กระต่ายจันทร์ เป็นสมุนไพรยาแก้ช้ำใน บำรุงสายตา และแก้หวัดได้ดี 

WM

ภาพจาก medthai

สมุนไพร กระต่ายจันทร์ เป็นยาแก้ช้ำใน บำรุงสายตา และแก้หวัดได้ดี

กระต่ายจันทร์ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกฤดูเดียว ที่มีลำต้นทอดนอนเลื้อยแผ่ไปตามพื้นดินที่ชื้นเย็น ลำต้นมีขนาดเล็กและแตกกิ่งก้านมาก ส่วนปลายจะแตกกิ่งก้านชูตั้งขึ้นเล็กน้อย หรืออาจชูได้สูงถึง 15-30 เซนติเมตร ลำต้นที่ยังอ่อนอยู่จะมีขนยุ่งขึ้นปกคลุมคล้ายใยแมงมุม หรือบางต้นก็ค่อนข้างเรียบ ลำต้นเป็นสีเขียวอ่อน มีกลิ่นเหม็นเล็กน้อย

ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์ในเขตร้อนของทวีปเอเชีย แอฟริกา และออสเตรเลีย ในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์อยู่ทั่วทุกภาค โดยมักพบขึ้นตามบริเวณที่โล่ง ริมแหล่งน้ำ ริมชายฝั่งแม่น้ำ ตามนาข้าว หรือตามที่ชื้นแฉะ บนพื้นที่ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงที่ความสูงประมาณ 1,800 เมตร

กระต่ายจันทร์ สมุนไพรท้องถิ่นมีชื่ออื่น ๆ ว่า หญ้าจาม (เชียงใหม่), หญ้าขี้ตู้ด (น่าน), เหมือนโลด (นครราชสีมา), กระต่ายจันทร์ (กรุงเทพฯ), หญ้าจาม (ชุมพร), หญ้ากระจาม (สุราษฎร์ธานี), กระต่าย กระต่ายจาม กระตายจันทร์ หญ้ากระต่ายจาม หญ้าต่ายจาม หญ้าต่ายจันทร์ หญ้าผมยุ่ง สาบแร้ง (ภาคกลาง), โฮ่วเกี๋ยอึ้มเจี๋ยะเช้า (จีน), เอ๋อปุ๊สือเฉ่า (จีนกลาง) เป็นต้น

ชื่อสามัญ Spreading-sneezeweed

ชื่อวิทยาศาสตร์ Centipeda minima (L.) A.Braun & Asch. จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1],[4]

WM
ภาพจาก medthai

ใบกระต่ายจันทร์ ใบเป็นใบเดี่ยวขนาดเล็ก ออกเรียงสลับ ใบจะเกิดจากต้นโดยตรงโดยที่ไม่มีก้าน ลักษณะของใบเป็นรูปช้อนแกมขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบสอบ ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยห่าง ๆ หรือหยักเว้าเป็นง่ามข้างละ 2-3 หยัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-7 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 4-20 มิลลิเมตร ใบอ่อนใต้ท้องใบจะมีขน ส่วนใบแก่ขนนั้นจะหลุดออกไปจนเกลี้ยง เส้นใบเห็นได้ไม่ชัดเจน[1],[2],[3],[4]

ดอกกระต่ายจันทร์ ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่นตามซอกใบ ดอกย่อยเรียงตัวอัดกันแน่นเป็นรูปเกือบกลม หรือมีลักษณะกลมแบน ปลายกลมจักเป็นซี่ ๆ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-4 มิลลิเมตร ก้านช่อดอกสั้นมากหรือไม่มีก้านดอก โคนช่อมีใบประดับรองรับเป็นรูปช้อนขนาดเล็กจำนวนมากเรียงซ้อนประมาณ 2 ชั้น อยู่โดยรอบฐานรองดอกที่เป็นแผ่นกลมขนาดเล็กและนูนเล็กน้อย

