ก้างปลาเครือ ใช้รากเป็นยาสมุนไพรลดระดับน้ำตาลในเลือด

สรรพคุณ ก้างปลาเครือ ใช้รากเป็นยาสมุนไพรลดระดับน้ำตาลในเลือด

ก้างปลาเครือ จัดเป็นพรรณไม้พุ่มกึ่งเถาหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงได้ถึง 4 เมตร มีขนเล็กน้อย กิ่งมีขนาดเล็ก[1] ชอบดินร่วนปนทราย ระบายน้ำดี และมีแสงแดดปานกลาง พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย[3] ตามป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง และป่าผสมผลัดใบ[2]

ก้างปลาเครือ ชื่อวิทยาศาสตร์ Phyllanthus reticulatus Poir.[1] ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์มะขามป้อม (PHYLLANTHACEAE)

สมุนไพรก้างปลาเครือ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ก้างปลาขาว (เชียงใหม่, อ่างทอง), หมัดคำ (แพร่), อำอ้าย (นครราชสีมา), หมาเยี่ยว (นครปฐม), ข่าคล่อง (สุพรรณบุรี), กระออง (ประจวบคีรีขันธ์), ก้างปลาแดง (สุราษฎร์ธานี), ขี้เฮียด ก้างปลาเครือ (ทั่วไป), ต่าคะโค่คึย สะแบรที (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)[2], เกล็ดปลาน้อย[3] เป็นต้น

ใบก้างปลาเครือ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบมนหรือหยักเว้าเล็กน้อย โคนใบมนหรือสอบ ส่วนขอบใบเกลี้ยง ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.7-3.5 เซนติเมตร เส้นใบมี 5-9 คู่ หูใบเป็นรูปใบหอก ปลายเรียวแหลม โคนตัด เนื้อบางแห้ง ยาวประมาณ 1-3 มิลลิเมตร ก้านใบยาวประมาณ 1.5-3 มิลลิเมตร[1],[2]

ดอกก้างปลาเครือ ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบ ช่อละ 1-3 ดอก โดยจะออกตามใบ ห้อยลงใต้ใบ มีลักษณะเล็กเป็นทรงกลมรี ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ในต้นเดียวกัน ดอกเพศผู้ มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียวอมแดง ขนาดกว้างประมาณ 0.75-2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.7-3 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกไม่มี มีเกสรเพศผู้ 5 อัน ก้านเกสรเพศผู้แยกหรือติดกัน จานฐานดอกมี 5-6 พู ส่วนดอกเพศเมียจะคล้ายกับดอกเพศผู้ แต่มีรังไข่ 8-10 ช่อง มีออวุล 2 หน่วยต่อหนึ่งช่อง ก้านเกสรเพศเมียมีขนาดสั้นมาก ส่วนมากจะแยกออกเป็น 2 แฉก[1],[2]

ผลก้างปลาเครือ ผลมีลักษณะเป็นรูปกลมแป้นฉ่ำน้ำ สีแดง เมื่อสุกเป็นสีดำกลมโต มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ภายในมีเมล็ดประมาณ 8-16 เมล็ด[2],[3] หน้าตัดของเมล็ดเป็นรูป 3 เหลี่ยมด้านไม่เท่ากัน[1]

สรรพคุณของก้างปลาเครือ

  • รากใช้เป็นยาลดระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการใช้ราก 120 กรัม นำมาทุบให้แหลกต้มกับน้ำ ใช้ดื่มเช้าและเย็น (ราก)[1]
  • รากก้างปลาเครือ มีสรรพคุณเป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้ ช่วยดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ขับพิษไข้หัวทุกชนิด แก้ไข้หวัด ไข้รากสาด ช่วยลดความร้อนในร่างกาย (ราก)[1],[4] บ้างใช้ใบนำไปต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ (ใบ)[3]
  • น้ำต้มจากรากใช้รับประทานเป็นยาแก้หอบหืด (ราก)[2],[4]
  • ผลมีรสฝาดเฝื่อน ใช้รับประทานเป็นยาฝาดสมานในระบบทางเดินอาหาร และแก้อาการอักเสบต่าง ๆ (ผล)[2],[4]
  • ต้นนำมาต้มเอาน้ำรับประทานเป็นยาแก้บิด แก้ท้องเสีย (ต้น, เปลือก)[2],[4]
  • น้ำต้มจากต้นหรือใบใช้รับประทานเป็นยาขับปัสสาวะ (ต้น, ใบ)[2],[4]
  • น้ำต้มจากต้นใช้รับประทานเป็นยาแก้น้ำเหลือง ฟอกโลหิต (ต้น, เปลือก)[2],[4]
  • รากใช้เป็นยาขับพิษ[1] ใช้ฝนทาแก้เริม งูสวัด ไฟลามทุ่ง ขยุ้มตีนหมา แก้ซางข้าวเปลือก แก้ฝีแดง และฝีทั้งปวง (ราก)[4]
  • ใบก้างปลาเครือ มีรสฝาดเฝื่อน ใช้เป็นยาสมานแผล ใช้ตำให้ละเอียดพอกฝีทำให้เย็นและถอนพิษฝี (ใบ)[1],[4]
  • ใบนำมาบดให้เป็นผงใช้ใส่แผล หรือปั้นเป็นลูกกลอนผสมกับการบูร และ cubeb (สารที่สกัดจากตะไคร้ต้น) ใช้อมให้ละลายช้า ๆ แก้เลือดออกตามไรฟัน (ใบ)[2]
  • ใบนำไปต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย (ใบ)[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของก้างปลาเครือ

สารสำคัญที่พบ ได้แก่ betulin, friedelan, friedelin, taraxerone เป็นต้น[1]

ก้างปลาเครือ เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ ต้านเชื้อรา ต้านยีสต์ ลดระดับน้ำตาลในเลือด[1]

จากการทดสอบความเป็นพิษ เมื่อฉีดสารสกัดที่อยู่เหนือดินของต้นก้างปลาเครือ เข้าช่องท้องของหนูถีบจักรทดลอง พบว่าในขนาดที่ทำให้สัตว์ตายครึ่งหนึ่งคือ 800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม[1]

เมื่อปี ค.ศ.2007 ประเทศอินเดีย (Kumas S และคณะ) ได้ทำการทดลองใช้รากก้างปลาเครือในขนาด 500 และ 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในหนูทดลองที่ถูกกระตุ้นให้เป็นเบาหวานโดยใช้สาร alloxan ผลการทดลองพบว่า ขนาดยาที่เหมาะสมคือ 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ที่ทำให้หนูมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และจากการทดลองยังพบสาร terpenoid glycoside, protein, carbohydrate, alkaloid, steroid อีกด้วย[1]

ประโยชน์ของก้างปลาเครือ

  • ยอดอ่อนนำไปใช้ประกอบอาหารประเภทแกง เช่น แกงแค แกงคั่ว[3]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “ก้างปลาเครือ”.  หน้า 176/1.
  2. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “ก้างปลาเครือ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ก้างปลาเครือ”.  อ้างอิงใน : หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง (อัปสร และคณะ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.
  4. กรีนคลินิก.  “ก้างปลา”.  [ออนไลน์].  อ้างอิงใน : หนังสือเครื่องยาไทย (วุฒิ วุฒิธรรมเวช), พฤกษาน่าสน.  เข้าถึงได้จาก : www.greenclinic.in.th.