กระทงลาย เป็นสมุนไพรบำรุงโลหิต รักษาวัณโรค แก้ไข้มาลาเรีย 

WM

ภาพจาก Medthai

สมุนไพร กระทงลาย เป็นยาบำรุงโลหิต รักษาวัณโรค แก้ไข้มาลาเรีย

กระทงลาย จัดเป็นสมุนไพรไม้เถาเนื้อแข็งขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 3-10 เมตร หรือขึ้นพาดพันต้นไม้อื่นไปได้ไกลถึง 10 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลปนสีเทา ผิวขรุขระเล็กน้อย ตามกิ่งจะมีรูอากาศกระจายอยู่ทั่วไป ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด ขึ้นได้ในดินทุกชนิด ชอบแสงแดดแบบเต็มวัน

สามารถพบต้นกระทงลายได้ทั่วไป โดยมักขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าโปร่ง ป่าดงดิบ ป่าผลัดใบ ป่าละเมาะ หรือตามพื้นที่โล่ง ที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 0-1,300 เมตร และจะพบได้มากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ทางจีนตอนใต้ พม่า อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย จนถึงออสเตรเลีย และนิวแคลิโดเนีย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาค

กระทงลาย มีชื่อสมุนไพรท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า นางแตก (นครราชสีมา), มะแตก มะแตกเครือ มักแตก (ภาคเหนือ, ภาคอีสาน), กระทงลาย กระทุงลาย โชด (ภาคกลาง), หมากแตก

ชื่อสามัญ Black ipecac, Black oil plant, Black oil tree, Celastrus dependens, Climbing staff plant, Climbing staff tree, Intellect tree[2]

ชื่อวิทยาศาสตร์ Celastrus paniculatus Willd. จัดอยู่ในวงศ์กระทงลาย (CELASTRACEAE)[1]

WM
ภาพจาก Medthai

ใบกระทงลาย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี หรือรูปวงรี หรือเป็นรูปวงรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมนสอบเข้าหากัน ส่วนขอบใบหยักละเอียดเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร

หลังใบเรียบ ส่วนท้องใบมีขนอยู่ประปราย มีเส้นแขนงใบประมาณ 5-9 คู่ มองเห็นได้ชัดเจน และก้านใบยาวประมาณ 0.8-2.5 เซนติเมตร[1],[2],[6]

ดอกกระทงลาย ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนงที่ปลายกิ่งหรือปลายยอด ยาวประมาณ 4-8 นิ้ว ดอกเป็นแบบแยกเพศ ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก ดอกเป็นสีขาวอมสีเหลือง มีกลีบดอก 5 กลีบและมีกลีบเลี้ยงดอก 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันคล้ายรูประฆัง ปลายกลีบดอกแยกออกเป็นแฉก

มีลักษณะค่อนข้างกลม และมีขนขึ้นประปราย ฐานดอกเป็นรูปถ้วยนูน กลางดอกเพศผู้มีเกสรอยู่ 5 ก้าน ยาวประมาณ 2.2.5 มิลลิเมตร ส่วนดอกเพศเมียมีเกสรยาวกว่าเกสรเพศผู้และปลายแยกเป็น 3 แฉก โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม[1],[4],[6]

ผลกระทงลาย ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม ผลมีขนาดกว้างประมาณ 5-8 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 5-10 มิลลิเมตร ผิวผลเรียบ มีลักษณะเป็นพู 3 พู ที่ปลายผลมียอดเกสรเพศเมียติดอยู่ แต่พอผลแก่เต็มที่แล้วเกสรที่ปลายก็จะหลุดออก ผลอ่อนเป็นสีเขียว พอแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มปนเหลืองและแตกออกเป็น 3 ซีก

ในแต่ละผลจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 3-6 เมล็ด (พูละประมาณ 2 เมล็ด) เมล็ดกระทงลายมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปรีและมีเนื้อเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง เมล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 3.5-5 มิลลิเมตร โดยจะติดผลในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม[1],[3],[4],[6]