ดอกเพศเมียจะมีขนาดเล็กมากและมีจำนวนมาก เรียงเป็นวงบนฐานดอกล้อมรอบดอกสมบูรณ์เพศซึ่งมีขนาดเล็กกว่าและมีจำนวนน้อยกว่า ดอกเพศเมียจะมีกลีบดอกเป็นสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดเรียว สั้นมาก ปลายแยกออกเป็นแฉก 2-3 แฉก รังไข่เล็ก

ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียแยกออกเป็นแฉก 2 แฉก ส่วนดอกสมบูรณ์เพศจะมีกลีบดอกเป็นสีเหลืองหรือสีเหลืองอมเขียวมีแถบสีม่วงแต้มอยู่ ซึ่งจะอยู่วงใน โคนกลีบติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกออกเป็นแฉก 4 แฉก รังไข่มีขนาดเล็ก มีเกสรเพศผู้ 4 อัน[1],[2],[3],[4]

ผลกระต่ายจันทร์ ผลเป็นผลแห้งไม่แตก ลักษณะของผลมักเป็นสี่เหลี่ยมรูปรีหรือเป็นรูปเกือบขอบขนาน มีขนาดเล็กมาก ยาวได้ประมาณ 1 มิลลิเมตร ด้านปลายหนา เปลือกด้านนอกมีขนสีขาวขึ้นปกคลุมเล็กน้อย[1],[2],[4]

สรรพคุณของกระต่ายจันทร์

  • ทั้งต้นมีรสเผ็ด เป็นยาอุ่น ออกฤทธิ์ต่อตับและไต มีสรรพคุณช่วยทำให้โลหิตที่คั่งค้างตกทวารหนัก (ต้น)[3]
  • ตำรายาไทยจะใช้ต้นสดและใบสดของต้นกระต่ายจันทร์ นำไปตำผสมกับเหล้า คั้นเอาแต่น้ำมาดื่มเป็นยาแก้ช้ำใน ช่วยให้เลือดกระจาย แก้ไอเป็นเลือด และแก้อาเจียน (ต้น, ใบ)[1]
  • ใช้เป็นยาแก้เด็กเป็นตานขโมย ด้วยการใช้กระต่ายจันทร์ 3 เฉียน ยัดใส่ในไข่ ใช้ต้มรับประทาน (ต้น)[5]
  • ยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ต้นกระต่ายจันทร์ นำไปผสมกับใบข่อยและเทียนดำ ใช้ตำสุมหัวเป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ (ทั้งต้น)[1]
  • ลำต้นใช้เป็นยาแก้โรคเยื่อบุตาอักเสบ ตาเป็นฝ้า เป็นยาบำรุงสายตา (ต้น)[2],[3],[5]
  • ใช้เป็นยาแก้โรคฟันผุ หรืออาจใช้ลำต้นสด นำมาตำให้ละเอียดแล้วทำเป็นยาพอกที่แก้มแก้โรคปวดฟัน (ลำต้น)[2]
  • ช่วยรักษาโรคมาลาเรีย (ลำต้น)[2]
  • ตำรับยาแก้หวัดคัดจมูก จะใช้ต้นกระต่ายจันทร์ 20 กรัม นำมาต้มกับหัวหอม 5 หัว ใช้รับประทานเป็นยา (ต้น)[3] ส่วนชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงใช้ดอกสูดดมแก้หวัด (ดอก)[1]
  • ใบและเมล็ดนำมาบดให้เป็นผง ใช้เป็นยาทำให้จาม (ใบและเมล็ด)[2]
  • ตำรับยาแก้ไซนัส ริดสีดวงจมูก แก้จมูกอักเสบ จะใช้ต้นกระต่ายจันทร์สด ๆ นำมาตำให้แหลก แล้วนำไปใส่ในรูจมูก ถ้าเป็นต้นแห้งให้นำมาบดเป็นผงทำเป็นยานัตถุ์ จะช่วยให้จามและแก้หวัดได้ดี (ต้น)[1],[3]
  • ตำรับยาแก้ไอกรนหรือไอหอบชนิดเย็น จะใช้กระต่ายจันทร์ 20 กรัม นำมาต้มรับประทานโดยใส่น้ำตาลกรวด ถ้าใช้น้ำตาลทราย ต้องนับอายุ 3 ปี ต่อ 7.5 กรัม ต้มกับน้ำรับประทาน (ต้น)[3]
  • ใช้เป็นยาแก้คอตีบอักเสบ (ต้น)[3]
  • เมล็ดใช้เป็นยาขับพยาธิ (เมล็ด)[2]
  • ช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ช่วยแก้เชื้อบิดอะมีบา (ต้น)[2],[3]
  • ใช้รักษาโรคริดสีดวงทวาร (ต้น)[2]
  • ลำต้นใช้เป็นยาแก้ระงับพิษ แก้งูพิษกัด ช่วยดับพิษสุรา (ต้น)[2],[3]
  • ใช้เป็นยาใส่แผล (ต้น)[2]
  • จีนจะใช้สมุนไพรชนิดนี้เป็นยาลดอาการบวม (ต้น)[4]
  • ตำรับยาแก้ช้ำใน ฟกช้ำปวดบวม จะใช้ต้นกระต่ายจันทร์ 20 กรัม นำมาตำให้ละเอียดแล้วนำไปตุ๋นกับเหล้ารับประทาน ส่วนกากให้นำไปพอกบริเวณที่เจ็บ (ต้น)[3]

