ค้อนหมาขาว สมุนไพรแก้เบาหวาน แก้ไข้รากสาด ไข้กาฬ

WM

ภาพจาก medthai

สรรพคุณและประโยชน์ของสมุนไพร ค้อนหมาขาว ! (พร้าวพันลำ) แก้เบาหวาน แก้ไข้รากสาด ไข้กาฬ

ค้อนหมาขาว จัดเป็นสมุนไพรพรรณไม้พุ่ม มีความสูงได้ประมาณ 2-3 เมตร ลำต้นมีลักษณะตั้งตรงเป็นต้นเดียวหรือแตกเป็นกอเล็กน้อย ลำต้นหนา เป็นรูปทรงกระบอก ต้นอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนสีเทา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำ ขึ้นได้ดีในทุกสภาพแวดล้อม พบได้ทุกภาคของประเทศไทย โดยมักขึ้นตามป่าดิบแล้งทั่วไป[1],[2],[4]

ค้อนหมาขาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Dracaena angustifolia Roxb. จัดอยู่ในวงศ์หน่อไม้ฝรั่ง (ASPARAGACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย NOLINOIDEAE[1],[3]

สมุนไพรค้อนหมาขาว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พร้าวพันลำ (เชียงใหม่), หมากพู่ป่า (แพร่), ผักก้อนหมา (ลำปาง), ผักหวานดง คอนแคน (นครราชสีมา), ว่านสากเหล็ก (สุรินทร์), อีกริมป่า (ชลบุรี), ดอกแก รางดอย (ลั้วะ) เป็นต้น[1],[2],[3],[4]

ใบค้อนหมาขาว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปดาบ มีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20-50 เซนติเมตร ผิวใบเรียบ ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน เนื้อใบเป็นเส้นใย[1],[2]

ดอกค้อนหมาขาว ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกย่อยมีจำนวนมาก ลักษณะห้อยลง ก้านช่อดอกยาว กลีบดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม[1],[2]

ผลค้อนหมาขาว ผลเป็นผลสด ลักษณะเป็นรูปเกือบทรงกลม ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีส้ม ออกผลในช่วงประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม[1],[2]

WM
ภาพจาก medthai

สรรพคุณของค้อนหมาขาว

  1. ตำรายาพื้นบ้านจะใช้ค้อนหมาขาวทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้เบาหวาน (ทั้งต้น)[1]
  2. ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ค้อนหมาขาวทั้งต้นนำมาผสมกับใบพิมเสนต้น และใบบัวบก แล้วบดให้ละเอียดทำเป็นยาเม็ดลูกกลอนกิน หรือใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้รากสาด ไข้กาฬ (ทั้งต้น)[1]
  3. ชาวเขาเผ่าเย้าจะใช้รากค้อนหมาขาวนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ (ราก)[1]
  4. ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของค้อนหมาขาว
  5. สารสกัดจากทั้งต้นที่อยู่เหนือดินด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ยับยั้งการเกร็งตัวของลำไส้สัตว์ทดลอง[1]

ประโยชน์ของค้อนหมาขาว

  • ยอดอ่อนหรือดอกอ่อนมีรสหวาน ใช้ลวก ต้ม รับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก หรือนำไปปรุงอาหาร เช่น แกงเลียง แกงส้ม แกงแค แกงผักรวมใส่ปลาย่าง หรือผัด[2],[3],[4]
  • มีบ้างที่นำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ค้อนหมาขาว”.  หน้า 94.
  2. พืชกินได้ในป่าสะแกราช, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.).  “ค้อนหมาขาว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.tistr.or.th.
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ค้อนหมาขาว, พร้าวพันลำ”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.
  4. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร.  “ค้อนหมาขาว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.