มาดู!! 7 ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยกับลูกแมวตัวน้อย

ในช่วงปีแรกลูกแมวมีโอกาสที่จะเกิดภาวะผิดปกติต่างๆ อาการเจ็บป่วยได้มากกว่าแมวโต

การดูแลลูกแมวเป็นสิ่งที่หลายคนคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร แต่จริง ๆ แล้วลูกแมวตัวน้อนนั้นเลี้ยงไม่ยากอย่างที่คิด แต่เจ้าของจำเป็นต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยที่ต้องสะอาดอยู่เสมอ อาหารและโภชนาการที่เหมาะสม เพราะลูกแมวยังมีการเจริญเติบโตทางด้านร่างกายยังไม่เต็มที่ แถมยังอาจจะเสี่ยงกับปัญหาด้านสุขภาพอื่น ๆ ตามมาอีกด้วยค่ะ

การเลี้ยงลูกแมวตั้งแต่วัยเบบี๋เป็นช่วงเวลาสำคัญที่เจ้าของต้องดูแลลูกแมวเป็นพิเศษ นอกจากการดูแลด้านพัฒนาการให้เจริญเติบโตสมวัยแล้ว ยังต้องเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะในช่วงปีแรกลูกแมวมีโอกาสที่จะเกิดภาวะผิดปกติต่าง ๆ อาการเจ็บป่วย หรือได้รับบาดเจ็บได้มากกว่าแมวโต เจ้าของควรเตรียมพร้อมไว้ เมื่อลูกแมวเกิดปัญหาเหล่านี้จะได้พร้อมรับมือและแก้ไขได้ทันที

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://unsplash.com/@kymellis

1. ภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ
โดยปกติแล้วลูกแมวแรกเกิดอุณหภูมิร่างกายจะอยู่ที่ประมาณ 33-36 องศาเซลเซียส และเมื่ออายุประมาณ 1 เดือนอุณหภูมิร่างกายจะอยู่ที่ 33.5-37.5 องศาเซลเซียส ภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติจะเกิดขึ้นกับลูกแมวช่วงหลังคลอด เพราะร่างกายจะยังปรับอุณหภูมิเองไม่ได้ ซึ่งอาจจะพบได้ในลูกแมวแรกเกิดที่มีขนาดตัวที่เล็กมากและไวต่อสภาพอากาศแม้จะอยู่ในอุณหภูมิปกติ เมื่อร่างกายไม่สามารถควบคุมให้อุณหภูมิอยู่ในเกณฑ์ปกติ อุณหภูมิร่างกายจะเริ่มลดลง

2. ภาวะขาดออกซิเจน
คือร่างกายลูกแมวขาดออกซิเจนในเลือด การเกิดภาวะนี้อาจเกิดจากความผิดปกติของร่างกายตั้งแต่แรกเกิด เช่น เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด หรือในแมวสายพันธุ์หน้าสั้นอาจจะเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย ถ้าหากไม่มีออกซิเจนไปที่เซลล์สมอง เซลล์สมองจะหยุดทำงาน สมองได้รับความเสียหาย ทำให้หัวใจหยุดสูบฉีดเลือดและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ อาการที่พบคือไอ หอบ หายใจลำบาก สังเกตได้จากการต้องใช้แรงมากขึ้นในการหายใจ หายใจถี่และเร็ว หายใจโดยอ้าปากกว้าง หัวใจเต้นแรง หากพบว่าลูกแมวมีอาการเหล่านี้ให้รีบพาลูกแมวไปพบสัตวแพทย์ทันที

3. ภาวะร่างกายขาดน้ำ
คือภาวะที่ร่างกายลูกแมวสูญเสียน้ำมากกว่าปริมาณน้ำที่ได้รับเข้าไป ในลูกแมวแรกเกิดสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากการทำงานของไต หรือพัฒนาการของระบบประสาทและฮอร์โมนยังไม่สมบูรณ์ เกิดจากการไม่กินอาหารหรือกินน้ำไม่เพียงพอ การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนมากเกินไป หรือมีอาการอาเจียน ท้องเสีย อาการที่พบคือมีอาการเซื่องซึม ไม่กินน้ำหรืออาหาร เหงือกแห้ง ในลูกแมวที่ขาดน้ำมากๆเมื่อดึงผิวหนังขึ้นมา ผิวหนังจะกลับไปคืนตัวช้าจนสังเกตได้ หากพบว่าลูกแมวมีอาการเหล่านี้ให้รีบพาลูกแมวไปพบสัตวแพทย์ทันที

