ทำความรู้จักกับชาเขียว “Macha” กับ “Green Tea” ต่างกันอย่างไร?

WM

แยกให้ออก! ความแตกต่างระหว่าง มัทฉะ Matcha และ ชาเขียว Green Tea

เราคิดว่าคงมีหลายๆ คนที่ชอบสับสนเวลาที่จะสั่งเครื่องดื่มเมนูชาเขียว เพราะเวลาไปร้านคาเฟ่หรือร้านกาแฟที่มีเมนูอย่าง ชาเขียว และ มัทฉะ อยู่นั้นก็เกิดสงสัยว่าทั้งสองอย่างนี้นั้นมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง และถึงแม้ว่าจะถามไปแล้ว เจ้าของร้านหรือพนักงานจะอธิบายยังไงก็ไม่เข้าใจซักทีแล้วล่ะก็ วันนี้เราก็อยากจะเสนอตัวขอเป็นคนไขข้อกระจ่างให้ทุกคนเองค่ะ เพราะเชื่อได้เลยว่า คำถามนี้ก็คงเป็นคำถามที่ค้างคาอยู่ในใจ มัทฉะคือชาเขียว แล้วกรีนทีก็ชาเขียว แล้วมันต่างกันยังไงบ้างนะ วันนี้เรามาดูกันเถอะค่ะ!

ชาเขียว เครื่องดื่มยอดฮิตของชาวญี่ปุ่นที่ผลิตมาจากใบชา ซึ่งแต่ละแหล่งก็จะมีรสชาติและการปรุงแต่งที่แตกต่างกันออกไป ในปัจจุบันชาเขียวได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้นในประเทศไทย เรารู้จักกันในชื่อว่า Green Tea ที่เป็นการผสมผสานระหว่างน้ำร้อนกับใบชา จนได้ออกมาเป็นน้ำชาสีเข้ม มีรสชาติขมเป็นเอกลักษณ์

แต่เรานิยมนำมาผสมกับน้ำตาลหรือน้ำเชื่อมเพื่อเพิ่มรสชาติ ดังนั้น นี่จึงไม่ใช่ต้นตำรับของชาวญี่ปุ่นโดยตรง และพวกเขาก็ไม่ยอมรับว่านี่คือน้ำชาเขียว แต่มันเป็นเพียงน้ำหวานธรรมดาที่ผสมน้ำชาเขียวลงไปเท่านั้น ส่วนอีกชื่อหนึ่งที่เราก็คุ้นหูกันอยู่ไม่น้อยเช่นกัน นั่นก็คือเจ้าชาเขียวที่เรียกว่า Matcha เป็นชาเขียวที่แตกต่างจาก Green Tea ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นชนิดเดียวกัน ดังนั้นเพื่อทำความเข้าใจให้มากขึ้น ลองมาทำความรู้จักกับชาเขียวทั้งสองประเภทว่ามีเอกลักษณ์ที่ต่างกันอย่างไรบ้าง

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://unsplash.com/@hellokian

กลับไปสู่จุดกำเนิดของชาเขียวทั้ง 2 ชนิด

เริ่มต้น ชาเขียวก็มาจากต้นชาหลักๆ 2 สายพันธุ์ด้วยกัน นั่นก็คือ ชาดำหรือที่รู้จักกันในชื่อว่าชาอู่หลง ไม่ว่าจะเป็นชาเขียว Macha หรือ Green Tea ต่างก็มีต้นกำเนิดมาจากต้นเดียวกัน แต่มีความแตกต่างกันอยู่ที่ “กรรมวิธีการผลิต” ดังนั้นจุดเริ่มต้นของการเป็นชาเขียวคือ ไม่ว่าจะเป็นแบบผงที่ใส่ไว้ในซองไนล่อน แช่น้ำร้อน หรือจะเป็นแบบใบตากแห้งแล้วเอาไว้ชงกับน้ำร้อนเราจะเรียกชาเขียวเหล่านี้ว่า “Green Tea” แต่ลักษณะการเรียกชื่อจะแตกต่างกันออกไปตามรูปแบบ เช่น ใบชาที่เป็นใบแห้งใช้ชงกับน้ำร้อน เราเรียกกันว่า เซนฉะ (Sencha) แบบใบผสมกับความหอมของข้าวคั่วหรือชาข้าว จะเรียกว่า เก็นมัยฉะ (Genmaicha) และชาเขียวที่นำมาบดเป็นผงละลายลงไปในน้ำ พร้อมดื่ม มีความเข้มข้นมากๆ เราเรียกกันว่า มัทฉะ (Matcha) เป็นชาเขียวที่จัดได้ว่าเป็นที่นิยมอย่างมาก และมีกรรมวิธีในการผลิตที่ซับซ้อนมากกว่า Green Tea อย่างมากเลยทีเดียว

