กระไดลิง สมุนไพรแก้ร้อนใน แก้ไข้เซื่องซึม แก้พิษโลหิต

WM

ภาพจาก medthai

สมุนไพร กระไดลิง แก้ร้อนใน แก้ไข้เซื่องซึม แก้พิษโลหิต

ต้นกระไดลิง จัดเป็นสมุนไพรไม้เถาเนื้อแข็งผลัดใบขนาดใหญ่ มีมือเกาะ มักขึ้นพาดพันตามเรือนยอดของต้นไม้อื่นไปได้ไกล เถาแก่มีลักษณะแข็ง เหนียว แบน โค้งไปมาเป็นลอนสม่ำเสมอ ลักษณะเป็นขั้น ๆ ดูคล้ายบันได จึงเรียกชื่อพรรณไม้ชนิดนี้ว่า “กระไดลิง” ตามกิ่งอ่อนจะมีขนขึ้นประปราย ส่วนกิ่งแก่จะเกลี้ยงไม่มีขน มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน และอินโดนีเซีย

ส่วนในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์อยู่ทั่วภาคของประเทศ ยกเว้นภาคใต้ เช่น จังหวัดเลย, ชัยภูมิ, นครราชสีมา, อยุธยา, กาญจนบุรี, สระบุรี, จันทบุรี, ชลบุรี, ปราจีนบุรี, ตราด, ประจวบคีรีขันธ์ ฯลฯ โดยมักขึ้นตามป่าดิบแล้งและตามป่าเบญจพรรณชื้น[1],[3]

กระไดลิง สมุนไพรมีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะลืมคำ (เชียงใหม่), กระไดลิง (ราชบุรี), กระไดวอก โชกนุ้ย (ชาวบน-ชัยภูมิ), เครือเสี้ยว (ไทใหญ่), กระไดวอก มะลืมดำ (ภาคเหนือ), บันไดลิง, ลางลิง เป็นต้น[1],[2],[4]

WM
ภาพจาก medthai

กระไดลิง ชื่อวิทยาศาสตร์ Bauhinia scandens L.[2] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Lasiobema scandens (L.) de Wit[3], Lasiobema scandens var. horsfieldii (Miq.) de Wit) ส่วนข้อมูลอื่นระบุว่า เป็นชนิด Bauhinia scandens var. horsfieldii (Prain) K.Larsen & S.S.Larsen[1],[4] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Lasiobema horsfieldii Miq.) โดยจัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)

ใบกระไดลิง ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปพัด ปลายใบแหลมหรือเว้ามากหรือน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-12 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-11 เซนติเมตร ใบที่อยู่ส่วนปลายจะเว้าลึกลงมาค่อนใบ แผ่นใบจะมีลักษณะเป็นสองแฉก โคนใบกว้างและมักเว้าเล็กน้อย

ที่รอยต่อก้านใบเป็นรูปคล้ายหัวใจ มีเส้นใบออกจากโคนใบ 5-7 เส้น ผิวใบด้านบนเกลี้ยงเป็นมัน ส่วนด้านล่างมีขนขึ้นประปรายหรือเกลี้ยง ก้านใบยาวประมาณ 1.5-5 เซนติเมตร หูใบมีขนาดเล็กมาก เป็นติ่งยาวและร่วงได้ง่าย[1]

ดอกกระไดลิง ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อดอกเป็นแบบช่อแยกแขนง ยาวประมาณ 12-25 เซนติเมตร มีขนขึ้นประปราย แตกแขนงน้อย แต่ละแขนงจะมีดอกขนาดเล็กจำนวนมาก กลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ติดกันคล้ายรูปถ้วย

ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกเป็นสีขาวอมเหลือง แยกจากกัน คล้ายรูปหัด ก้านกลีบดอกสั้น ดอกมีเกสรเพศผู้สมบูรณ์ 3 อัน และเกสรเพศผู้ไม่สมบูรณ์อีก 2 อัน ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า รังไข่ก้านสั้น[1]

ผลกระไดลิง ออกผลเป็นฝัก ฝักมีลักษณะแบน รูปรี หรือรูปไข่แกมรี ปลายฝักมน มีติ่งแหลมสั้น ๆ ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ฝักแก่เป็นสีน้ำตาลแดง[1] เมื่อแห้งจะแตกออก ภายในมีเมล็ด 1-2 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน[3]

สรรพคุณของกระไดลิง

  • เถามีรสเบื่อเมา มีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษทั้งปวง (กะจำนวนพอประมาณใช้ต้มกับน้ำดื่ม) แก้พิษฝี แก้ไข้ตัวร้อน ขับเหงื่อ[2],[5],[6] แก้พิษไข้ แก้พิษร้อน แก้ร้อนใน แก้ไข้เซื่องซึม แก้พิษโลหิต แก้พิษไข้ทั้งปวง แก้พิษเลือดลม และเป็นยาแก้กระษัย (เถา)[5]
  • ในประเทศอินโดนีเซียจะนิยมใช้น้ำเลี้ยง (sap) หรือน้ำที่ตัดได้จากเถาหรือต้นสดของกระไดลิงที่ไหลซึมออกมา แล้วใช้ภาชนะรอง นำมาจิบกินบ่อย ๆ เพื่อเป็นยาบรรเทาอาการไอ (น้ำจากเถา)[1],[6]
  • ตำรายาพื้นบ้านทางภาคอีสานของไทยจะใช้เถาหรือต้นนำมาต้มกับน้ำหรือฝนกับน้ำดื่มเป็นยาแก้บิด (เถา)[6]
  • เปลือกมีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคผิวหนัง แก้ปวดข้อ[5] ใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำอาบเพื่อใช้เป็นยาคุมกำเนิด แต่คนท้องห้ามใช้เพราะอาจจะทำให้แท้งบุตรได้ (เปลือกต้น)[4]
  • รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษต่าง ๆ (ราก)[5]
  • ใบมีสรรพคุณเป็นยาขับเหงื่อ แก้ไข้ตัวร้อน (ใบ)[5]
  • เมล็ดใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ แก้ไข้เซื่องซึม มีอาการหน้าหมองเนื่องมาจากพิษไข้ แก้ร้อนใน ช่วยขับเหงื่อ (เมล็ด)[5],[6]

ประโยชน์ของกระไดลิง

บางข้อมูลระบุว่า เปลือกของต้นกระไดลิงมีความเหนียว สามารถนำมาใช้แทนเชือกได้ ส่วนเถาแห้งที่คดงอไปมานั้นนิยมนำมาใช้ในงานประดิษฐ์หลายอย่าง เช่น ต้นไม้ประดิษฐ์ (ประกอบเข้ากับใบหรือดอกไม้พลาสติก), กรอบรูป, แกนของโคมไฟ ฯลฯ

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  • ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กระไดลิง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.
  • สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  “กระไดลิง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.saiyathai.com.
  • ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “กระไดลิง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.
  • โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “กระไดลิง”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.
  • หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “กระไดลิง”.  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th.
  • ไทยรัฐออนไลน์.  (นายเกษตร).  “กระไดลิง สรรพคุณน่ารู้”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thairath.co.th.