8 สิทธิตามกฎหมายที่คุณแม่ท้องควรรู้!!

สิทธิประกันสังคมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

สิทธิในการตั้งครรภ์ คือ สิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องได้รับในขณะที่กำลังท้องไปจนถึงขณะที่คลอดลูก ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประกันสังคม ค่าฝากครรภ์ ค่าคลอดบุตร รวมไปถึงการลาคลอดบุตรที่สำนักงานประกันสังคมยังจ่ายค่าจ้างชดเชยในกรณีหยุดงานเพื่อลาคลอดอีกด้วย ดังนั้น หากกำลังตั้งครรภ์คุณแม่จำเป็นที่จะต้องรู้เกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมายนั่นเอง

ในช่วงระยะเวลาของการตั้งครรภ์ลูกน้อยนั้น นอกจากจะได้รับการดูแลจากคุณพ่อหรือคนรอบข้างมากเป็นพิเศษแล้วยังได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการนั่งรถเมล์ การเข้าห้องน้ำ การทานอาหารที่ร้านอาหาร ซึ่งไม่ได้มีเพียงเท่านี้นะคะ เพราะคุณแม่ยังได้รับสิทธิตามกฎหมายอีกด้วย โดยจะมีสิทธิอะไรบ้างนั้นเราไปดูกันเลยค่ะ สำหรับสิทธิตามกฎหมายที่คุณแม่จะได้รับ ก็มีด้วยกัน 8 สิทธิดังนี้

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://www.freepik.com/author/jcomp

1.คุณแม่มีสิทธิลาคลอดได้ไม่เกิน 98 วัน
สำหรับคุณแม่ที่ทำงานนอกบ้าน คุณมีสิทธิลางานได้ไม่เกิน 98 วัน โดยการลาคลอดนั้นจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
– การที่คุณแม่ลาคลอด 98 วันนี้ จะไม่ได้นับรวมกับวันที่คุณแม่ไปฝากครรภ์ และตรวจครรภ์ แต่ถ้าช่วงลาคลอดมีวันหยุดก็จะต้องนับรวมไปกับ 98 วันนี้ด้วย
– ในการลาคลอดคุณแม่จะได้รับค่าจ้าง 45 วันทั้งจากนายจ้างและประกันสังคม ในจำนวนร้อยละ 50 ของเงินเดือนเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินเดือนไม่เกิน 15000 บาท ซึ่งสามารถใช้สิทธิ์ได้เพียง 2 ครั้งเท่านั้น
– ใน 8 วันที่เหลือขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนายจ้าง ทางนายจ้างจะจ่ายหรือไม่จ่ายให้กับเราก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตกลงของคุณแม่และนายจ้างเอง

2.คุณสามารถขอรับค่าคลอดบุตรได้อยู่ที่ 13,000 บาท
กรณีที่คุณแม่เป็นผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคม ทางประกันสังคม จะมีการจ่ายค่าคลอดบุตรให้คุณแม่แบบเหมาจ่ายเป็นจำนวนเงิน 13,000 บาท ต่อการคลอด 1 ครั้ง สามารถทำเรื่องเบิกจ่ายกับโรงพยาบาลไหนก็ได้ ภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้
– จะต้องมีการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมครบ 5 เดือนภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนที่จะคลอดลูกน้อย
– การเบิกค่าคลอดบุตรสามารถเบิกได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
– ถ้าทั้งคุณพ่อและคุณแม่มีประกันสังคมทั้งคู่ สามารถใช้สิทธิคนใดคนหนึ่งเท่านั้น

3.รู้หรือไม่คุณแม่ที่กำลังตั้งท้องสามารถขอรับค่าฝากท้องได้ 1,000 บาท
นอกจากค่าคลอดบุตรแล้ว ยังสามารถเบิกค่าฝากครรภ์จากสำนักงานประกันสังคมได้อีกด้วย เป็นจำนวนเงิน 1,000 บาท โดยจะมีการแบ่งจ่าย 3 ครั้งดังนี้
– ช่วงอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ คุณแม่จะได้รับเงินจำนวน 500 บาท
– ช่วงอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ คุณแม่จะได้รับเงินจำนวน 300 บาท
– ช่วงหลังอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ คุณแม่จะได้รับเงินจำนวน 200 บาท
สำหรับเงินค่าฝากครรภ์นั้นคุณแม่จะต้องสำรองจ่ายไปก่อน แล้วค่อยนำใบเสร็จกับใบรับรองแพทย์มาเบิกได้ในภายหลังที่สำนักงานประกันสังคม

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://www.freepik.com/author/freepik

