ไขข้อข้องใจ!! การตรวจ “อัลตร้าซาวด์” บอกอะไรได้บ้าง

WM

อัลตร้าซาวด์ คือ คลื่นเสียงความถี่สูง ที่เกินกว่าหูมนุษย์จะได้ยิน

คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในปัจจุบันต้องทำการอัลตราซาวด์เพื่อดูความปกติและการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ ซึ่งในปัจจุบันพัฒนาการของเครื่องอัลตราซาวด์ก้าวหน้าเป็นอย่างมากค่ะ จากปกติทั่วไป 2 มิติ พัฒนาสู่ 3 และ 4 มิติ ทำให้คุณพ่อคุณแม่สามารถเห็นหน้าลูกได้ชัดแจ๋วกันเลยทีเดียว คุณพ่อคุณแม่หลายคนเคยสงสัยกันไหมคะว่า การตรวจอัลตราซาวด์นั้น บอกอะไรได้บ้าง วันนี้เราทีคำตอบมาฝากค่ะ

อัลตร้าซาวด์ คือ คลื่นเสียงความถี่สูง ที่เกินกว่าหูมนุษย์จะได้ยิน (มากกว่า 20,000 เฮิซร์ต) ในการวินิจฉัยโรค จะใช้ความถี่ประมาณ 2.0 – 7.5 เมกกะเฮิซร์ต โดยอาศัยหลักการทำงานของเสียง เมื่อเปิดเครื่องอัลตร้าซาวด์ กระแสไฟฟ้าสลับ ที่ไหลเข้ามาภายในเครื่อง จะผ่านหัวตรวจซึ่งภายในมีผลึก จะเกิดการสั่นสะเทือน และ มีการปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูง ออกมาจากหัวตรวจ ผ่านลงสู่ผิวหนัง เข้าไปยังอวัยวะภายใน ที่ต้องการตรวจ เมื่อเสียงกระทบเนื้อเยื่อต่างชนิดกัน ก็จะเกิดการสะท้อน และการดูดกลับของเสียงไม่เท่ากัน ในเวลาที่ไม่เท่ากัน ตามระดับความลึก ของเนื้อเยื่อนั้นๆ และจะถูกแปลผล ให้ปรากฏเป็นภาพบนจอ

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/falco-81448/

วัตถุประสงค์หลักของการตรวจอัลตร้าซาวด์
คือการตรวจประเมินสุขภาพ ของทารกในครรภ์ โดยสามารถแยกย่อย ประโยชน์ของการตรวจได้ตามช่วงอายุครรภ์ มาดูกันว่า อัลตร้าซาวด์ บอกอะไรได้บ้าง
– อายุครรภ์ 6-8 สัปดาห์ ตรวจยืนยันการตั้งครรภ์, จำนวนทารก และดูการเต้นหัวใจ ตรวจภาวะตั้งครรภ์ ว่ามีความเสี่ยงต่อภาวะท้องนอกมดลูก-ท้องลม หรือไม่ ตรวจว่ามีเนื้องอกมดลูก หรือ ถุงน้ำรังไข่ ซึ่งอาจจะกระทบต่อการตั้งครรภ์ หรือไม่
– อายุครรภ์ 10-14 สัปดาห์ ตรวจหาความพิการแต่กำเนิดชนิดรุนแรงบางอย่าง วัดความหนาของผิวหนังบริเวณต้นคอ เพื่อช่วยในการตรวจคัดกรองความเสี่ยงกลุ่มอาการ Down Syndrome
– อายุครรภ์ 18-22 สัปดาห์ ตรวจความผิดปกติหรือความพิการของทารกอย่างละเอียด (Anomaly Scan) ตรวจการเจริญเติบโต และน้ำหนักตัวของทารก ตรวจตำแหน่งรก สายสะดือ และปริมาณน้ำคร่ำ
– อายุครรภ์ 28-36 สัปดาห์ ตรวจความผิดปกติของทารกอีกครั้งก่อนคลอด ตรวจการเจริญเติบโต และน้ำหนักตัวของทารก ตรวจสุขภาพทารก, การหายใจ และการเคลื่อนไหว

ตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของทารกในครรภ์ ได้หรือไม่
การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เพียงครั้งเดียว อาจไม่สามารถวินิจฉัย ความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้ ควรได้รับการตรวจติดตามเป็นระยะ โดยเฉพาะในกรณี ที่พบความผิดปกติของทารกอย่างไรก็ดี การตรวจความผิดปกติ ของทารกในครรภ์ สามารถดูได้จากการทำอัลตร้าซาวด์ 2 มิติ และควรทำช่วงอายุครรภ์ 18-22 สัปดาห์

