กางขี้มอด ใช้เป็นยาสมุนไพรแก้ไข้ แก้ตาอักเสบ แก้อาการปวดฟัน

สรรพคุณของต้น กางขี้มอด ใช้เป็นยาสมุนไพรแก้ไข้ แก้ตาอักเสบ แก้อาการปวดฟัน

กางขี้มอด จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้น มีความสูงได้ประมาณ 10-30 เมตร กิ่งก้านลู่ลง ปลายยอดและกิ่งอ่อนมีรอยแผล มีรูอากาศตามลำต้นและกิ่ง เปลือกต้นเป็นสีเทาอมเหลืองหรือสีน้ำตาลอ่อน ค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ด เปลือกชั้นในเป็นสีแดง มีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่อินเดียจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบขึ้นตามป่าดิบเขาและป่าผลัดใบ ที่ระดับความสูงถึง 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล[1],[2]

กางขี้มอด ชื่อสามัญ Black Siris, Ceylon Rose Wood, Crofton weed[3]

กางขี้มอด ชื่อวิทยาศาสตร์ Albizia odoratissima (L.f.) Benth. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Acacia odoratissima (L.f.) Willd., Mimosa odoratissima L.f.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)[1],[2]

สมุนไพรกางขี้มอด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กางแดง คางแดง (แพร่), จันทน์ (ตาก), มะขามป่า (น่าน), ตุ๊ดเครน (ขมุ) เป็นต้น[1],[3]

ใบกางขี้มอด ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นปลายคู่ ออกเรียงสลับแบบตรงข้าม ยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร มีใบย่อยประมาณ 10-25 คู่ แผ่นใบเรียบบาง ใบย่อยมีขนาดเล็ก ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนานหรือรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ปลายใบมนหรือสอบ โคนใบเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.6-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-3.5 เซนติเมตร ผิวใบทั้งสองด้านเกลี้ยง[1],[2]

ดอกกางขี้มอด ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่นที่ปลายยอด ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ช่อดอกย่อยประกอบด้วยดอกย่อยหลายดอกรวมกันเป็นกลุ่ม ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีขาวนวล กลีบเลี้ยงขนาดเล็ก โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด มีขน ปลายแยกออกเป็น 6 แฉก ส่วนกลีบดอกเป็นรูปกรวย ผิวมีขน ยาวประมาณ 6.5-9 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็นแฉก ดอกมีเกสรเพศผู้เป็นเส้นสีขาวจำนวนมาก ยาวเท่าหลอดกลีบดอก โคนก้านเกสรเพศผู้เชื่อมกันเป็นหลอด ออกดอกในช่วงประมาณมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม[1],[2]

ผลกางขี้มอด ผลมีลักษณะเป็นฝักแบนรูปขอบขนาน มีขนาดกว้างประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 17-22 เซนติเมตร ผิวเรียบ ฝักอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ฝักแห้งและแตกออกด้านข้าง ภายในมีเมล็ดประมาณ 8-12 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปรีกว้าง[1],[2]

สรรพคุณของกางขี้มอด

  1. ดอกและเปลือกใช้เป็นยาบำรุงธาตุ (ดอก, เปลือก)[1]
  2. ใบมีรสฝาดเฝื่อน ใช้เป็นยาแก้ไข้ (ใบ)[1]
  3. ดอกมีรสหวานใช้เป็นยาแก้ตาอักเสบ (ดอก)[1]
  4. เปลือกต้นใช้ต้มเอาน้ำแล้วอมไว้ในปาก แก้อาการปวดฟัน (เปลือกต้น)[3]
  5. เปลือกมีรสฝาดเฝื่อน ใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง แก้ลำไส้พิการ (เปลือก)[1]
  6. เปลือกใช้เป็นยาแก้พยาธิ (เปลือก)[1]
  7. ใช้เป็นยาแก้ตกโลหิต (เปลือก)[1]
  8. เปลือกใช้ฝนรักษาแผลโรคเรื้อน แผลเปื่อยเรื้อรังและทาฝี (เปลือก)[1]
  9. เปลือกใช้เป็นยาแก้ฝี แก้บวม (เปลือก)[1]
  10. ดอกใช้เป็นยาแก้คุดทะราด (ดอก)[1]
  11. ดอกใช้เป็นยาแก้ปวดบาดแผล แก้พิษฟกบวม (ดอก)[1]

ประโยชน์ของกางขี้มอด

  • เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ในการสร้างบ้าน ก่อสร้างภายในที่ไม่รับน้ำหนักมาก ทำไม้อัด เป็นเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ[2]
  • ชาวไทใหญ่จะใช้ยอดอ่อนในพิธีสร้างบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล[3]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  “คางแดง”.  หน้า 100.
  2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “กางขี้มอด”.  อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 7, หนังสือไม้ต้นในสวน Tree in the Garden.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “กางขี้มอด กางแดง”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.