“โรต้าไวรัส” ภัยร้ายที่พบบ่อยในเด็ก โดยเฉพาะทารกและเด็กเล็ก

WM

โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า ติดต่อโดยการรับเชื้อเข้าทางปาก 

เมื่อลูกมีอาการถ่ายเหลว ถ่ายบ่อย อุจจาระพุ่งประมาณ 3-8 วัน มีไข้ ไอ และมีน้ำมูกเล็กน้อยร่วมด้วย เหล่านี้คืออาการของ โรคโรต้าไวรัส จะพบบ้อยในทารกที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี โดยเฉพาะทารกที่อยู่ในศูนย์ดูแลเด็กเล็ก เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโรต้า มีการแพร่ระบาดผ่านการปนเปื้อนเชื้อในอาหาร น้ำดื่ม การสัมผัส เข้าทางปาก ทำให้ติดเชื้อโรต้าไวรัสได้ง่าย ๆ ค่ะ

ไวรัสโรต้า เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อจากไวรัสโรต้า ไวรัสชนิดนี้มักเข้าสู่ร่างกายผ่านการนำมือ อาหาร หรือสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าปาก ส่งผลให้ผู้ป่วยมีไข้ อาเจียน ท้องเสีย และปวดท้อง พบมากในทารกและเด็ก และมักมีอาการรุนแรงกว่าผู้ใหญ่ หากอาการไม่ดีขึ้น ท้องเสียอย่างรุนแรง หรือมีสัญญาณของภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ลำตัวเย็น ปัสสาวะลดลง ตาโหล เป็นต้น ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://unsplash.com/@invent

ไวรัสโรต้าติดต่อได้อย่างไร
เชื้อไวรัสโรต้า ติดต่อได้ผ่านทางปาก ผ่านการกิน เช่น การกินนม กินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยเชื้อโรคนี้จะแฝงตัวอยู่ตามสิ่งของ ของเล่น ทั้งนี้เชื้อไวรัสโรต้านี้จะมีชีวิตอยู่เป็นเวลาหลายวัน เมื่อลูกน้อยนำสิ่งของที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่เข้าปาก ก็จะทำให้เชื้อนี้เข้าสู่ร่างกาย จะส่งผลให้เด็กมีอาการไข้ ท้องเสีย อาเจียน ซึ่งไวรัสโรต้านั้นมีหลายสายพันธุ์ แต่สายพันธุ์หลักที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในเด็กทั่วโลกมากกว่า 95% มักเกิดจากสายพันธุ์ G1, G2, G3, G4, G9

อาการของลูกน้อยเมื่อติดเชื้อโรต้าไวรัส
– หลังได้รับเชื้อประมาณ 1-2 วัน ลูกจะเริ่มมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน แสดงว่าไวรัสโรต้านั้นอยู่ในกระเพาะอาหาร อาเจียนได้มากถึง 7 – 8 ครั้งต่อวัน
– ลูกจะดูอ่อนเพลียทานอาหารไม่ได้ อยู่ประมาณ 1 วัน กรณีที่อาการไม่รุนแรง อาการไข้และอาเจียนมักจะหายได้เองภายใน 2-3 วัน
– มีไข้ขึ้น ซึ่งไข้อาจสูงถึง 39 องศาเซลเซียส และทำให้เกิดอาการชักได้
– ปวดท้อง ท้องเสียถ่ายเป็นน้ำตามมา เหมือนอาหารไม่ย่อย อุจจาระเป็นฟอง มีกลิ่นเปรี้ยวเมื่อเชื้อโรคเคลื่อนจากกระเพาะไปสู่ลำไส้
– อาจยังมีอาการท้องเสีย มีลม มีปัญหาการย่อยแลคโตส นานต่อไปได้อีก 1- 3 สัปดาห์

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/exergencorporation-16269701/

