำยาสกัดกระถินมาใช้กับหัวใจของกบและเต่าที่แยกออกมา

พบว่ามีอัตราการบีบของหัวใจลดลง และในระบบทางเดินอาหารทั้งการทดลองแบบ in vitro ก็พบว่าน้ำสกัดนี้ทำให้เกิดแรงตึงตัวและเกิดแรงบีบตัวเพิ่มขึ้น เมื่อทดลองใน in vivo จะพบว่าการบีบตัวของกระเพาะลำไส้ตามปกติลดลง[4]

ประโยชน์ของกระถิน

ยอดอ่อนกระถิน ฝักอ่อน และเมล็ดใช้รับประทานเป็นผักได้[1],[2],[3] โดยยอดใบจะใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริก ส้มตำ หรือยำหอยนางรม[5] ส่วนเมล็ดอ่อนชาวอีสานใช้ผสมในส้มตำมะละกอหรือรับประทานกับส้มตำ ส่วนชาวใต้ใช้เมล็ดอ่อนและใบอ่อนรับประทานร่วมกับหอยนางรม[6]

ใบ ยอด ฝัก และเมล็ดอ่อนสามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น วัว ควาย ไก่ แพะ แกะ ฯลฯ[1],[2],[3],[4]

ใบกระถินอุดมไปด้วยธาตุไนโตรเจนและเกลือโพแทสเซียม สามารถนำมาใช้ทำเป็นปุ๋ยหมักได้[1],[3],[4]

เมล็ดสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องประดับได้หลายชนิด เช่น เข็มกลัด สายสร้อย เข็มขัด ฯลฯ[1],[2],[4]

ลำต้นหรือเนื้อไม้กระถินสามารถนำมาใช้ทำด้ามอุปกรณ์เครื่องมือทางการเกษตร ทำฟืน เผาทำถ่าน และได้น้ำส้มควันไม้[1],[3],[5]

เปลือกต้นกระถินให้เส้นใยที่สามารถนำไปใช้ทำเป็นกระดาษได้ แต่มีคุณภาพไม่ดีนัก[1],[2],[4]

เปลือกต้นกระถินสามารถนำมาใช้ย้อมสีเส้นไหมได้ โดยเปลือกต้นแห้ง 3 กิโลกรัมจะสามารถย้อมเส้นไหมได้ 1 กิโลกรัม โดยจะให้สีน้ำตาล[8]

สายพันธุ์กระถินที่ทำการปรับใหม่จะมีขนาดลำต้นสูงกว่าสายพันธุ์เดิม หรือที่เรียกว่า “กระถินยักษ์” ใช้ปลูกเพื่อเป็นแนวรั้วบ้าน แนวกันลม และช่วงบังแสงแดดให้แก่พืชที่ปลูกได้ เหมาะในพื้นที่ที่มีการดูแลรักษาต่ำ และต้นกระถินยังมีความแข็งแรง เจริญเติบโตได้เร็ว[1],[2],[4]

ตามคติความเชื่อในตำราพรหมชาติฉบับหลวงกล่าวว่า กระถินเป็นไม้มงคลที่ควรปลูกไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ โดยนำมาปลูกร่วมกับต้นสารภี มีความเชื่อว่าจะช่วยป้องกันเสนียดจัญไรต่าง ๆ ได้[4]

คุณค่าทางโภชนาการของยอดอ่อนกระถิน ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 62 กิโลแคลอรี
  • กระถินไทยคาร์โบไฮเดรต 5 กรัม
  • โปรตีน 8.4 กรัม
  • ไขมัน 0.9 กรัม
  • เส้นใยอาหาร 3.8 กรัม
  • น้ำ 80.7 กรัม
  • วิตามินเอ 7,883 หน่วยสากล
  • วิตามินบี 1 0.33 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2 0.09 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 3 1.7 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 8 มิลลิกรัม
  • ธาตุแคลเซียม 137 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 9.2 มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส 11 มิลลิกรัม

แหล่งที่มา : สถาบันการแพทย์แผนไทย[4]

การเลือกซื้อและการเก็บรักษากระถิน

ควรเลือกซื้อยอดกระถินหรือฝักอ่อนที่มีความสดใหม่และไม่เหี่ยว ส่วนวิธีการเก็บรักษานั้นให้นำกระถินที่ได้มาห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ให้ดี แล้วนำมาใส่กล่องพลาสติกและปิดฝาให้สนิท เก็บเข้าแช่ตู้เย็นในช่องผัก จะสามารถเก็บไว้ได้นานขึ้น[7]

โทษของกระถิน

เนื่องจากใบของกระถินมีสารที่เป็นพิษคือสารลิวซีนีน (Leucenine) หากสัตว์กระเพาะเดียวกินใบกระถินในปริมาณสูงอาจทำให้ขนร่วงและเป็นหมันได้ แต่ยังไม่มีรายงานความเป็นพิษเนื่องจากการกินกระถินในคน และยังมีรายงานว่ากระถินเป็นพืชที่มีคุณสมบัติช่วยดูดธาตุซีลีเนียมจากดินมาสะสมไว้ได้มาก จึงอาจทำให้เกิดพิษเนื่องจากธาตุนี้ได้[1]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  • สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กระถินไทย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.
  • ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “กระถิน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th.
  • ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “กระถิน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th.
  • สถาบันการแพทย์แผนไทย.  “กระถิน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: ittm-old.dtam.moph.go.th.
  • เดลินิวส์.  “กระถินกินมีประโยชน์”.  (06/12/55).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dailynews.co.th.
  • GotoKnow.  “พืชผักสมุนไพรใกล้ครัว: กระถิน”.  (ครูนาย).  อ้างอิงใน: สถาบันวิจัยสมุนไพรไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (นฤมล มงคลชัยภักดิ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.gotoknow.org.
  • เว็บสำหรับคนรักอาหาร.  “กระถิน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.siammoo.com.
  • พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.  “กระถินบ้าน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: qsds.go.th.