กระถินเทศเป็นสมุนไพรยาอายุวัฒนะ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

WM

ภาพจาก Medthai

สมุนไพร กระถินเทศ เป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

กระถินเทศ จัดเป็นสมุนไพรไม้พุ่มผลัดใบขนาดย่อม กิ่งมักคดไปมาแต่จะยืดจนเกือบตรงเมื่อต้นเจริญเติบโตขึ้น ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 2-4 เมตร ตามลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลม กิ่งออกในลักษณะซิกแซ็ก เปลือกต้นเป็นสีคล้ำน้ำตาล

ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ปักชำกิ่ง ตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยและดินเหนียวที่อุ้มน้ำได้ดี ต้องการน้ำปานกลาง ควรปลูกในที่มีแสงแดดทั้งวัน มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ พบขึ้นเป็นวัชพืชทั่วไปในเขตร้อน[1],[2],[5],[7]

กระถินเทศ มีชื่อสมุนไพรท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เกากรึนอง (กาญจนบุรี), บุหงาอินโดนีเซีย (กรุงเทพฯ), บุหงาละสะมะนา บุหงาละสมนา (ปัตตานี), กระถินเทศ กระถินหอม คำใต้ ดอกคำใต้ (ภาคเหนือ), กระถิน (ภาคกลาง), ถิน (ภาคใต้), กะถิ่นเทศ กะถิ่นหอม (ไทย), มอนคำ (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), บุหงาเซียม (มลายู-ภาคใต้), อะเจ๋าฉิ่ว (จีน-แต้จิ๋ว), ยาจ้าวซู่ จินเหอฮวน (จีนกลาง)

WM
ภาพจาก Medthai

ชื่อสามัญ Cassie, Cassie Flower, Huisache, Needle Bush, Sponge Tree, Sweet Acacia, Thorny Acacia

ชื่อวิทยาศาสตร์ Acacia farnesiana (L.) Willd. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)[7]

หมายเหตุ : พรรณไม้ชนิดนี้เคยใช้ชื่อ Acacia farnesia (L.) Willd. มาจนถึงปี ค.ศ.2005 แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนมาอยู่ในสกุล Vachellia แล้วพร้อมกับชนิดอื่น ๆ แต่อย่างไรก็ตามอาจมีการเปลี่ยนกลับไปอยู่ในสกุลเดิมก็เป็นได้[7]

ใบกระถินเทศ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ แกนกลางใบประกอบยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร ก้านใบประกอบยาวประมาณ 1-1.3 เซนติเมตร มีต่อมบนก้านใบ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.2-0.4 มิลลิเมตร ไม่มีต่อมบนแกนกลางใบ ช่อใบย่อยมี 4-7 คู่ ยาวประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ก้านใบประกอบย่อยยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร

ส่วนใบย่อยออกเรียงตรงข้ามกัน มีประมาณ 10-20 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปดาบ หรือรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม เบี้ยว ปลายเป็นติ่ง โคนใบตัด ไร้ก้าน ใบย่อยเป็นสีเขียวแก่มีขนาดยาวประมาณ 2-7 มิลลิเมตร โคนก้านใบมีหูใบแปลงรูปเป็นหนามแหลมตรงและแข็ง 1 คู่ ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร[1],[2],[5],[7]

ดอกกระถินเทศ ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่น มีลักษณะเป็นพุ่มกลม มีหลายช่อออกเป็นกระจุก ก้านช่อยาวประมาณ 1.5-4.5 เซนติเมตร ช่อดอกทรงกลมมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.6-1 เซนติเมตร ที่โคนช่อมีวงใบประดับขนาดเล็ก 4-5 ใบ ดอกย่อยไร้ก้าน ใบประดับ 1 ใบ ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มีขน กลีบเลี้ยงติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 1.3-1.5 มิลลิเมตร ปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ยาวประมาณ 0.2 มิลลิเมตร เกลี้ยง

ส่วนกลีบดอกติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร ปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปขอบขนานขนาดเล็ก ยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร กลีบดอกเป็นสีเหลืองสด และมีกลิ่นหอมมาก ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก แยกจรดโคน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 3.5-5.5 มิลลิเมตร

