กระโดน สมุนไพรช่วยบำรุงร่างกาย แก้หวัด และโรคกระเพาะอาหาร 

WM

ภาพจาก samunpri.com

สมุนไพรช่วยบำรุงร่างกาย กระโดน แก้หวัด และโรคกระเพาะอาหาร

กระโดน จัดเป็นสมุนไพรประเภทไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง มีลักษณะของเรือนยอดเป็นพุ่มกลมแน่นทึบ มีความสูงของต้นประมาณ 10-20 เมตร เปลือกต้นหนาเป็นสีดำหรือสีน้ำตาลดำ แตกล่อนเป็นแผ่น ต้นมีกิ่งก้านสาขามาก ส่วนเนื้อไม้เป็นสีแดงเข้มถึงสีน้ำตาลแกมแดง พบได้ตามป่าเบญจพรรณชื้น ป่าหญ้า และป่าแดง  ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดในช่วงฤดูฝนและวิธีการตอนกิ่ง

กระโดน มีชื่อสมุนไพรท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หูกวาง (จันทบุรี), ขุย (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), แซงจิแหน่ เส่เจ๊ออะบะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), พุย (ละว้า-เชียงใหม่), ปุยขาว ผักฮาด ผ้าฮาด (ภาคเหนือ), กระโดนโคก กระโดนบก ปุย (ภาคเหนือ, ภาคใต้), ต้นจิก (ภาคกลาง), ปุยกระโดน (ภาคใต้), เก๊าปุย (คนเมือง), ละหมุด (ขมุ), กะนอน (เขมร), กระโดนโป้

กระโดน มีชื่อสามัญ Tummy-wood, Patana oak[4]

กระโดน ชื่อวิทยาศาสตร์ Careya arborea Roxb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Careya sphaerica Roxb. ) จัดอยู่ในวงศ์จิก (LECYTHIDACEAE หรือ BARRINGTONIACEAE)[1],[3],[9]

WM
ภาพจาก medthai.com

ใบกระโดน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบมนและมีติ่งแหลมยื่น โคนใบสอบเรียว ส่วนขอบใบเป็นหยักเล็กน้อยตลอดทั้งขอบใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 15-25 เซนติเมตรและยาวประมาณ 30-35 เซนติเมตร ผิวใบทั้งสองด้านมีลักษณะเกลี้ยง

เนื้อใบหนาและค่อนข้างนิ่ม มีเส้นแขนงใบอยู่ประมาณข้างละ 8-15 เส้น เส้นใบย่อยเป็นแบบร่างแห เห็นได้ชัดเจนทางด้านล่าง ก้านใบอวบเกลี้ยงและมีความยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ในหน้าแล้งใบแก่ท้องใบจะเป็นสีแดง และจะทิ้งใบเมื่อออกใบอ่อน ยอดอ่อนของใบเป็นสีน้ำตาลแดง ใบก่อนร่วงเป็นสีแดง[3]

ดอกกระโดน ดอกมีขนาดใหญ่ ออกดอกเป็นช่อแบบกระจะตามปลายกิ่งที่ไม่มีใบ สั้นมาก ในแต่ละช่อมีดอกประมาณ 2-6 ดอก ลักษณะของดอกคล้ายเป็นดอกเดี่ยว มีกลีบดอก 5 กลีบ แต่ละกลีบดอกยาวประมาณ 1-5 นิ้ว ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปขอบขนาน แยกกัน ขอบกลีบและปลายกลีบเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนโคนกลีบเป็นสีชมพู โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ร่วงได้ง่าย

โดยดอกจะบานในเวลากลางคืน และมักจะร่วงในช่วงเช้า ดอกมีเกสรเพศผู้สีขาวจำนวนมากยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร ก้านเกสรยาวเรียงตัวกันแน่นเป็นพู่ โคนก้านเกสรเชื่อมติดกันเป็นวงสีแดงอ่อน ๆ โดยเกสรที่สมบูรณ์จะอยู่ข้างใน ฐานดอกมีลักษณะเป็นรูปวงแหวน ขอบนูนขึ้น ส่วนเกสรเพศเมียมีรังไข่ใต้วงกลีบ ลักษณะเป็นรูปกระสวยกลีบ มี 4 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีออวุลจำนวนมาก

โดยเกสรเพศเมียจะติดคงทน และก้านเกสรเพศเมียจะยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร ดอกมีใบประดับลักษณะกลมหรือรี 3 ใบ มีกลีบเลี้ยงดอก 4 กลีบแยกจากกัน ยาวประมาณ 8-10 มิลลิเมตร เป็นสีเขียวอ่อน หนาและค่อนข้างมน โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน[3]

ผลกระโดน ผลมีลักษณะกลมหรือเป็นรูปไข่ อวบน้ำ มีเนื้อสีเขียว ค่อนข้างแข็ง ผลมีขนาดกว้างประมาณ 5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6.5 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ เปลือกหนา ที่ปลายผลจะมีกลีบเลี้ยงที่ติดทนอยู่ และมีก้านเกสรเพศเมียติดอยู่ที่ปลายผลด้วย ผลสดเป็นสีเขียว

เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมากและมีเยื่อหุ้ม เมล็ดเป็นสีน้ำตาลอ่อน ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่และแบน มีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร โดยจะออกผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน[3],[4]