สรรพคุณของกระทงลาย

  • ใบมีฤทธิ์ในการกระตุ้นประสาท ด้วยการนำใบมาต้มหรือคั้นเอาแต่น้ำกิน (ใบ)[1],[6]
  • สารสกัดด้วยน้ำมันจากเมล็ดสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในด้านความจำได้ (เมล็ด)[8]
  • ผลช่วยบำรุงโลหิต (ผล)[2],[5]
  • แก่นใช้เป็นยารักษาวัณโรค (แก่น)[2],[5]
  • ใช้เป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย (เปลือก[1], ราก[2],[5])
  • เมล็ดใช้เป็นยาแก้ไข้ (เมล็ด)[1]
  • ช่วยขับเหงื่อ (น้ำมันจากเมล็ด)[2]
  • ใช้ราก เถา และใบ รับประทานเป็นยาแก้ไข้ลงท้องหรืออาการท้องเดิน (ราก, เถา, ใบ)[9]
  • รากตากแห้งใช้ต้มผสมกับข้าวเปลือก 9 เม็ด ใช้ดื่มกินแก้อาการปวดท้อง หรือจะใช้เถาและรากรับประทานก็ได้เช่นกัน (ราก, เถา)[3],[9]
  • ใบนำมาต้มหรือคั้นเอาแต่น้ำกินช่วยรักษาโรคบิด หรือจะใช้เปลือกต้นนำมาตำผสมกับตัวมดแดงและเกลือใช้กินครั้งเดียวเพื่อแก้อาการบิดก็ได้ (ใบ, เปลือกต้น)[2],[6]
  • ผลช่วยแก้ลมจุกเสียด (ผล)[2],[5]
  • ลำต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ (ลำต้น)[2]
  • ช่วยแก้ไตพิการ (โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ มีปัสสาวะขุ่นข้นเป็นสีเหลืองหรือแดง และมักมีอาการแน่นท้อง กินอาหารไม่ได้ร่วมด้วย) ด้วยการใช้ลำต้นนำมาต้มกับน้ำเป็นยาดื่ม (ลำต้น)[2]
  • ใบใช้ถอนพิษฝิ่น ด้วยการใช้ใบนำมาต้มหรือคั้นเอาแต่น้ำกิน (ใบ)[1],[6]
  • ใบใช้ถอนพิษฝี (ไม่ยืนยัน)[9]
  • ผลช่วยแก้พิษงูได้ แต่ยังไม่มีรายงานทางวิทยาศาสตร์รับรอง (ผล)[2]

น้ำมันจากเมล็ดใช้รักษาโรคเหน็บชา (น้ำมันจากเมล็ด)[2]

เมล็ดใช้กินหรือใช้พอกรักษาโรคปวดตามข้อ ปวดตามกล้ามเนื้อ(เมล็ด)[2]

เมล็ดนำมาตำให้ละเอียด ใช้พอกหรือกินเป็นยาแก้โรคอัมพาต (เมล็ด)[2]

ช่วยบำรุงน้ำนมของสตรีหลังการคลอดบุตรใหม่เวลาอยู่ไฟ (เข้าใจว่าใช้รากต้มผสมกับกับข้าวเปลือก 9 เมล็ด ใช้ดื่มเป็นยา)[3]

เถานำมาต้มหรือฝนเป็นยารับประทานแทนการอยู่ไฟของสตรีหลังคลอดบุตรและอยู่ในเรือนไฟ อีกทั้งยังเป็นยาบำรุงน้ำนมด้วยอีกด้วย (เถา)[9]

ประโยชน์ของต้นกระทงลาย

ยอดอ่อนสามารถนำมาใช้แกงใส่ไข่มดแดงหรือใช้ลวกรับประทานร่วมกับน้ำพริก[3]

น้ำมันจากเมล็ดใช้ตามไฟหรือเคลือบกระดาษกันน้ำซึม[4]

ผลสามารถนำไปสกัดน้ำมันทำเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงได้[5]

ในสมัยก่อนจะใช้เมล็ดแก่บีบเอาน้ำมันสำหรับใช้จุดตะเกียง[3]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  • หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “กระทงลาย (Krathong Lai)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 27.
  • อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “กระทงลาย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/.
  • หนังสือพืชและอาหารสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน).  “กระทงลาย”.  (อัปสร และคณะ).
  • หนังสือ Flora of Thailand Volume 10 Part 2.
  • มูลนิธิสุขภาพไทย.  “หมากแตก ใช้ประโยชน์ได้หลายส่วน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaihof.org.
  • ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “กระทงลาย, มะแตก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th.
  • หนังสืออนุกรมวิธานพืช อักษร ก. ราชบัณฑิตยสถาน.
  • Bhanumathy M. Harish MS. Shivaprasad HN. Sushma G (2010).  “Nootropic activity of Celastrus paniculatus seed”.  Pharmaceutical Biology 48 (3): 324–7.
  • ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “มะแตกเครือ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org.