ส่วนรังไข่ยาวได้ประมาณ 1.5 มิลลิเมตร เกือบไร้ก้าน เกลี้ยง และมีขนละเอียด ก้านเกสรเพศเมียมีลักษณะเรียวยาว ขนาดยาวเท่า ๆ เกสรเพศผู้ ยอดเกสรมีขนาดเล็ก จะให้ดอกเมื่อต้นมีอายุประมาณ 3 ปี โดนจะออกดอกในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม[1],[5],[7]

ผลกระถินเทศ ออกผลเป็นฝัก ฝักมีลักษณะกลมเป็นรูปทรงกระบอก ยาวได้ประมาณ 2-9 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ฝักจะตรงหรือโค้งงอเล็กน้อย ผิวฝักหนาเกลี้ยง เมื่อฝักแก่จะไม่แตก ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 15 เมล็ด เรียงเป็น 2 แถว เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปรี แบนเล็กน้อย ยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร มีรอย (pleurogram) รูปรี ยาว 6-7 มิลลิเมตร[1],[2],[5],[7]

สรรพคุณของกระถินเทศ

  • ตำรายาไทยจะใช้รากกระถินเทศกินเป็นยาอายุวัฒนะ (ราก)[1],[3]
  • หากเป็นวัณโรคมีร่างกายอ่อนแอ ให้ใช้รากแห้งประมาณ 15-30 กรัม ต้มเอาน้ำตุ๋นกับเป็ด หรือไก่ หรือเต้าหู้ (อย่างใดอย่างหนึ่ง) ใช้กินวันละครั้ง (รากแห้ง)[2],[4]
  • เมล็ดนำมาบดให้เป็นผง หรือคั่วกินเป็นอาหารปกติ จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ (เมล็ด)[3]
  • ยาขี้ผึ้งจากดอกใช้เป็นยาแก้ปวดศีรษะ (ดอก)[2]
  • เปลือกใช้เป็นยาแก้ไอ (เปลือก)[5]
  • ยางจากรากใช้อม กิน เคี้ยวเป็นยาแก้ไอ แก้เจ็บคอ ช่วยทำให้คอชุ่ม (ยางจากราก)[2],[3],[4] หรือใช้ยางเข้ายาแก้ไอ บรรเทาอาการระคายคอ (ยาง)[1],[2]
  • ใช้เป็นยารักษาแผลในคอ (ราก)[3]
  • รากมีสรรพคุณทำให้อาเจียน (ราก)[5] บ้างใช้เปลือกนำมาต้มกับหอมหัวใหญ่กินเป็นยาทำให้อาเจียน (เปลือกต้น)[2]
  • เมื่อเป็นโรคเลือดออกตามไรฟัน ให้ใช้เปลือกต้นประมาณ 1 ส่วน น้ำ 20 ส่วน แล้วผสมกับขิงสดอีก 1 แง่ง ต้มให้เดือด แล้วกรองเอาแต่น้ำใช้บ้วนปากทุกเช้าเย็นเป็นประจำ (เปลือกต้น)[2],[4] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า ให้นำรากมาต้มรวมกับขิงใช้อมบ้วนปากแก้เหงือกอักเสบและมีเลือดออก (ราก)[5]
  • ยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำอมเป็นยาแก้ปวดฟัน (ราก)[1]
  • ใช้เป็นยาแก้โรคปอด (ยาง, รากและเมล็ด)[4]
  • ยาชงจากดอกใช้กินแก้อาการอาหารไม่ย่อย (ดอก)[2]
  • ฝักดิบจะมีรสฝาดมาก เมื่อนำมาต้มกับน้ำกินจะมีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคบิดได้ (ฝักดิบสีเขียว)[2]
  • เปลือกต้นมีรสฝาด ใช้ภายในเป็นยาแก้ท้องเสียได้ โดยนำมาต้มเอาน้ำกินแทนน้ำชา (เปลือกต้น)[2],[3],[4]
  • ดอกใช้แช่กับเหล้ากินเป็นยาแก้ปวดท้อง และเป็นยากระตุ้น (ดอก)[2]
  • ใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร (เปลือกต้น)[5]
