รู้ทัน!! 4 พฤติกรรมที่คุณแม่ทำแล้วส่งผลให้ลูกเครียดได้

WM

How To วิธีช่วยเหลือลูกรัก ให้พ้นจากความเครียด

ในโลกยุคปัจจุบันนี้เราต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดความเครียดอยู่บ่อยครั้ง หากเรารู้ตัวเองว่าเกิดความเครียดขึ้นแล้วก็ควรรีบหาทางออกแก้ไข ความเครียดในผู้ใหญ่ที่อาจจะเข้าใจได้ว่าตนเองกำลังเกิดความเครียดขึ้นมาแล้ว เมื่อเรามีอาการเจ็บป่วยขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นปวดศีรษะ ปวดท้อง หรือใจสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ อาการเหล่านี้แสดงถึงความเครียดที่เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ

แต่หากความเครียดนี้ที่เกิดขึ้นเป็นเวลายาวนาน จะส่งผลเสียต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ไทรอยด์ โรคตับฯลฯ เพราะเมื่อเราเกิดความเครียด ต่อมหมวกไตจะผลิตฮอร์โมนที่ช่วยให้ร่างกายสามารถทนต่อความเครียดออกมามากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายเกิดความอ่อนแอลงจากความไม่สมดุลของระดับฮอร์โมน เกิดการเสื่อมของร่างกายก่อนวัยอันควร หรือที่เรียกว่า แก่ง่าย ตายเร็ว ซึ่งการเผชิญกับความเครียดของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่สามารถรับรู้ความเครียดและหาหนทางแก้ไขได้ด้วยตัวเอง อาจโดยการพักผ่อนหย่อนใจ หรือออกห่างไปจากสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียด แต่สำหรับเด็กล่ะคะ เมื่อเด็กเกิดความเครียดขึ้น เด็กจะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองให้พ้นจากความเครียดได้ ดังนั้น เราจะทราบได้อย่างไรว่าเด็กเกิดความเครียด และเราจะมีวิธีช่วยเหลือลูกรักได้อย่างไรให้พ้นจากความเครียดได้อย่างไร

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/bessi-909086/

“หนูปวดท้อง หนูไม่อยากไปโรงเรียน” ทุกเช้าก่อนไปโรงเรียนน้องเออายุ 3 ขวบ จะนั่งลงและอาเจียนบ่นไม่อยากไปโรงเรียน

“หนูทำไม่ได้ หนูทำไม่ได้ หนูกลัวทำผิด” น้องบีอายุ 4 ขวบครึ่งพูดไปร้องไห้ไป ขณะที่ทำแบบฝึกหัดคณิตศาสตร์กับคุณครู

คำพูดเหล่านี้ของเด็กเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่แสดงว่าเด็กเริ่มมีอาการของความเครียดเกิดขึ้นแล้ว เราควรจะมาทำความรู้จักกับความเครียดของเด็กกันว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกเครียด

ความเครียดนั้นแบ่งได้เป็น 3 ระดับ

* ความเครียดระดับต่ำ (Mild Stress) มีความเครียดน้อยและหมดไปในระยะเวลาภายใน 1 ชั่วโมง

* ความเครียดระดับกลาง(Moderate Stress) ระดับนี้มีความเครียดอยู่นานหลายชั่วโมงจนเป็นวัน

* ความเครียดระดับสูง (Severe Stress) ความเครียดระดับนี้จะอยู่นานเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน เป็นปีได้ เช่นการตายจาก หรือการมีความเจ็บป่วยรุนแรง

อย่างที่กล่าวแล้วว่าเมื่อเด็กมีความเครียด เด็กไม่สามารถบอกเราได้ว่า “โอ้ย! หนูเครียด” “หนูไม่สบายใจ”หรือ “หนูกลุ้มใจ” แต่เมื่อเด็กมีความเครียดเด็กจะแสดงออกในรูปของพฤติกรรมหลายๆ แบบ ในเด็กเล็กจะมีอาการให้ผู้ใหญ่สังเกตเห็นได้ดังต่อไปนี้

* ร้องไห้งอแงหงุดหงิด ไม่เชื่อฟังพ่อแม่จนกลายเป็นเด็กดื้อ

* มีพฤติกรรมที่ผิดแปลก เช่น ดูดนิ้วมือ ดึงผม เช็ดจมูก

* มีอาการปวดท้อง ปวดศีรษะ อาเจียน

* นอนหลับยาก ตื่นนอนในเวลากลางคืน ละเมอเดิน ปัสสาวะรดที่นอน

* บางคนอาจแสดงออกถึงความไม่มั่นใจในตนเอง ไม่กล้าแสดงออก เอาแต่ใจตนเอง

* แยกตัวไปอยู่ตามลำพัง เก็บตัว และอาจมีอาการซึมเศร้า

* เด็กมีลักษณะไม่นิ่ง บางคนอาจอาละวาดไม่ยอมหยุด ไม่มีเหตุผล

* เด็กเริ่มโกหก นิสัยก้าวร้าวรุนแรงมากขึ้น จะพบในเด็กที่โตขึ้น

* ในบางคนที่มีภาวะสมาธิสั้นอยู่แล้วจะทำให้มีอาการมากขึ้น ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้จะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่มากระตุ้น และวิธีการปรับตัวของเด็ก