ความซับซ้อนที่กว่าจะมาเป็น Matcha

Matcha อาจจะมาจากชาแบบเดียวกัน แต่การผลิตที่พุ่งเป้าไปที่ชาชนิดนี้โดยตรง จะมีขั้นตอนการปลูกที่เรียกได้ว่าซับซ้อนมากกว่า ชาเขียวชนิดอื่นๆ กรณีที่ต้องการได้ส่วนยอดของใบชาเอาไปใช้สำหรับทำ Matcha จะมีการดูแลตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก ด้วยการสร้างแสลนสำหรับกรองแสงให้ผ่านเข้ามาที่ต้นชาไม่มากนัก ซึ่งจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้ต้นชามีการสร้างสารคลอโรฟิลล์มากยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มระดับในการสังเคราะห์แสง ใบชาจะมีความแตกต่างจาก Green Tea สีใบมีความเข้มมากกว่า ก่อนจะนำยอดมาทำเป็น Matcha ให้สมบูรณ์แบบด้วยการบดให้ละเอียด

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://unsplash.com/@ninjason

ความละเอียดอยู่ในระดับที่ละลายไปกับน้ำได้ นิยมนำไปใช้เป็นส่วนผสมของอาหาร ขนม และเครื่องดื่มต่างๆ หรือจะชงดื่มกับน้ำธรรมดาก็ได้ แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว Matcha จะมีราคาสูงมากกว่าชาเขียวแบบอื่นๆ ดังนั้นมักนิยมนำมาใช้ชงดื่มสำหรับแขกที่มาเยี่ยมเยือน หรือในงานพิธีชงชา

โดยสรุปแล้วใบชาเขียวระหว่าง Macha กับ Green Tea มีความแตกต่างกันตั้งแต่ขั้นตอนในการปลูกแล้ว ไปจนถึงกระบวนการผลิต แม้จะเป็นใบชาเหมือนกัน แต่การดูแลก็จะมีความแตกต่างกัน ชาเขียวธรรมดาใช้ชงดื่มเป็นเครื่องดื่มร้อนทั่วไปที่มีความหยาบ ต้องกรองก่อนนำไปดื่ม แต่สำหรับ มัทฉะ แล้วจะถูกบดอย่างละเอียดมากที่สุดจนเกือบจะกลายเป็นผงแป้ง จัดได้ว่าเป็นชาชั้นยอดของชาวญี่ปุ่น นิยมนำไปใช้ในพิธีชงชาที่ศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย

มาถึงตรงนี้แล้ว DooDiDo เชื่อได้ว่าก็คงไขข้อกระจ่างให้ทุกคนได้แล้วล่ะค่ะว่า มัทฉะ กับ กรีนทีนั้นแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ซึ่งก็คือมัทฉะนั้นจะมีขึ้นตอนในการทำที่เยอะกว่า ส่วนชาเขียวก็จะเป็นใบชาแห้งๆ ที่ชงดื่มแบบธรรมดาทั่วๆไปนั่นเอง แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่เหมือนกันของทั้งสองอย่างนี้นั้นก็คือเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณประโยชน์เหมือนกัน ดีต่อสุขภาพเหมือนกัน ซึ่งแน่นอนว่าถ้าหากต้องการที่จะดื่มเป็นประจำแล้วก็สามารถทำได้ ซึ่งนั้นก็ต้องควบคุมในการเติมรส เติมน้ำตาล หรือนมด้วย หรือถ้าหากจะให้เกิดประโยชน์ที่ดีที่สุดต่อสุขภาพแล้วล่ะก็ต้องเลือกดื่มแบบที่ไม่มีรสปรุงแต่งก็จะดีที่สุดล่ะค่ะ

ขอบคุณแหล่งที่มา: www.baristabuddy.co.th