ใช้เป็นยาขับลมชื้น แก้ไขข้ออักเสบเนื่องจากลมชื้นกระทบ (ต้น)[3]

หมายเหตุ : วิธีใช้ตาม [2],[3] ถ้าเป็นต้นสดให้ใช้ครั้งละ 6-20 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน แต่ถ้าเป็นยาแห้งให้ใช้เพียง 5-10 กรัม ส่วนกรณีใช้ภายนอกให้ใช้ต้นสดได้ตามความเหมาะสม โดยทำเป็นยาพอก[2],[3]

ข้อควรระวัง : สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิด[3] ในรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย มีผู้กล่าวถึงว่ามีพิษด้วย[4] และในบางข้อมูลยังระบุด้วยว่า สมุนไพรชนิดนี้เป็นพิษต่อปศุสัตว์

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระต่ายจันทร์

สารที่พบ ได้แก่ Taraxerol, Taraxasterol, Arinidiol, น้ำมันระเหย และ acid บางชนิด เช่น myriogyne acid[3] และพบสารเคมีจำพวก sesquiterpene 2 ชนิด และ flavonoid อีก 3 ชนิด มีผลในการยับยั้งและต้านภูมิแพ้[4]

กระต่ายจันทร์ที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์หรือนำมาต้มกับน้ำ พบว่ามีประสิทธิภาพในการแก้ไอ ขับเสมหะ และช่วยบรรเทาอาการหืดหอบได้ดี[3]

เมื่อนำน้ำต้มของกระต่ายจันทร์ 25-50% มารวมกับมันสำปะหลังและไข่ไก่ แล้วนำเชื้อวัณโรคไปเพาะในน้ำยานั้น จะพบว่าเชื้อวัณโรคจะไม่เติบโต จึงแสดงให้เห็นว่า สมุนไพรชนิดนี้สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อวัณโรคได้[3]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  • หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “กระต่ายจันทร์”.  หน้า 66.
  • หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “กระต่ายจันทร์”.  หน้า 22-23.
  • หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “กระต่ายจาม”.  หน้า 30.
  • ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กระต่ายจันทร์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.
  • ไทยเกษตรศาสตร์.  “ข้อควรรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกระต่ายจันทร์”.  อ้างอิงใน : บุญชัย  ฉัตตะวานิช.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com.