วิธีการดูแลลูกน้อย จากโรคสุดฮิตในวัยเด็กกับ “โรคอีสุกอีใส”

WM

โรคอีสุกอีใสจะไม่แสดงอาการที่รุนแรงในเด็กที่มีสุขภาพดี

เชื้อโรคอีสุกอีใสเกิดจากไวรัสที่แพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่น ๆ ผ่านการสัมผัสกับผื่นโดยตรง ซึ่งเด็กแรกเกิดและทารกที่มารดาไม่เคยเป็นอีสุกอีใสหรือได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใส มีโอกาสเป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคอีสุกอีใส นอกจากนี้เด็กที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อโรคอีสุกอีใสช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ระยะแรก เด็กที่คลอดมักจะมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์และความพิการที่แขนและขา หากมารดามีการติดเชื้ออีสุกอีใสในช่วงสัปดาห์ก่อนการคลอดบุตรหรือสัปดาห์หลังจากการคลอดบุตร เสี่ยงที่เป็นอันตรายจากเป็นโรคอีสุกอีใส วันนี้เรามีสาระความรู้ดีมากฝากคุณแม่ อย่างการ ดูแลลูกน้อย จากโรคสุดฮิตในวัยเด็กกับโรคอีสุกอีใส อย่ารอช้าไปดูความรู้ดีๆ กันเลยค่า

อีสุกอีใส (Chickenpox/Varicella) เป็นโรคติดต่อทางผิวหนังที่ทำให้ร่างกายเกิดผื่นคัน มีตุ่มนูนขนาดเล็ก หรือตุ่มน้ำใส ๆ ทั่วร่างกาย ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นได้บ่อยในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี อย่างไรก็ตามสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และยังแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับในประเทศไทย ตามรายงานของสํานักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังสถานการณ์ของโรคอีสุกอีใส พบว่า ในปี พ.ศ. 2557-2559 มีอัตราการป่วย 129.57 ต่อแสนประชากร 79.82 ต่อแสนประชากร และ 66.57 ต่อแสนประชากร ตามลำดับ ส่วนผู้เสียชีวิตจากโรคนี้พบได้น้อยมากหรือแทบไม่พบในบางปี

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/victoria_borodinova-6314823/

อาการของโรคอีสุกอีใส

ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำ รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว เหนื่อยง่าย เฉื่อยชา ปวดศีรษะ เจ็บคอ อยากอาหารลดลงหรือไม่อยากอาหารในช่วง 1-2 วันแรกของการติดเชื้อ จากนั้นจะเกิดผื่นเป็นจุดแดง ๆ ตามร่างกาย ทั้งใบหน้า หน้าอก หลัง ปาก เปลือกตา อวัยวะเพศ ผื่นแดงเหล่านี้จะเริ่มกลายเป็นตุ่มพองขนาดเล็ก มีน้ำใส ๆ ภายในตุ่มในอีก 2-4 วัน ก่อนจะเกิดการตกสะเก็ดในสัปดาห์ต่อมา ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการคันบริเวณที่เกิดผื่นหรือตุ่มพองอยู่บ่อยครั้ง อาการที่พบเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นอาการที่ไม่ร้ายแรงในเด็กเล็ก แต่ในวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่อาจเกิดการพัฒนาโรคที่มีความรุนแรงมากขึ้น สำหรับผู้ที่เคยฉีควัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสก็สามารถติดเชื้อได้เช่นกัน แต่มักพบได้น้อยมากและมีอาการเพียงเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม หากพบอาการผิดปกติที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ปี มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ สตรีตั้งครรภ์ ควรรีบไปพบแพทย์ เช่น มีไข้ขึ้นสูงหรือเป็นติดต่อนานกว่า 4 วัน ไออย่างรุนแรง ปวดท้องรุนแรง มีผื่นแดงเป็นจ้ำ ๆ และเลือดออก

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://unsplash.com/photos/ebiDpT4pYdw

สาเหตุของอีสุกอีใส

โรคอีสุกอีใสเกิดจากเชื้อ วาริเซลลา ซอสเตอร์ ไวรัส หรือเรียกย่อ ๆ ว่า เชื้อวีซีวี (Varicella Zoster Virus: VZV) ที่แพร่กระจายได้ง่ายผ่านทางการสัมผัสกับแผลของผู้ป่วยที่เป็นโรคโดยตรง ทางน้ำลาย ไอ จาม หรือการหายใจเอาเชื้อที่ปะปนในอากาศเข้าไป นอกจากนี้ การติดเชื้อในบางกรณีอาจเกิดจากการสัมผัสกับแผลของผู้ป่วยโรคงูสวัดโดยตรงได้เช่นกัน เนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้เป็นชนิดเดียวกับที่ก่อให้เกิดโรคงูสวัดขึ้น แต่พบได้น้อยมาก

ระยะเวลาการฟักตัวของโรคจะอยู่ในช่วง 10-21 วัน หรือประมาณ 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยสามารถแพร่กระจายโรคไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่มีการติดเชื้อ เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่มักจะไม่ทราบว่าใครเป็นโรคอีสุกอีใสจนกระทั่งสังเกตได้จากผื่นหรือตุ่มพองตามร่างกาย