ใครเสี่ยงต่อโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า?
โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า พบมากในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และสถานที่ที่พบมาก คือ สถานเลี้ยงเด็กเล็ก โรงเรียน หรือสถานที่เด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก นอกจากนี้ อาจพบการติดเชื้อได้ในผู้ดูแลเด็ก ผู้ปกครอง และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงตลอดปี 2560 จำนวน 985,544 ราย เสียชีวิต 4 ราย ในจำนวนนี้เป็นการป่วยในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 226,909 ราย

โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า ป้องกันอย่างไร?
1.หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่หรือเจลล้างมือทั้งก่อนปรุงประกอบอาหาร และภายหลังการใช้ห้องน้ำ
2.กำจัดขยะมูลฝอย เศษอาหารเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน
3.รับประทานอาหารที่ปรุง “สุก ร้อน สะอาด” ไม่รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม หากต้องการจะเก็บรักษาอาหารที่ปรุงสุกแล้วไว้รับประทานในวันต่อไป ควรใส่ไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด เก็บไว้ในตู้เย็น และนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง และการเก็บรักษาที่ปรุงสุกแล้ว ควรแยกจากอาหารหรือวัตถุดิบที่ยังไม่ปรุง เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อน
4.ปัจจุบัน ไวรัสโรต้า มีวัคซีนในการป้องกัน แต่ช่วงที่ให้วัคซีนกิน ครั้งแรก จะอยู่ในช่วง 6 สัปดาห์ถึง 4 เดือน และจะต้องให้ครบ ภายใน 8 เดือน หลัง 8 เดือนไปแล้ว เราจะไม่ให้วัคซีนป้องกันไวรัส ทั้งนี้เพราะในเด็กที่อายุมาก การเริ่มให้วัคซีนอาจจะมีความสัมพันธ์กับการเกิดลำไส้กลืนกัน จึงไม่แนะนำให้วัคซีนหลังอายุ 8 เดือน
ทั้งนี้ ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากเริ่มมีความผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ทันที

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/wir_pixs-11762968/

ปกป้องลูกน้อยด้วย “วัคซีนโรต้า”
สิ่งสำคัญในการปกป้องลูกน้อยอีกวิธี คือ การพาลูกมารับการหยอดวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า ซึ่งถือเป็นวิธีป้องกันโรคที่ดีที่สุดในปัจจุบัน โดยการหยอดวัคซีนโรต้าสามารถป้องกันได้ร้อยละ 70-90 ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันได้เร็วเท่าไร ก็ยิ่งเป็นการเสริมเกราะป้องกันให้เด็กห่างไกลจากโรคร้ายนี้เร็วขึ้น

วัคซีนโรต้า สามารถให้โดยการหยอดทางปาก โดยทารกควรได้รับวัคซีน 2 หรือ 3 ครั้ง ขึ้นกับยี่ห้อของวัคซีนที่ได้รับ ทั้งนี้วัคซีนโดสแรกควรได้รับก่อนอายุ 15 สัปดาห์ และวัคซีนโดสสุดท้ายควรได้รับก่อนอายุ 8 เดือน
– หากเป็นวัคซีนชนิดหยอด 2 ครั้ง ควรได้รับที่อายุ 2 เดือน และ 4 เดือน
– หากเป็นวัคซีนชนิดหยอด 3 ครั้ง ควรได้รับที่อายุ 2 เดือน, 4 เดือน, และ 6 เดือน

อันตรายอย่างมากเลยค่ะสำหรับโรคโรต้าไวรัส ที่มีอาการอุจจาระร่วง ถ่ายเหลว ท้องเสีย เพียงแค่ลูกไปสัมผัสกับสิ่งของต่าง ๆ เอามือเข้าปาก ก็สามารถติดเชื้อโรต้าไวรัสได้ง่าย ๆ DooDiDo คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยระมัดระวังเรื่องความสะอาดของสิ่งของ รักษาความสะอาดบริเวณที่ลูกชอบเล่น และหมั่นล้างของเล่นเสมอ ๆ และสิ่งสำคัญต้องให้ลูกล้างมือบ่อย ๆ ทานอาหารที่ สะอาด ถูกสุขลักษณะด้วยนะคะ

ขอบคุณแหล่งที่มา : www.paolohospital.com, www.pobpad.com