5 น้ำสมุนไพรดีต่อสุขภาพ หาดื่มง่าย ทำเองก็ได้

WM

พามารู้จักกับน้ำสมุนไพรดีๆ มีประโยชน์ 5 ชนิดด้วยกัน

คนไทยรู้จักการนำสมุนไพรมาใช้ให้เกิดประโยชน์มาอย่างยาวนาน ด้วยประสบการณ์ที่สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่นจนเกิดการบันทึกเป็นตำหรับยาแพทย์แผนไทยที่เราต่างคุ้นเคยกันดี นอกจากสมุนไพรจะถูกนำมาใช้เป็นยารักษาโรคแล้ว คนสมัยโบราณยังมีการพลิกแพลงนำสมุนไพรมาคั้นเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรโดยมีคำบอกเล่าว่าช่วยให้สุขภาพแข็งแรง สามารถบรรเทาอาการไปจนถึงรักษาโรคได้ 

วันนี้พวกเราจะพาทุกคนเข้าโหมดเฮลธ์ตี้กันบ้าง โดยเราจะพามารู้จักกับ น้ำสมุนไพร ดีๆ มีประโยชน์ 5 ชนิดด้วยกัน ซึ่งแต่ละชนิดนั้นล้วนแต่หาดื่มง่าย ทำดื่มเองก็ได้ แถมส่วนมากยังปลูกไว้ที่สวนหลังบ้านได้ชิลๆ ด้วยค่ะ ตามมาดูกันเลยค่ะ

จากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมามีข่าวที่แชร์กันในวงกว้างว่าฟ้าทะลายโจรสามารถรักษาโควิดได้ รวมถึงน้ำสมุนไพร่อย่างน้ำกระชายนั้นสามารถป้องกันโควิดได้เช่นกัน ทำให้คนไทยหลายคนเริ่มหันมาเห็นความสำคัญของสมุนไพรมากขึ้น ซึ่งความเชื่อดังกล่าวนั้นถูกเพียงครึ่งเดียว เพราะว่าการกินฟ้าทะลายโจรนั้นไม่ได้ป้องกันโควิดได้อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ฟ้าทะลายโจรสามารถช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไว้รัสได้ในระดับหนึ่ง หรือมีอีกข่าวปลอมหนึ่งที่แชร์กันมาบ่อยนั่นคือเครื่องดื่มสมุนไพรสามเกลอ (กระเจี๊ยบ เนื้อพุทรา ใบเตย) ช่วยรักษาโรคหลอดเลือดในหัวใจได้ อันนี้ก็ไม่มีผลวิจัยออกมาอย่างเป็นทางการว่ารักษาได้จริง ดังนั้นการใช้สมุนไพรจึงต้องใช้ควบคู่ไปกับการรักษาตามแพทย์แผนปัจจุบัน หรือผู้ใช้สมุนไพรต้องศึกษารายละเอียดและสรรพคุณให้ดีก่อนนำมาใช้

กรณีที่ยกตัวอย่างให้ทราบด้านบนสามารถสรุปได้ว่า โรคภัยบางอย่างไม่สามารถรักษาด้วยการดื่มสมุนไพรได้ 100 เปอร์เซ็น แต่เครื่องดื่มสุมนไพรบางประเภทใช้รักษาควบคู่ไปกับการรักษาแผนปัจจุบันได้ ก่อนที่คุณจะเชื่อข่าวต่าง ๆ ให้ลองตรวจสอบความถูกต้อง และรอยืนยันผลอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือและก่อนใช้สมุนไพรควรต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเสียก่อน

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/valerialu-4734552/
  1. น้ำมะตูม 

       เริ่มต้นกันกับ มะตูม’ (Bael Fruit)  พืชสมุนไพรที่นิยมนำมาทำเป็นเครื่องดื่มดับกระหาย เพราะมีกลิ่นหอมหวาน ช่วยให้ชุ่มคอ อีกทั้งยังมีประโยชน์เพียบ! ไม่ว่าจะเป็นช่วยขับลม แก้อาการท้องผูก-จุกเสียด รักษาโรคกระเพาะ และมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ 

ส่วนที่เรานำมาทำเครื่องดื่มจะเป็นส่วนผลของมะตูมค่ะ หาซื้อแบบที่ฝานเป็นแว่นตากแห้งได้ตามร้านยาแผนโบราณหรือตามตลาด หรือจะสั่งออนไลน์ก็หาง่ายค่ะ เอามาต้มกับน้ำสะอาด ดื่มอุ่นๆ เหมือนชาสมุนไพร หรือจะเติมน้ำตาลซักหน่อย ใส่น้ำแข็งอีกนิด ดื่มแล้วสดชื่นคลายร้อนได้เป็นอย่างดีเลยล่ะค่ะ