4.ขอเบิกเงินสงเคราะห์บุตรให้แก่ลูกน้อยได้เดือนละ 600 บาท
หลังคลอดคุณแม่สามารถทำเรื่องขอเบิกเงินสงเคราะห์บุตรได้เดือนละ 600 บาทภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้
– คุณแม่ หรือคุณพ่อที่มีการจดทะเบียนสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย (กรณีที่ใช้สิทธฺของคุณพ่อ ) จะต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 หรือ 33 และมีการจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือนภายในระยะเวลา 36 เดือน
– ต้องเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่นับรวมบุตรบุญธรรม
– จะได้รับเงินสงเคราะห์ ตั้งแต่ลูกน้อยแรกเกิดจนอายุถึง 6 ปีบริบูรณ์ ได้พร้อมกันไม่เกิน 3 คน
– กรณีที่คุณแม่เกิดการเสียชีวิต ลูกน้อยก็ยังมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจนอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์
– กรณีลูกน้อยเสียชีวิต หรือถูกยกให้เป็นลูกบุญธรรมผู้อื่น ก็จะหมดสิทธิ์ในเงินสงเคราะห์บุตรส่วนนี้

5.นายจ้างไม่มีสิทธิ์ไล่ออกจากงานด้วยเหตุผลเพียงเพราะตั้งครรภ์
ในขณะที่คุณตั้งครรภ์ แม้ว่าจะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไปเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการตั้งครรภ์ แต่อย่างไรก็ตามนายจ้างจะไม่มีสิทธิ์ไล่คุณออกจากงานด้วยเหตุผลเพียงเพราะว่าคุณมีการตั้งครรภ์ ที่สำคัญหากมีการถูกบีบบังคับให้ออกจากงานหลังจากรู้ว่าคุณแม่มีการตั้งครรภ์ คุณสามารถฟ้องร้องนายจ้างฐานปฏิบัติต่อคุณที่กำลังตั้งครรภ์โดยไม่เป็นธรรมได้

6.นายจ้างไม่มีสิทธิ์สั่งให้คุณแม่ทำงานที่เสี่ยงอันตราย
งานที่เสี่ยงอันตรายอาจส่งผลต่อสุขภาพของลูกน้อยและตัวคุณแม่เองได้ ด้วยกฎหมายก็ยังมีการบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่านายจ้างไม่มีสิทธิ์สั่งให้ลูกจ้างที่กำลังอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ทำงานต่อไปนี้
– ปฏิบัติงานเกี่ยวกับเครื่องยนต์ที่มีแรงสั่นสะเทือน
– ทำงานที่ขับเคลื่อนหรือติดไปกับยานพาหนะ
– แบกยก หรือขนของที่หนักเกิน 15 กิโลกรัม
– ปฏิบัติงานในเรือ
– และสุดท้ายไม่สิทธิ์ไล่คุณออกจากงาน

7.คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถขอเปลี่ยนมาทำงานที่เหมาะสมได้
สำหรับคุณแม่ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายทั้งต่อตัวเองและลูกน้อย คุณสามารถนำใบรับรองแพทย์มาแสดงเพื่อขอเปลี่ยนงานจากหน้าที่เดิมชั่วคราวจนกว่าจะคลอดได้ ถ้านายจ้างไม่ทำตามก็จะมีโทษทั้งจำและปรับ

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://www.freepik.com/author/our-team

8.เจ้านายหรือหัวหน้างานไม่สามารถสั่งให้คุณทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุด
ตามกฎหมายแล้วเจ้านายไม่สามารถสั่งให้ลูกน้องที่มีการตั้งครรภ์ทำงานล่วงเวลา 22.00 – 6.00 น. หรือทำงานในวันหยุด เว้นแต่คุณแม่มีตำแหน่งผู้บริหารเอง วิชาการ ธุรการ การเงิน หรือบัญชี แต่ต้องได้รับความยินยอมจากคุณด้วย

คุณแม่ตั้งครรภ์ควรจะศึกษาข้อมูลของสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ควรจะได้รับ  DooDiDo เพื่อจะได้ใช้สิทธิ์ของตัวเองได้เต็มที่ เพราะในขณะที่ตั้งครรภ์จะมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่มากพอสมควร หากได้รู้ถึงสิทธิตามกฎหมายสำหรับคนท้องแล้ว จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการตั้งครรภ์ และยังเป็นหลักประกันที่จะทำให้คุณแม่และลูกน้อยปลอดภัยได้อีกด้วยค่ะ

ขอบคุณแหล่งที่มา : https://konthong.com/articles/rights-for-pregnant-women