กัญชาเทศ สมุนไพรช่วยบำรุงกำลัง แก้ปัสสาวะเป็นเลือด

สรรพคุณสมุนไพร กัญชาเทศ ช่วยบำรุงกำลัง แก้ปัสสาวะเป็นเลือด ขับประจำเดือน

กัญชาเทศ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุประมาณ 1-2 ปี ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 60-180 เซนติเมตร ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยมตั้งตรง แตกกิ่งก้านเล็กน้อย มีขนเล็ก ๆ ขึ้นตามต้น เมื่อออกดอกแล้วต้นจะตาย[1],[2],[3] ต้นกัญชาเทศจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ Leonurus sibiricus L. (ใบเล็ก), Leonuras heterophyllus Sweet (ใบใหญ่มีดอกขาว) โดยทั้งสองจะมีสรรพคุณทางยาเหมือนกัน สามารถนำมาใช้แทนกันได้ แต่ในประเทศไทยและจีนจะนิยมใช้ชนิดแรกมากกว่า [1]

กัญชาเทศ ชื่อสามัญ Motherworth, Siberian Motherwort, Greasy-bush, Lion’s Tail, Honeyweed เป็นต้น[2]

กัญชาเทศ ชื่อวิทยาศาสตร์ Leonurus sibiricus L. จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)[1]

สมุนไพรกัญชาเทศ มีชื่อเรียกอื่นว่า ส่าน้ำ (เลย), กัญชาเทศ (ราชบุรี), ซ้าซา (นครพนม), เอิยะบ่อเช่า (จีนแต้จิ๋ว), อี้หมูเฉ่า (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของกัญชาเทศ

ใบกัญชาเทศ ใบเป็นใบคู่ คล้ายใบกัญชา แต่มีขนาดใหญ่และหนากว่า ขอบใบหยักตื้นประมาณ 5-9 หยัก ปลายใบแหลม ใบที่อยู่โคนต้นขอบใบจะไม่หยักมากหรือมีขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร ก้านใบยาว[1],[2]

ดอกกัญชาเทศ ออกดอกเป็นช่อ ดอกจะออกจากปลายกิ่งหรือง่ามใบ ดอกเป็นสีชมพูม่วงหรือสีม่วงแดง ขนาดเล็ก ปลายกลีบดอกมี 5 หยัก กลีบดอกยาวประมาณ 9-12 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน[1]

ผลกัญชาเทศ ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก เมื่อสุกจะเป็นสีดำ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงสามเหลี่ยม ภายในมีเมล็ด[1],[3]

สรรพคุณของกัญชาเทศ

ทั้งต้นและเมล็ดมีรสหอมขมและเผ็ดเล็กน้อย เป็นยาเย็น มีสรรพคุณเป็นยาบำรุง[1],[4],[5]

  • ช่วยบำรุงกำลัง
  • บำรุงหัวใจ
  • ฟอกเลือด
  • ช่วยขับลม
  • ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
  • แก้ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ขับประจำเดือน แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • บรรเทาอาการปวดประจำเดือนเนื่องจากหลอดเลือดของมดลูกมีการอุดตันและเป็นสาเหตุทำให้ปวดประจำเดือน
  • ช่วยแก้อาการปวดท้องหลังคลอดบุตร ช่วยขับน้ำคาวปลาหลังการคลอดบุตร และมีผลทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น
  • ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย
  • รักษาไตอักเสบในเบื้องต้น
  • แก้บวมน้ำ และใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อย โดยส่วนมากจะนิยมใช้ใบมากกว่าราก (ทั้งต้นเหนือดิน)
  • เมล็ดกัญชาเทศมีรสหวานและฉุน ใช้เป็นยาลดความดันโลหิตสูง แก้ประจำเดือนไม่ปกติ[1] ช่วยขับประจำเดือน ขับน้ำเหลืองเสีย และรักษาแผลต่าง ๆ (เมล็ด)[4]
  • รากและใบใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้อาการปวดศีรษะ และเป็นยาขับลม (รากและใบ)[4],[5]
  • ตำรายาพื้นบ้านจะใช้ทั้งต้นที่อยู่เหนือดิน 3-4 กิ่ง เติมน้ำ 3 ถ้วย ต้มพอให้เดือด ใช้ดื่มครั้งละ 1 ถ้วย วันละ 3 ครั้ง เป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย (ทั้งต้นเหนือดิน)[3]
  • ส่วนการนำมาใช้ภายนอกจะใช้ใบเป็นยารักษาพิษฝีหนองของผิวหนัง (ใบ)[1]

ขนาดและวิธีใช้ : ใช้ครั้งละ 10-20 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยา ส่วนการนำมาใช้ภายนอกสามารถใช้ได้ตามต้องการ[1]

ข้อควรระวัง : สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกัญชาเทศ

ในช่วงที่ยังไม่ออกดอกจะมีสารในปริมาณมากกว่าช่วงที่ออกดอกแล้ว โดยสารที่พบในใบกัญชาเทศจะมีสารอัลคาลอยด์ เช่น Leonurine ซึ่งเป็นสารที่กระตุ้นให้มดลูกบีบตัว และมีสาร Stachydrine, Leonuridine, Leonurinine เป็นต้น[1] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า ต้นจะมีน้ำมันหอมระเหย 0.5% มีสารอัลคาลอยด์ leonurine มีลักษณะเป็น amorphous powder สีส้ม, มีสาร iridoids, leonuride ฯลฯ มี flavonoids เช่น apigenin, rutin, quercitin และอื่น ๆ[2]

  • กัญชาเทศ มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ทำให้หลอดเลือดหดตัว ต้านการแข็งตัวของเลือด ยับยั้งการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ[4]
  • น้ำต้มของต้นกัญชาเทศหรือสารสกัดจากแอลกอฮอล์ เมื่อนำมาฉีดเข้าในเส้นเลือดดำของกระต่ายที่นำมาทดลองหรือให้กระต่ายทดลองกิน พบว่ามดลูกของกระต่ายที่อยู่ในร่างกายหรือนอกร่างกาย ล้วนมีการบีบตัวแรงและถี่ขึ้น อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่า น้ำต้มมีประสิทธิภาพในการบีบตัวแรงกว่าสารที่สกัดได้จากแอลกอฮอล์ และยังพบว่าการออกฤทธิ์นั้นคล้ายกับฮอร์โมนเพศหญิง แต่ประสิทธิภาพจะด้อยกว่า[1]
  • เมื่อใช้สารอัคคาลอยด์ที่ได้จากต้นกัญชาเทศ นำมาฉีดเข้าเส้นเลือดดำของกระต่ายที่นำมาทดลอง พบว่ามีผลทำให้กระต่ายมีการขับปัสสาวะถี่ขึ้น[1]
  • น้ำต้มหรือน้ำแช่ของต้นกัญชาเทศ มีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อแบคทีเรียของโรคผิวหนังได้[1]
  • ประโยชน์ของกัญชาเทศ
  • ใบยอดอ่อนใช้ต้มหมูบะช่อ[2]
  • ใช้ปลูกเป็นสมุนไพรหรือปลูกประดับทั่วไป

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “กัญชาเทศ”.  หน้า 64.
  2. ไทยเกษตรศาสตร์.  “ข้อมูลของกัญชาเทศ”.  อ้างอิงใน : ศาสตราจารย์พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com.
  3. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “กัญชาเทศ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/.
  4. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “กัญชาเทศ”.  เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th.
  5. หนังสือสารานุกรมสมุนไพร รวมหลักเภสัชกรรมไทย.  (วุฒิ  วุฒิธรรมเวช).  “กัญชาเทศ”.