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/lubovlisitsa-14489667/

8 วิธีลดความเครียดให้แก่เด็ก

  1. การให้เด็กได้ออกกำลังกาย การออกกำลังกายที่ให้เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การกระโดด ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน ไม่เพียงแต่จะส่งเสริมให้เด็กมีการเจริญเติบโตทางร่างกายเหมาะสมตามวัย แต่จะทำให้เด็กมีจิตใจสดชื่นและช่วยลดความตึงเครียดได้ เพราะขณะออกกำลังกายร่างกายจะได้รับออกซิเจนมากขึ้น การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น สมองได้หยุดคิดเรื่องที่เครียดชั่วคราว และภายหลังการออกกำลังกายแล้วร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขออกมา ทำให้รู้สึกคลายความเครียด
  2. การทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว ครอบครัวควรมีเวลาในการทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ เช่น อ่านหนังสือให้ลูกฟัง ปลูกต้นไม้ ให้ลูกได้ช่วยทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ หรือทำอะไรก็ได้ที่ครอบครัวชื่นชอบ ทำแล้วเพลิดเพลินมีความสุข ทำให้เด็กๆ ลืมเรื่องเครียดได้อีกทั้งยังทำให้เกิดความอบอุ่นในครอบครัวด้วย
  3. การพูดอย่างสร้างสรรค์ พูดในทางบวก คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการพูดจากับลูกให้มากคือการพูดในทางบวก การชมเชยลูก การให้กำลังใจ เช่น “เก่งจังเลย” “สวยจัง” “ทำได้เยี่ยมไปเลย” เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องสอนลูก ควรใช้คำพูดที่สุภาพ ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ ทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีและช่วยให้ความสัมพันธ์ของคุณและลูกมีความสุขมากขึ้น
  4. การแสดงอารมณ์อย่างเหมาะสม การให้ลูกเรียนรู้ที่จะแสดงอารมณ์ออกมาอย่างเหมาะสมเป็นเรื่องจำเป็น เช่น ไม่ควรตามใจเด็กมากเกินไป อาจให้เด็กร้องไห้บ้าง แล้วเมื่อเด็กหยุดร้องไห้ ก็อธิบายเหตุผลให้เด็กได้ทราบถึงข้อดีข้อเสีย เพราะการร้องไห้เป็นการระบายความเครียดได้ดีอย่างหนึ่ง เด็กจะได้ไม่เก็บความเครียดไว้
  5. พ่อแม่ควรมีความยืดหยุ่นในการทำกิจวัตรประจำวัน ไม่ควรทำกิจกรรมที่รีบเร่งหรือเร่งรัดเด็กเกินไป แต่ควรฝึกให้ลูกรู้จักวินัยและมีความรับผิดชอบ โดยพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการสอนเด็ก วันหยุดให้เด็กได้พักผ่อน ทำกิจกรรมที่เด็กชอบ การเรียนศิลปะ ดนตรีกีฬาที่พอเหมาะ จะทำให้เด็กมีความสุขมากขึ้น
  6. การยอมรับในความสามารถของเด็กและ ไม่ควรบังคับให้เด็กทำในสิ่งที่ยังไม่พร้อม เช่น การสอนให้คัด ก.ไก่ ข.ไข่ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 4 ปี การให้นั่งเรียนอยู่ที่โต๊ะเรียนเป็นเวลานานเกินไป เป็นต้น
  7. เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นควรหาสาเหตุก่อนเพื่อทำการแก้ไข ก่อนที่จะลงโทษเด็ก ควรถามถึงเหตุผลที่เด็กกระทำสิ่งนั้นว่าคืออะไร? ทำไมจึงทำ? เมื่อเราทราบสาเหตุแล้วจะทำให้เราเข้าใจการกระทำของเด็ก ส่งผลให้เราสามารถพูดคุยและสอนเด็กได้อย่างถูกต้องและส่งเสริมให้เด็กได้แก้ไขในสิ่งที่เกิดขึ้นว่ามีผลดีหรือเสียอย่างไร
  8. การให้เด็กได้พบกับประสบการณ์การเรียนรู้ที่ไม่อันตราย การรู้จักความผิดพลาดบ้าง ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ รู้จักปรับตัว และรู้จักแก้ไขปัญหาได้

ความเครียด คือ ความกังวล ไม่สบายใจเมื่อเด็กต้องเผชิญต่อปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านอารมณ์ หรือปัญหาด้านความต้องการ ปัญหาด้านการปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อม เพื่อให้ทนอยู่ในสังคมหรือในสภาวะแวดล้อมนั้นๆ ได้ เมื่อเด็กๆ ต้องเผชิญต่อปัญหาจะเกิดการปรับตัวเพื่อลดความกังวลและความไม่สบายใจที่เกิดขึ้น เมื่อปรับตัวไม่ได้ก็จะเกิดความเครียดขึ้น ดังนั้น DooDiDo ขอแนะนำว่าให้คุณพ่อคุณแม่ต้องหันมาใส่ใจกับปัญหาเล็กๆน้อยๆของลูกและลองนำวีธีที่เราแนะนำไปปรับใช้ดูนะคะ

ขอบคุณแหล่งที่มา: https://new.camri.go.th