กัดลิ้น สมุนไพรเป็นยารักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้

สรรพคุณของสมุนไพร กัดลิ้น เป็นยารักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้

ต้นกัดลิ้น หรือ ต้นลำไยป่า จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 5-12 เมตร ลักษณะของต้นเป็นทรงเรือนยอดแผ่กว้างถึงค่อนข้างกลม[1] ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ในประเทศไทยสามารถพบได้ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนต่างประเทศนั้นจะพบได้มากในประเทศพม่าและกัมพูชา[4]

กัดลิ้น ชื่อวิทยาศาสตร์ Walsura trichostemon Miq. จัดอยู่ในวงศ์กระท้อน (MELIACEAE)

สมุนไพรกัดลิ้น มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แก้วลาว (จันทบุรี), ขี้อ้าย (ลำปาง), ลำไยป่า (อุตรดิตถ์), มะค่าลิ้น (อุตรดิตถ์, ปราจีนบุรี)[1]

ลักษณะของกัดลิ้น

ใบกัดลิ้น มีใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อยจำนวน 3 ใบ โดยใบย่อยใบกลางจะมีขนาดใหญ่สุด ใบย่อยคู่ข้างจะอยู่ตรงข้ามกัน ส่วนที่เชื่อมกับก้านใบย่อยจะป่องเป็นข้อ ลักษณะใบย่อยเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายใบเรียวแหม ส่วนโคนใบสอบ ผิวใบด้านบนสีเขียว ส่วนท้องใบสีอ่อนกว่า[1]

ดอกกัดลิ้น ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนงตามปลายกิ่ง มีขนสั้นสีน้ำตาลอ่อน ๆ ดอกกัดลิ้นมีขนาดเล็ก มีกลบเลี้ยง 5 กลีบมีขนาดเล็กมาก ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมและมีขนสั้น ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ เป็นสีขาวนวล ลักษณะกลีบดอกเป็นรูปขอบขนานปลายมน มีความยาวประมาณ 6 เท่าของกลีบเลี้ยง ด้านนอกมีขนสั้น มีเกสรตัวผู้ 10 อัน[1]

ผลกัดลิ้น ผลมีลักษณะกลม เมื่อสุกผลจะเป็นสีเหลือง มีขนสั้นสีน้ำตาลอ่อน ๆ ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด โดยเมล็ดมีลักษณะกลม มีเยื่อนุ่ม ๆ หุ้มเมล็ดอยู่[1],[2]

สรรพคุณของกัดลิ้น

  • ผลสุกใช้รับประทานเป็นยารักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ (ผลสุก)[3]
  • ช่วยขับลมในลำไส้ (ราก)[2]
  • ชาวอีสานใช้กัดลิ้นเป็นส่วนผสมในยารักษาโรคริดสีดวงทวาร (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[5]
  • กัดลิ้นช่วยห้ามเลือด ใช้ชำระล้างบาดแผล (เปลือก)[2],[4]
  • ช่วยสมานบาดแผล (เปลือก)[2]
  • ช่วยรักษาแผลเปื่อย (เนื้อผลสุก)[3]
  • ช่วยแก้หิดสุกหิดเปื่อย ด้วยการนำมาต้มทั้งเปลือกทั้งแก่นผสมกับยาอื่น (แก่น, เปลือก)[2]
  • ช่วยบำรุงเส้นเอ็น แก้เส้นเอ็นพิการ (ราก, ต้น)[2],[4]
  • ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย (ราก)[2]

ประโยชน์กัดลิ้น

  • ผลสุกมีรสหวานใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้[3]
  • ผลสุกนำมาใช้ทำส้มตำร่วมกับผลตะโก[2],[5]
  • เนื้อไม้หรือลำต้นใช้สำหรับการก่อสร้าง[2]
  • เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ทำเป็นฟืนที่ให้ความร้อนสูงได้[3]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. ข้อมูลพรรณไม้.  สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กัดลิ้น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.
  2. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “กัดลิ้น ลำไยป่า มะค่าลิ้น”, “กัดลิ้น, มะค่าลิ้น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th.
  3. โรงเรียนน้ำดิบวิทยาคม.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.ndk.ac.th.
  4. การสำรวจทรัพยากรป่าไม้เพื่อประเมินสถานภาพและศักยภาพ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี).  “กัดลิ้น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: inven.dnp9.com.
  5. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.  อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้พื้นบ้านอีสาน เล่ม 1.  (สุทธิรา ขุมกระโทก).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: th.wikipedia.org.