  • เปลือกใช้ต้มแล้วกรองเอาแต่น้ำใช้ล้างแผล แก้ดากออก แก้ระดูขาว (เปลือกต้น)[2],[4]
  • เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาฝาดสมาน ใช้สมานแผลห้ามเลือด โดยนำมาบดเป็นผงโรยหรือพอกบริเวณบาดแผล หรือบดให้ละเอียดต้มแล้วกรองเอาน้ำใช้ล้างแผลหรือใช้ทาแผล โดยส่วนที่ใช้ต้องทำให้แห้งและใช้ประมาณ 1.5-3 กรัม (เปลือกต้น)[2],[3],[4],[5]
  • ใบอ่อนใช้ตำแล้วเอากากมาพอกแก้แผลเรื้อรังและแก้บาดแผล เมื่อนำมาต้มกรองเอาแต่น้ำจะใช้ล้างแผลได้ (ใบอ่อน)[2],[4],[5]
  • รากใช้ภายนอกนำมาต้มแล้วกรองเอาน้ำใช้ล้างแผล หรือนำมาตำให้ละเอียดแล้วเอามาพอกแผล แก้ฝีมีหนอง โดยส่วนที่ใช้ต้องทำให้แห้ง และใช้ประมาณ 15-24 กรัม (ราก)[2],[3] ส่วนตำรับยาแก้ฝีมีหนองหลายตัวนั้น ระบุให้ใช้รากสดประมาณ 60 กรัม ถ้ามีหนองน้อยให้นำมาตุ๋นกับเป็ดหรือไก่กิน แต่ถ้ามีหนองมากให้นำมาตุ๋นกับเต้าหู้กิน (รากสด)[2]
  • เนื้อหุ้มเมล็ดใช้ตำแล้วนำมาพอกแก้ฝีหลายหัวและใช้แก้เนื้องอก (เนื้อหุ้มเมล็ด)[2]
  • ใช้รักษาฝีหนองในร่างกาย (รากและเมล็ด)[4]
  • ฝักดิบใช้ต้มเอาน้ำล้างแผลแก้ผิวหนังที่มีอาการเยื่อเมือกอักเสบ เช่น ที่คอและตา (ฝักดิบสีเขียว)[2],[4] ส่วนราก เปลือก และใบ ก็มีรสฝาดเช่นกัน สามารถนำมาต้มแล้วกรองเอาน้ำใช้ล้างผิวหนังที่มีอาการเยื่อเมือกอักเสบ เช่น ที่คอและตาได้ (ราก, เปลือกต้น, ใบ)[2]
  • รากใช้เป็นยาทาแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย (ราก)[1],[3]
  • รากใช้เป็นยาพอกแก้บวม (ราก)[5] บ้างใช้รากผสมกับเหล้าตำพอกแก้แขนขาบวมและอักเสบ (ราก)[2]
  • รากใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อักเสบ ปวดข้อ แก้โรคไขข้ออักเสบ (ราก)[2],[3],[4],[5]
  • ตำรับยาแก้อาการปวดตามข้อ แก้ฝีหนองในปอด จะใช้รากสดประมาณ 60 กรัม นำมาตุ๋นกับเป็ด หรือไก่ หรือเต้าหู้ อย่างใดอย่างหนึ่งกิน (รากสด)[2],[4]
  • ใบแก่ใช้ตำแล้วคั้นเอาน้ำจากใบมาทาบริเวณเอวและหลัง จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ (ใบแก่)[2],[4]
  • ดอกใช้เป็นยาแก้เกร็ง (ดอก)[5]
  • ยางใช้ผสมกับยาผงปั้นเป็นเม็ดผสมกับยาอื่น แก้เยื่ออ่อนของอวัยวะภายในอักเสบ เพิ่มความชุ่มชื้น (ยาง)[2],[4]
  • ตำรับยาบำรุงหัวใจพื้นบ้านของอำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร จะใช้ลำต้นกระถินเทศ 2-3 กิ่ง นำมาตำหรือทุบ แล้วนำไปต้มกับน้ำครึ่งลิตรพอเดือด ทิ้งให้อุ่น ให้หญิงคลอดลูกที่อ่อนเพลียเนื่องจากการตกเลือด ดื่มเป็นยาบำรุงหัวใจจะสดชื่นขึ้นทันที แต่จะให้ดื่มหลังจากที่ดื่มน้ำใบเสนียด ซึ่งเตรียมได้จากการนำใบเสนียดสด ๆ 5 ใบ มาโขลกกับเกลือเล็กน้อยดื่มเพื่อเป็นยาห้ามเลือด ถ้ายังไม่หายอ่อนเพลียก็จะให้รับประทานน้ำต้มจากกิ่งกระถินเทศ (ข้อมูลจากการสัมภาษณ์บุคคล ยังไม่ได้รับการพิสูจน์)

