“โรคไอพีดี” (IPD) อันตรายจนอาจทำให้เด็กพิการหรือเสียชีวิตได้

WM

หากสงสัยว่าลูกน้อยเสี่ยงมีการติดเชื้อ IPD ให้คุณพ่อคุณแม่รีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์

โรคไอพีดี (IPD) เป็นโรคนิยมเป็นมากในหมู่กลุ่มเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปีมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไอพีดีมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเด็กที่มีความเสี่ยงสูงมากเป็นพิเศษ มักจะเป็นกลุ่มเด็กที่ระบบการทำงานในร่างกายทำงานผิดปกติ อย่าง เด็กที่ไม่มีม้ามหรือม้ามทำงานไม่ดี เด็กที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวี เด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เด็กที่เป็นโรคเรื้อรังต่างๆ อาทิ โรคเบาหวาน โรคปอด เป็นต้น เชื้อชนิดนี้พบได้ทั่วไปในโพรงจมูกและลำคอ ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ติดต่อผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย คล้ายโรคหวัด เช่น เวลาไอ หรือ จาม โดยเชื้อชนิดนี้จะมีชีวิตอยู่ภายในอากาศได้นานกว่าปกติ ถ้าร่างกายแข็งแรงดีก็จะไม่มีอาการผิดปกติ แต่ถ้าร่างกายอ่อนแอ หรือไม่มีภูมิคุ้มกันโรคนี้ จะทำให้เกิดอาการรุนแรง โดยเฉพาะเด็กเล็ก วันนี้เรามีสาระความรู้เกี่ยวกับโรคที่คุณแม่ควรรู้ โรคไอพีดี (IPD)

IPD ย่อมาจาก invasive pneumococcal disease คือโรคติดเชื้อชนิดลุกลามที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อนิวโมคอคคัส ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือปอดอักเสบรุนแรง จนอาจทำให้เด็กพิการหรือเสียชีวิตได้โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://unsplash.com/photos/3KGF9R_0oHs

เชื้อนิวโมคอคคัส คืออะไร

เชื้อนิวโมคอคคัสมีชื่อเต็มว่า Streptococcus pneumoniae เชื้อนี้พบได้ทั่วไปในโพรงจมูกและลำคอทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งสามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ง่าย คล้ายไข้หวัด และทำให้เกิดโรคได้ในทุกกลุ่มอายุ ส่วนใหญ่ถ้าร่างกายแข็งแรงก็จะไม่แสดงอาการแต่เมื่อใดที่ร่างกายอ่อนแอ เชื้อนี้สามารถทำให้เกิดโรคร้ายแรงขึ้นได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กซึ่งยังสร้างภูมิคุ้มกันได้น้อย ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง

เชื้อนิวโมคอคคัส ทำให้เกิดอาการอะไรได้บ้าง

อาการของการติดเชื้อนิวโมคอคคัสมีได้หลายอย่างขึ้นกับอวัยวะที่มีการติดเชื้อ หากเป็นโรคปอดอักเสบ มักจะมีอาการ ไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย หากมีการติดเชื้อที่ระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง ในเด็กเล็กจะมีอาการงอแง ซึม ชัก และอาจเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว หากเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ป่วยก็จะมีอาการไข้สูง หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว อาจมีภาวะช็อค และอาจเสียชีวิตได้ นอกจากนี้เชื้อนิวโมคอคคัสยังสามารถทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้อีกหลายชนิด เช่น โรคไซนัสอักเสบ โรคหูชั้นกลางอักเสบ

โรคไอพีดี รักษาได้หรือไม่

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคไอพีดีได้โดยจะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกายผู้ป่วยและส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยตรวจนับจำนวนเม็ดเลือดขาว (เม็ดเลือดขาวมักจะมีจำนวนมากกว่าปกติ) การเพาะเชื้อในน้ำไขสันหลังหรือเลือด เพื่อช่วยยืนยันว่าอาการของโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสจริง เมื่อตรวจพบเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสแล้ว แพทย์จะทำการให้ยาต้านจุลชีพในขนาดที่เหมาะสมกับโรคและอาการ

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://unsplash.com/photos/RYABMCLP7aM

การป้องกันโรคไอพีดี

ทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการนำเด็กเข้าไปในที่ชุมชนหรือสถานที่แออัดโดยไม่จำเป็น รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ล้างมือบ่อยๆ ในผู้ที่มีอาการไข้ ไอ ควรปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจาม ควรสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งจะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อได้ เช่นเดียวกับการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจ หรือการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันอย่างเหมาะสม

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://unsplash.com/photos/Vqt9v7v6g44

วัคซีนไอพีดี

โดยส่วนมากนำให้ฉีดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เพราะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง โดยเริ่มฉีดได้เมื่ออายุตั้งแต่ 2 เดือน ขึ้นไป และฉีดเข็มต่อไปเมื่ออายุ 4 เดือน และ 6 เดือน และฉีดกระตุ้นอีก 1 ครั้งในช่วงอายุ 12-15 เดือน นอกจากนี้แนะนำให้ฉีดในผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัส เช่น เด็กที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่มีม้าม ธาลัสซีเมีย โรคเรื้อรังของอวัยวะต่างๆ เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต เบาหวาน เป็นต้น

เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับสาระความรู้ดีๆ ที่ DooDiDo ได้นำมาฝากให้กับคุณแม่มือใหม่ กับเรื่องโรคที่คุณแม่ควรรู้ โรคไอพีดี (IPD) นอกจากนี้เด็กที่อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็ก เด็กที่อาศัยอยู่กับผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่ (secondary smoker) และเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่จะมีความเสี่ยงต่อโรคไอพีดีสูงกว่าปกติด้วย หากสงสัยว่าลูกน้อยเสี่ยงมีการติดเชื้อ IPD หรือไม่ ให้คูมพ่อคุณแม่รีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อจะทำการตรวจตามอาการ และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การย้อมสีดูชนิดของเชื้อ และเพาะเชื้อเพื่อตรวจ เช่น ถ้ามีอาการของโรคปอดอักเสบก็ต้องเอาเสมหะมาตรวจหาเชื้อต่อไปนะค่ะ

ขอบคุณแหล่งที่มา: www.pidst.or.th