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://unsplash.com/@kymellis

4. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
มักพบในลูกแมวช่วงอายุ 6 สัปดาห์ – 6 เดือน เกิดจากการที่ลูกแมวยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ การทำงานของตับยังไม่สมบูรณ์ ร่างกายไม่สามารถนำน้ำและน้ำตาลจากตับมาใช้กับอวัยวะต่างๆ ได้เต็มที่ หรือเกิดจากการที่ลูกแมวที่ได้รับนมหรือสารอาหารไม่เหมาะสม หากลูกแมวที่มีภาวะนี้ใช้พลังงานมากเกินไป จะทำให้พลังงานในร่างกายลดลงอย่างเร็ว อาการที่พบคือจะมีอาการเซื่องซึม ไม่อยากกินอาหาร ชัก นอนไม่ได้สติ ในกรณีที่อาการรุนแรงอาจถึงขึ้นเสียชีวิตได้

5. การอาเจียนและท้องเสียกระทันหัน
การอาเจียนและการท้องเสียสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากความเครียด การเปลี่ยนอาหารทันที การกินของแปลกปลอมเข้าไป หรือในอาหารที่กินมีการปนเปื้อนปรสิต การได้รับสารพิษ ติดเชื้อไวรัส เชื้อรา และพยาธิภายในลำไส้และจากสาเหตุอื่น ๆ อีกมากมาย ถ้าเกิดจากการกินของปนเปื้อนเข้าไปร่างกายจะพยายามขับสารพิษเหล่านั้นออกโดยการอาเจียนหรือถ่ายออกมา หากพบว่าลูกแมวมีอาการอาเจียนให้รีบนำไปพบสัตวแพทย์โดยเร็วที่สุด

6. การบาดเจ็บทางร่างกาย
เช่น การตกจากที่สูง ถูกชนหรือกระแทกอย่างรุนแรง การโดนทำร้ายจากสัตว์อื่น หรืออุบัติเหตุจากสาเหตุอื่น ๆ ลูกแมวช่วงอายุ 1 เดือนขึ้นไปจะเริ่มเข้าสังคม เริ่มลับเล็บ เล่นของเล่น และเดินสำรวจ และเล่นซุกซน ซึ่งอาจจะเล่นกันแรงจนเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวได้ การบาดเจ็บอาจทำให้เกิด ภาวะปอดอักเสบ ภาวะช็อก หรือการบาดเจ็บตามร่างกาย กระดูกหัก รวมถึงภาวะเสียเลือดในร่างกาย ซึ่งจะเป็นอันตรายถึงชีวิตของลูกแมว วิธีป้องกันคือเจ้าของต้องระวังไม่ให้ลูกแมวเล่นแรงจนเกินไป ไม่ปล่อยออกนอกบ้าน หรือไม่ให้ปีนขึ้นที่สูงมากๆ เผื่อลดความเสี่ยงจากการตกลงมากระแทก

7. ภาวะภูมิแพ้
สัตว์เลี้ยงสามารถเป็นภูมิแพ้ได้เหมือนคน สาเหตุของภาวะภูมิแพ้เกิดได้จากหลายอย่าง เช่น แพ้น้ำลายหมัด แพ้สารเคมี แพ้ฝุ่นหรือไรฝุ่น แพ้อาหาร แพ้อากาศ แพ้วัคซีนที่ฉีด อาการแพ้จากการโดนแมลงกัดต่อย อาการที่พบคือ มีอาการคันใบหน้า หู ท้อง ขาหนีบรักแร้และขา(อุ้งเท้า) หน้าบวม มีผื่นหรือตุ่มขึ้น ผิวหนังอักเสบ ถ้าในกรณีที่เกิดภาวะภูมิแพ้โดยฉับพลันอาการมักจะรุนแรง อาการที่พบคืออาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร และทางเดินให้ใจตีบทำให้หายใจลำบาก

ลูกแมวมีร่างกายที่ยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ เจ้าของต้องดูแลอย่างใกล้ชิดและต้องคอยระวังปัญหาเหล่านี้ที่จะเกิดขึ้นกับพวกเขา แถมแมวน้อยยังมีนิสัยซุกซน ชอบกัดหรือกินสิ่งแปลกปลอมเข้าไป เจ้าของต้องคอยสังเกตและระมัดระวัง DooDiDo ทางที่ดีควรเก็บสิ่งที่คาดว่าลูกแมวจะเผลอกินเข้าไปได้ออกให้หมดเพื่อเป็นการป้องกันปัญหากากินสิ่งแปลกปลอมเข้าไปจนเกิดอันตรายนั่นเองค่ะ

ขอบคุณแหล่งที่มา : www.baanlaesuan.com