อัลตร้าซาวด์บ่อยๆ อันตราย หรือไม่?
จากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่พบว่าการตรวจอัลตร้าซาวด์ มีอันตรายต่อคุณแม่ และทารกในครรภ์ ทั้งในเรื่องของความพิการแต่กำเนิด พัฒนาการและการเจริญเติบโต โรคมะเร็ง โรคจิตเภท หรือ ความผิดปกติอื่นภายหลังการคลอด คุณแม่จึงสามารถมั่นใจ ในการตรวจอัลตร้าซาวด์ได้

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/medicalprudens-481982/

การตรวจอัลตร้าซาวด์ สามารถตรวจความพิการได้ทุกอย่าง หรือไม่?
แม้การตรวจอัลตร้าซาวด์ จะไม่สามารถเห็นความผิดปกติ หรือความพิการทุกอย่างได้ แต่ด้วยความสามารถ และ ประสบการณ์ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยส่วนใหญ่ จะสามารถตรวจความผิดปกติได้มากถึง 80-90 %

ข้อจำกัดที่ทำให้การตรวจอัลตร้าซาวด์ ไม่สามารถพบความผิดปกติได้ ประกอบด้วย การระบุชนิดของอวัยวะที่เกิดความผิดปกติ เช่น มือ – เท้า แขน – ขา ทางเดินหายใจ จะตรวจพบได้ยากมาก ท่าของทารกขณะการตรวจ (นอนคว่ำ ปิดหน้า หนีบขา) คุณแม่มีรูปร่างอ้วน หรือ ความผิดปกตินั้น เกิดขึ้นภายหลัง หรือ มีความชัดเจนมากขึ้น ภายหลังจากการตรวจอัลตร้าซาวด์ที่ทำไปในช่วงแรก คุณแม่จึงควรรับตรวจอัลตร้าซาวด์อย่างน้อยไตรมาสละ 1 ครั้ง (ทุก 3 เดือน)

อัลตร้าซาวด์ทีเดียวตอนใกล้คลอดได้หรือไม่?
หลายท่านเข้าใจผิด คิดว่าอยากประหยัด ไหน ๆ แล้วมาดูทีเดียวตอนอายุ 28 สัปดาห์ แบบนี้ผิด เพราะเด็กส่วนใหญ่หลัง 22 สัปดาห์กระดูกจะหนา ทำให้ดูอวัยวะยาก ดังนั้น ถ้าจะมาอัลตร้าซาวด์ แนะนำให้มาดูทันที ที่รู้ว่าตั้งครรภ์ หรือมาก่อนอายุครรภ์ 14 สัปดาห์ เพื่อ
– ดูอายุครรภ์ที่แน่นอนก่อน เพราะผู้หญิงบางคน ประจำเดือนมาไม่แน่นอน ทำให้นับวันกำหนดคลอดไม่ได้
– ดูดาวน์ซินโดรม หลังจากนั้นถ้าปกติดี อายุครรภ์ 18 – 22 สัปดาห์ ก็มาดูอวัยวะครบไหม ถ้าอวัยวะครบดี ก็มาดูอีกครั้งตอนอายุครรภ์ 28 – 32 สัปดาห์ การเจริญเติบโตเป็นอย่างไร มาดูความผิดปกติของกระดูก เป็นต้น

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/juliocesarcosta-5423561/

ผลตรวจเกิดความผิดพลาดได้หรือไม่
มีโอกาสผิดพลาดได้จาก สาเหตุหลักๆ คือ
– อวัยวะของทารกไม่ได้ สร้างเสร็จสมบูรณ์ ตั้งแต่ในครรภ์ ความผิดปกติ จึงอาจเกิดตอนหลังคลอดได้
– อวัยวะบางอย่างมันเล็กมาก บางอย่างมองไม่เห็น หรือ หัวใจ ถ้าเล็กกว่าครึ่งเซ็นต์ิเมตรก็มองไม่เห็น
– อวัยวะของเด็กในท้องกับนอกท้องไม่เหมือนกัน
– ท่าทางของเด็ก อาจบดบังการมองเห็นภาพอวัยวะต่างๆ ได้

จากข้อมูลที่ DooDiDo นำมาฝากคุณแม่ในวันนี้จะเห็นได้ว่า การตรวจอัลตราซาวด์นั้นมีประโยชน์สำหรับคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์อย่างมากค่ะ สามารถตรวจหาความผิดปกติของลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์ได้ ได้เห็นกิริยาอาการที่ลูกน้อยกำลังเคลื่อนไหวทำอยู่ในขณะตรวจได้ นอกจากนี้ยังสามารถบอกเพศลูกได้อย่างแม่นยำอีกด้วยนะคะ ที่สำคัญการตรวจอัลตราซาวด์ยังมีความปลอดภัย และสามารถทำได้บ่อยครั้งเท่าที่ต้องการเลยค่ะ

ขอบคุณแหล่งที่มา : www.mamykid.com