วิธีทำน้ำมะตูม :  

  • เติมน้ำเปล่าลงในหม้อ แล้วใส่มะตูมประมาณ 5-8 แว่นตามลงไป ต้มจนกระทั่งเดือด สังเกตว่าน้ำจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล ต้มต่อไปอีก 15-20 นาที
  • เติมน้ำตาลทรายแดงลงไปในสัดส่วนตามชอบ คนจนน้ำตาลละลายจนหมด เคี่ยวต่อไปเรื่อยๆ จนน้ำมีสีเข้มขึ้นและส่งกลิ่นหอมได้ที่ ยกลงจากเตา แล้วกรองด้วยผ้าขาวบางเพื่อเอาเศษมะตูมออกให้เหลือแค่น้ำ ตั้งพักทิ้งไว้ สามารถดื่มเป็นทั้งแบบร้อนและเย็นผสมน้ำแข็งก็ได้รสชาติที่หอมอร่อย  
  1. น้ำเก๊กฮวย 

       ต่อกันกับอีกหนึ่งน้ำสมุนไพรดับกระหายคลายร้อนยอดฮิต นั่นคือ น้ำเก๊กฮวยเครื่องดื่มสีเหลืองหอมชื่นใจที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี มีสรรพคุณดีต่อสุขภาพไม่น้อยหน้าสมุนไพรชนิดไหน ไม่ว่าจะเป็น แก้อาการร้อนใน แก้กระหายน้ำ  ช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหารให้ทำงานได้ดี มีฤทธิ์ลดระดับความดันโลหิต ฯลฯ  

  อีกทั้งยังหาทานได้ง่ายมากๆ ค่ะ ในร้านสะดวกซื้อ ก็เปิดตู้เย็นหาซื้อมาดื่มกันได้เลย มีให้เลือกหลายยี่ห้อ สำหรับใครที่กำลังลดน้ำหนัก หรือไม่อยากทานน้ำตาลเยอะ เราแนะนำของ น้ำเก๊กฮวยของดอยคำ ที่เป็นกล่องฟ้าเขียว 30 บาท เป็นสูตรที่ใช้หญ้าหวาน ไม่มีน้ำตาลค่า ส่วนใครอยากลองต้มน้ำเก๊กฮวยดื่มที่บ้านเอง ก็ทำได้ไม่ยากค่ะ แค่นำดอกเก๊กฮวยแห้ง มาต้มกับน้ำสะอาด เติมหวานได้ตามใจชอบเช่นกัน ถ้าอยากอัพความหอมก็อาจใส่เตยหอมลงไปด้วยก็ได้นะคะ เข้ากันสุดๆ จ้า  

TIPS 

  • วิธีต้มแบบง่ายๆ ก็แค่ล้างดอกเก๊กฮวยให้สะอาด ต้มในน้ำเดือดประมาณ 5 นาที แต่ไม่ควรต้มนาน เพราะจะทำให้มีรสขม จากนั้นปรุงรสตามชอบ 
  • อยากให้น้ำเก๊กฮวยสีสันน่าทาน ลองใส่อาจใส่ลูกพุดจีนเพิ่มสีเหลืองก็ได้ค่ะ 
  • ดอกเก๊กฮวยแห้งพันธุ์สีขาวจะเหมาะกับการนำมาชง/ต้มดื่มสดชื่นๆ มากว่าพันธุ์สีเหลืองซึ่งมักจะให้รสขมมากกว่า
  • ผู้ป่วยโรคกระเพาะไม่ควรดื่มน้ำเก๊กฮวย เพราะจะทำให้เกิดกรดในกระเพาะเพิ่ม ซึ่งจะทำให้อาการของโรคกำเริบหนัก
WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/couleur-1195798/
  1. น้ำดอกคำฝอย 

       มาต่อกันที่ ดอกคำฝอย’ (Safflower) ค่ะ ไม้ล้มลุกที่ปลูกกันมากใน จ.เชียงใหม่ เจ้าดอกไม้นี้มีประโยชน์ต่อสุขภาพเพียบเลยล่ะ  จึงเป็นนิยมนำมาทำน้ำสมุนไพรดื่มกัน โดยจะใช้ดอกมาอบแห้งหรือตากแห้ง และต้มดื่มเหมือนชา จะดื่มร้อนหรือเย็นก็ได้ตามความชอบ ที่สำคัญใครอยากหาแบบสำเร็จรูปทาน ก็มีเป็น น้ำดอกคำฝอยแบบกล่องของดอยคำ เหมือนกันนะคะ สูตรไม่มีน้ำตาล หวานจากหญ้าหวาน แคลต่ำ ไม่อ้วนจ้า 