การวินิจฉัยอีสุกอีใส

แพทย์จะวินิจฉัยโรคอีสุกอีใสจากการดูลักษณะของผื่น ตุ่มน้ำ หรือตุ่มพองบนผิวหนังเป็นหลัก ร่วมกับการตรวจร่างกายทั่วไปและอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย เช่น มีไข้ขึ้น ไม่อยากอาหาร ปวดศีรษะ แต่ในบางกรณีที่บอกไม่ได้แน่ชัดว่าเป็นโรคอีสุกอีใสหรือไม่ แพทย์จะนำตัวอย่างของเชื้อจากตุ่มน้ำที่พบบนร่างกายผู้ป่วยไปตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาต้นตอความผิดปกติว่าเกิดจากเชื้อวีซีวีที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใสหรือการติดเชื้อชนิดอื่น ซึ่งจะช่วยยืนยันได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสอย่างแน่นอน

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://unsplash.com/photos/lgWqGhqSr0g

การรักษาอีสุกอีใส

ผู้ป่วยที่สุขภาพแข็งแรงและอาการไม่รุนแรงสามารถดูแลตนเองได้ที่บ้าน แต่ในรายที่อาการรุนแรง เป็นเด็กเล็ก สตรีตั้งครรภ์ หรือผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำควรไปพบแพทย์ เพื่อการรักษาได้อย่างถูกต้องและไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง

แพทย์จะรักษาโรคอีสุกอีใสในลักษณะประคับประคองตามอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยเป็นหลัก เพื่อช่วยบรรเทาอาการของโรคให้ดีขึ้น หากผู้ป่วยมีไข้ก็จะรับประทานยาในกลุ่มต้านอักเสบที่ไม่ใช่แอสไพริน (Non-aspirin Medications) เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อช่วยบรรเทาความไม่สบายตัวจากอาการไข้ขึ้น ส่วนอาการคันบริเวณผิวหนังจากผื่นหรือตุ่มนูนตามร่างกายอาจรับประทานยาแก้แพ้ (Antihistamine) ใช้ยาทาภายนอกอย่างคาลาไมน์ โลชั่น (Calamine Lotion) เพื่อลดอาการคันและกักเก็บความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจต้องใช้ยาในกลุ่มต้านไวรัส เพื่อช่วยฆ่าเชื้อ เช่น ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ยาวาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir)

ภาวะแทรกซ้อนของอีสุกอีใส

โรคอีสุกอีใสอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง ส่วนใหญ่มักจะไม่รุนแรง แต่ในบางรายก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจากโรคจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะเด็กและผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส

ภาวะแทรกซ้อนของโรคที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังและเนื้อเยื่อ การติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ป-เอ (Group A Streptococcal Infections) โรคปอดบวม โรคสมองอักเสบ หรือภาวะกล้ามเนื้อเสียสหการ (Cerebellar Ataxia) เป็นการประสานงานของกล้ามเนื้อผิดปกติที่มีสาเหตุจากสมองส่วนซีรีเบลลัมทำให้เดินเซ มีปัญหาเลือดออก ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะขาดน้ำและเกลือแร่

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/neelam279-9820894/

การป้องกันอีสุกอีใส

การป้องกันที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนจำนวน 2 เข็ม โดยเริ่มฉีดเข็มแรกได้ตั้งแต่อายุประมาณ 1 ปี (12-15 เดือน) และฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 4-6 ปี

สำหรับผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคมาก่อนจะต้องมีการฉีดวัคซีนจำนวน 2 เข็มเช่นเดียวกัน โดยให้ฉีดวัคซีนเข็มแรกและเข็มที่ 2 ห่างกันประมาณ 28 วัน ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคและลดความรุนแรงของโรคลงได้มากถึงประมาณ 90% แต่ในกรณีสตรีมีครรภ์หรือหรือมีภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ อาจส่งผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ จึงควรมีการปรึกษาแพทย์ก่อนการฉีดวัคซีน

เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับสาระความรู้ดีๆ ที่ DooDiDo ได้นำมาฝากให้กับคุณแม่มือใหม่ กับเรื่องดูแลลูกน้อยจากโรคสุดฮิตในวัยเด็ก กับ โรค อีสุกอีใส หวังว่าคุณแม่มือใหม่จะได้สาระความดีๆ ไม่มากก็น้อยนะคะ โรคอีสุกอีใสจะไม่แสดงอาการที่รุนแรงในเด็กที่มีสุขภาพดี อย่างไรก็ตามในเคสที่มีความรุนแรง ผื่นจะเกิดการลุกลามไปทั่วทั้งร่างกายและจะเกิดรอยโรคขึ้นในช่องคอ ดังนั้นควรทำการนัดพบแพทย์หากคิดว่าคุณหรือบุตรของคุณมีอาการของโรคอีสุกอีใส แพทย์จะตรวจวินิจฉัยด้วยการตรวจเพื่อจะได้รีบทำการสั่งยาแก้อาการของอีสุกอีใสรวมถึงภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ นะค่ะ

ขอบคุณแหล่งที่มา: www.pobpad.com