แนะนำการตรวจสุขภาพให้เหมาะสมตาม “ช่วงวัย”

WM

อายุไม่มากแต่ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคต่างๆ ได้

ใครว่า…อายุน้อยไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพ เพราะปัญหาทางสุขภาพอาจไม่ได้เริ่มต้นเมื่ออายุมากเท่านั้นปํญหาสุขภาพบางครั้งถึงจะอายุไม่มากแต่ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคต่างๆ ได้

แต่มีปัจจัยมากมายที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพภายใน รวมถึงการถ่ายทอดทางพันธุกรรมซึ่งอาจส่งผลให้ในบางรายมีปัจจัยเสี่ยงที่มากกว่าแม้มีอายุที่เท่ากัน รวมไปถึงผู้ที่มีช่วงอายุต่างกัน ก็อาจมีปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคต่างกัน ดังนั้นการตรวจวิเคราะห์เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ทางการป้องกันโรคจึงมีความแตกต่างกันออกไป ดังนี้

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/newarta-4978945/
  1. การตรวจสุขภาพในวัยรุ่นถึงวัยเริ่มต้นทำงาน (อายุน้อยกว่า 30 ปี)

แม้ว่าในผู้ที่อายุน้อยกว่า 30 ปีอาจดูแข็งแรง แต่ภาวะซ่อนเร้นของโรคหลายชนิดก็มักสะสมตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งอาจเกิดได้จากการพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การเรียนหนัก การทำงานหนัก การพักผ่อนน้อย การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ หรือขาดการออกกำลังกาย มากไปกว่านั้นในบางรายที่ชื่นชอบการสังสรรค์ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ อาจทำให้ร่างกายเกิดการทำลายอย่างสะสม ดังนั้นการตรวจสุขภาพในช่วงวัยนี้ จึงควรตรวจดูการทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเป็นการตรวจเพื่อป้องกัน หรือการตรวจเพื่อพบโรคในระยะแรก ๆ เพื่อทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที

  1. การตรวจสุขภาพวัย 30-40 ปี

เพราะเป็นวัยทำงานที่มักจะโหมทำงานหนักเป็นประจำ มักเจอปัจจัยที่ทำร้ายสุขภาพ เช่น ความเครียดจากการทำงาน การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา การพักผ่อนน้อย หรือการที่ไม่มีเวลาออกกำลังกาย พฤติกรรมเหล่านี้เป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรค ที่มาพร้อมกับความเสื่อมถอยของร่างกาย หรือการใช้งานร่างกายอย่างหนัก เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ ดังนั้นการตรวจสุขภาพในช่วงวัยนี้จึงเป็นการตรวจเพื่อป้องกัน หรือการตรวจเพื่อพบโรคในระยะแรก ๆ เพื่อทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที เช่นกัน

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://unsplash.com/@cdc
  1. การตรวจสุขภาพวัย 40-50 ปี

ผู้ที่มีอายุ 40-50 ปี มักเป็นวัยที่อยู่ในบทบาทของผู้บริหาร มีความรับผิดชอบสูง จึงมักเผชิญกับความเครียดเป็นประจำ อีกทั้งยังเป็นช่วงวัยที่เริ่มพบกับภาวะความเสื่อมถอยของร่างกาย ซึ่งในผู้หญิงบางรายอาจมีภาวะฮอร์โมนที่ลดลง หรือภาวะหมดประจำเดือน และในผู้ชายบางรายอาจมีการผลิตฮอร์โมนเพศที่เริ่มน้อยลง ซึ่งอาจทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวม ดังนั้นการตรวจสุขภาพจึงควรตรวจแบบครอบคลุมมากขึ้น เช่น เพิ่มการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก หรือสมรรถภาพหัวใจและหลอดเลือดร่วมด้วย

  1. การตรวจสุขภาพวัย 50 ปีขึ้นไป

สุขภาพหลังอายุ 50 ปีขึ้นไป เป็นช่วงวัยที่มีความเสื่อมของสุขภาพมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในบางรายอาจมีภาวะมวลกล้ามเนื้อลดลง ความแข็งแรงของร่างกายเสื่อมถอยลง การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานไม่เหมือนในสมัยหนุ่มสาว จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคร้ายแรงมากขึ้น ดังนั้นการตรวจสุขภาพในช่วงอายุนี้จึงควรเพิ่มการตรวจคัดกรองมะเร็ง การตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก การตรวจสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ และหากผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ควรมีการตรวจการทำงานของสมองเพิ่มเติม

รู้แบบนี้แล้ว DooDiDo ขอแนะนำให้ทุกท่านหันมาเริ่มต้นดูแลตนเองและหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ร่างกายทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ปราศจากความเสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายแรง และการมีชีวิตที่ยืนยาวและสุขภาพดีอย่างยั่งยืน

ขอบคุณแหล่งที่มา: www.pptvhd36.com