 สำหรับสรรพคุณอย่างที่บอกว่าเยอะมาก ไม่ได้โม้! ทั้งบำรุงหัวใจ บำรุงเลือด ลดไขมันในเลือด ช่วยขับเสมหะ และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ใครที่กำลังตั้งครรภ์ไม่ควรดื่มนะคะ เพราะดอกคำฝอยมีสรรพคุณขับเลือดซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้ค่ะ 

วิธีทำน้ำดอกคำฝอย : 

  • ใส่น้ำลงในหม้อ ตั้งไฟแรง พอน้ำเดือดก็ใส่ดอกคำฝอยแห้งลงไป ต้มจนเดือด รอกระทั่งน้ำเริ่มเปลี่ยนสี ลดไฟอ่อนลง ต้มต่ออีกสักครู่ ยกลงจากเตา กรองเอากากออก ให้หมด
  • ใส่น้ำเชื่อมลงในแก้ว คนผสมให้เข้ากัน พร้อมดื่มแบบอุ่น ๆ เป็นชาสมุนไพร หรือหากดื่มแบบเย็นก็สามารถเติมน้ำแข็งเพิ่มความสดชื่นได้
WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/wonderfulbali-23124233/
  1. น้ำกระเจี๊ยบ 

       อีกหนึ่งน้ำสมุนไพรที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย นั่นคือ น้ำกระเจี๊ยบค่ะ สามารถทำดื่มได้ไม่ยาก ซึ่งน้ำกระเจี๊ยบที่เราดื่มกันจะต้มจากกระเจี๊ยบแดง เป็นคนละพันธุ์กับกระเจี๊ยบเขียวที่เอามาจิ้มกับน้ำพริกค่ะ 

 ความดีงามหลักๆ ของน้ำกระเจี๊ยบ คือ มีฤทธิ์เย็น ช่วยดับกระหายได้ดีค่ะ นอกจากนี้ยังช่วย แก้ไอ ขับเสมหะได้ รวมทั้งขับปัสสาวะ ขับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะและในไต ฯลฯ 

  1. น้ำตะไคร้  

         อีกหนึ่งน้ำสมุนไพรที่หลายคนชื่นชอบ ต้องยกให้กับ น้ำตะไคร้เลยค่ะ เป็นพืชสารพัดประโยชน์มากๆ นอกจากนำมาทำอาหารได้ มีกลิ่นหอม และยังมีสรรพคุณดีๆ เพียบ ไม่ว่าจะเป็นอุดมไอด้วยวิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตา มีแคลเซียมและฟอสฟอรัส ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน อีกทั้งยังเป็นน้ำสมุนไพรที่ดื่มแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลม ลดความดันโลหิตสูง ช่วยขับปัสสาวะ ขับเหงื่อได้ด้วย 

วิธีทำน้ำตะไคร้ :

  • ต้มน้ำในหม้อ ด้วยไฟกลางจนเดือด ใส่ตะไคร้ลงต้ม ประมาณ 7-10 นาที พอมีกลิ่นหอมของตะไคร้ และน้ำเป็นสีเขียวอ่อนๆ
  • ปิดไฟ แล้วกรองด้วยกระชอน เทใส่เหยือก รินใส่แก้วน้ำแข็ง ตกแต่งด้วยต้นตะไคร้ เติมน้ำเชื่อมปริมาณตามชอบ พร้อมเสิร์ฟ

แม้ว่าเครื่องดื่มสมุนไพรจะมีสรรพคุณต่าง ๆ มากมาย แต่ถ้าดื่มสมุนไพรมากเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน อย่างการดื่มสมุนไพรทุกวันอาจทำให้ได้รับสารที่เป็นยามากจนเกินไป ร่างกายอาจขับสารที่เป็นยาออกไม่หมดเหลือทิ้งไว้ในร่างกาย จากร่างกายที่มีความสมดุลอยู่แล้วถูกปรับสมดุลใหม่ให้แย่กว่าเดิมได้ ดังนั้นเครื่องดื่มสมุนไพรต่าง ๆ ไม่ควรดื่มเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน แต่ให้เลือกดื่มเมื่อมีอาการต่าง ๆ

นอกจากนี้ร่างกายบางคนยังมีอาการแพ้สมุนไพรในแต่ละแบบที่ต่างกัน ดังนั้น DooDiDo แนะนำว่าคุณต้องหมั่นสังเกตร่างกายตนเองว่าแพ้สมุนไพรตัวไหนบ้าง และพยายามหลีกเลี่ยงสมุนไพรประเภทนั้น หรือถ้าจะให้ดีก็ใช้สมุนไพรภายใต้คำแนะนำของแพทย์ย่อมดีกว่า

ขอบคุณแหล่งที่มา: www.chillpainai.com