หมายเหตุ :

กรณีใช้ภายในให้ใช้ต้นสดครั้งละ 30-60 กรัม ถ้าเป็นต้นแห้งให้ใช้ครั้งละ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ส่วนการใช้ภายนอกให้ใช้ได้ตามความต้องการ[4] ส่วนของยางที่นำมาใช้ ให้ใช้ยางสด ส่วนของใบให้ใช้ใบสด ส่วนเปลือกต้นและรากจะใช้แบบตากแห้งหรือแบบสดก็ได้ (สามารถเก็บไว้ได้ตลอดปี)[2]

ข้อควรระวัง : เกสรจากดอกเมื่อเข้าตาอาจทำให้เคืองตาได้[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระถินเทศ

สารสำคัญที่พบ ได้แก่ anisaldehyde, benzoic aldehyde, chotesterol, cresol, djenkolic acid, eugenol, hydrocyanic acid, kaempferol, kaempferol-7-galloyl0glycoside, N-acetyl, sulfoxide, linamarin, palmitic acid, pentadecanoic acid, sitostrol, stigmasterol, tannin, triacontan-l-o, tyramine[3]

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่พบ ได้แก่ ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ขยายหลอดลม เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกคลายตัว ลดการอักเสบ ต้านเชื้อแบคทีเรีย เสริมฤทธิ์ยานอนหลับ[3]

ในการสกัดสารด้วยแอลกอฮอล์จากกระถินเทศ เมื่อนำมาละลายในน้ำขนาด 20-80 มิลลิกรัมต่อกรัม พบว่ามีฤทธิ์ทำให้หัวใจของกบที่แยกออกจากตัวนั้นบีบตัวลดลงเป็นจังหวะ ความแรงจากการบีบตัวลดลงชั่วคราวในช่วงแรก ต่อมาจะเพิ่มการบีบตัวขึ้นเป็นจังหวะ ส่วนความแรงของการบีบตัวของกระต่ายเมื่อใช้สารสกัดชนิดเดียวกัน

พบว่าจะทำให้การบีบตัวในระยะแรกเพิ่มขึ้น ต่อมาก็จะลดลงเป็นจังหวะ ความแรงในการบีบตัวในขนาด 40-80 มิลลิกรัมต่อกรัม ก็จะทำให้หัวใจของสุนัขทั้งห้องบนและห้องล่างบีบตัวเพิ่มขึ้นในช่วงแรก ๆ ทำให้ความดันเลือดของสุนัขที่ทำให้สลบตกลงในช่วงระยะสั้น แล้วความดันเลือดก็จะสูงขึ้นเล็กน้อย นอกจากนี้สารที่สกัดได้จากกระถินเทศยังมีฤทธิ์ทำให้ปริมาตรและจังหวะในการหายใจของสุนัขเพิ่มขึ้นอีกด้วย[2],[4]

สารละลายที่ได้จากสมุนไพรชนิดนี้มีความเข้มข้น 1 ต่อ 1,000 ส่วน ทำให้สามารถแก้ฤทธิ์ของ acetylcholine และแบลเรียมคลอไรด์ที่มากระตุ้นกล้ามเนื้อมดลูกของหนูใหญ่ และยังมีฤทธิ์ยับยั้งจังหวะการบีบตัวตามปกติของกล้ามเนื้อมดลูกของหนูใหญ่ที่แยกจากตัว[2],[4]

จากการทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดจากใบและเปลือกต้นกระถินเทศด้วยเอทานอลร้อยละ 70 ต่อการต้านมาลาเรียจากเชื้อ Plasmodium falciparum ที่ดื้อต่อยาคลอโรควิน พบว่าสารสกัดจากเปลือกต้นกระถินเทศมีฤทธิ์ต้านมาลาเรียจากเชื้อดังกล่าว

โดยความเข้มข้นที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อได้ครึ่งหนึ่ง มีค่าเท่ากับ 1.3±0.2 มคก./มล. ส่วนสารสกัดจากใบกระถินเทศไม่สามารถต้านมาลาเรียได้ นอกจากนี้สารสกัดเปลือกต้นกระถินเทศ ยังสามารถต้านมาลาเรียจากเชื้อ Plasmodium berghei ได้ 32±5% อีกด้วย[6]

เมื่อปี ค.ศ.1992 ที่ประเทศอียิปต์ได้มีการทดลองใช้สารสกัดจากเมล็ดกระถินเทศ ผลการทดลองพบว่า มีฤทธิ์ในการลดระดับน้ำตาลในเลือดได้[3]

ประโยชน์ของกระถินเทศ

มีบ้างที่นำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป[7]

รากใช้ตำแล้วนำมาพอกที่กีบเท้าวัว ควาย จะสามารถฆ่าหรือป้องกันพยาธิได้[2]

ฝักประกอบไปด้วยของฝาด (tannin) ประมาณ 23% สามารถนำมาใช้เป็นสีย้อมแบบการใช้น้ำฝาดและทำหมึก มักใช้ผสมในน้ำต้มย้อมผ้า จะได้เป็นสีธรรมชาติมากขึ้น[2],[5] ส่วนเปลือกนำมาใช้ฟอกหนัง[2]

ดอกสามารถนำมาใช้เป็นยาฆ่าแมลงได้[5]

ในฝรั่งเศสจะปลูกต้นกระถินเทศไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ก็เพื่อนำดอกของมันมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมทำน้ำหอม โดยนำมาสกัดเอากลิ่นหอมของดอกและกลั่นมาเป็นน้ำหอม[2],[4],[5]

น้ำมันจากดอกกระถินเทศ (Cassie oil) สามารถนำมาผสมในเครื่องหอมต่าง ๆ ได้ เช่น น้ำมันใส่ผม อบผ้าเช็ดหน้า ฯลฯ[2] และยังสามารถนำมาใช้แต่งกลิ่นอาหาร เครื่องดื่ม ขนมหวาน และลูกกวาดได้ แต่ต้องใช้ในปริมาณต่ำ[5]

ยางที่ได้จากลำต้นเป็นยางที่มีคุณภาพดี (ลำต้นเมื่อมีบาดแผลจะให้ยางไม้สีเหลืองถึงสีน้ำตาลเข้ม) เรียกว่า “กัมอะคาเซีย” (Gum acacia) สามารถนำมาใช้ทางด้านเภสัชกรรมเป็นสารแขวนลอย ใช้ทำกาว พัฒนาเป็นสารยึดเกาะในอุตสาหกรรมการผลิตยาเม็ด ใช้เป็นยาหล่อลื่น ใช้ทำขนมหวานประเภทลูกอม ลูกกวาด เบียร์ น้ำผลไม้ เบเกอรี่ ผลิตภัณฑ์สารให้กลิ่น ฯลฯ[1],[2],[5]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “กระถินเทศ Sponge Tree, Cassie Flower”.  หน้า 29.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “กระถินเทศ”.  หน้า 24-27.
  3. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “กระถินเทศ”.  หน้า 50.
  4. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “กระถินเทศ”.  หน้า 34.
  5. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ฤทธิ์ต้านมาลาเรียจากสารสกัดเปลือกต้นกระถินเทศ”.  เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th.
  6. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “กระถินเทศ”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.