สรรพคุณของกระโดน

  • ดอกมีรสสุขุม ช่วยบำรุงร่างกาย (ดอก)[2]
  • ดอกใช้เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงร่างกายหลังการคลอดบุตรของสตรี (ดอก)[1],[3],[4],[7],[9]
  • ผลมีรสจืดเย็น ช่วยบำรุงหลังการคลอดบุตรของสตรี ส่วนดอกและน้ำจากเปลือกสด หากนำมาผสมกับน้ำผึ้งก็เป็นยาบำรุงหลังคลอดได้เช่นกัน (ผล, ดอก, น้ำจากเปลือกสด)[3]
  • ดอกช่วยแก้อาการหวัด หรือจะใช้ดอกและน้ำจากเปลือกสดผสมกับน้ำผึ้งกินเป็นยาแก้หวัดก็ได้ (ดอก)[2],[3]
  • ดอกช่วยแก้อาการไอ ช่วยทำให้ชุ่มคอ หรือจะใช้ดอกและน้ำจากเปลือกสดผสมกับน้ำผึ้งกินเป็นยาแก้ไอก็ได้ (ดอก)[2],[3]
  • ผลมีรสจืดเย็น ช่วยในการย่อยอาหาร (ผล)[1],[2],[3],[9]
  • เปลือกต้นนำมาแช่กับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดท้อง ท้องเสีย (เปลือกต้น)[3]
  • ช่วยแก้โรคกระเพาะอาหาร (เปลือกต้น)[3]
  • เปลือกต้นใช้เป็นยาสมานแผลภายใน (เปลือกต้น)[3]
  • กระโดนจัดอยู่ในตำรับยาแก้โรคริดสีดวงทวาร ซึ่งในตำรับยาประกอบไปด้วยกระโดนโคก 1 ส่วน, ต้นกล้วยน้อย 1 ส่วน, ขันทองพยาบาท (ดูกใส) 1 ส่วน, ต้นซองแมว 1 ส่วน, ต้นค้อแลน 1 ส่วน, เงี่ยงดุกน้อย 1 ส่วน, กำแพงเจ็ดชั้น 1 ส่วน, ต้นมอนแก้ว 1 ส่วน, มอยแม่หม้าย 1 ส่วน, เล็บแมวแดง 1 ส่วน, ตากวาง 1 ส่วน โดยนำทั้งหมดมาต้มเป็นยากิน (ตำหรับยานี้พบในบ้านเชียงเหียน ต.เขวา อ.เมือง จ.มหาสารคาม)[7]
  • แก่นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาสำหรับสตรีที่อยู่ไฟ (แก่น)[7]
  • ต้นใช้ผสมกับเถายาน่องและดินประสิว นำมาเคี่ยวให้งวดและตากให้แห้ง ใช้สำหรับปิดแผลมีพิษและปิดหัวฝี (ต้น)[3]
  • ใบใช้รักษาแผลสด ด้วยการนำมานึ่งให้สุกแล้วใช้ปิดแผล (ใบ)[3],[4]
  • ใบมีรสฝาด ใช้ใส่แผล หรือจะใช้ปรุงกับน้ำมันเป็นยาสมานแผล ส่วนเปลือกต้นก็ใช้เป็นสมานแผลได้เช่นกัน (ใบ, เปลือกต้น)[1],[2],[3],[9]
  • เปลือกต้นช่วยแก้อาการอักเสบจากการถูกงูไม่มีพิษกัด แต่ในกรณีที่เป็นงูมีพิษกัดยังไม่ควรนำมาใช้ และบ้างก็ว่าใช้แก้พิษงูได้ (เปลือกต้น)[1],[2],[3],[9]
  • เมล็ดมีรสฝาดเมาและมีความเป็นพิษ[3] และมีข้อมูลระบุว่าใช้เป็นยาแก้พิษต่าง ๆ ได้ด้วย (เมล็ด)[2]
  • เปลือกต้นช่วยแก้น้ำกัดเท้า (เปลือกต้น)[3]
  • ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย เคล็ดเมื่อย เคล็ดขัดยอก (เปลือกต้น)[1],[2],[3],[9]

ประโยชน์ของกระโดน

ใบอ่อน ยอดอ่อน และดอกอ่อนมีรสฝาดอมมัน ใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก แจ่ว ลาบ ก้อย ส้มตำ ตำมะม่วง ผักประกอบเมี่ยงมดแดง (ชาวอีสานนิยมใช้กระโดนน้ำมากกว่ากระโดนบก เนื่องจากมีรสฝาดน้อยกว่าและมีรสชาติที่อร่อยกว่า) แต่ใบและยอดอ่อนจะมีกรดออกซาลิก (Oxalic acid) ในปริมาณที่ค่อนข้างสูง

การรับประทานมาก ๆ อาจเป็นสาเหตุเบื้องต้นที่ทำให้เกิดโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้ (ใบกระโดนสด 100 กรัม จะมีปริมาณของออกซาเลต 59 มิลลิกรัม ซึ่งมีปริมาณน้อยกว่าผักชะพลู 12 เท่า และน้อยกว่าผักโขม 16 เท่า)[3],[4],[5],[6],[8]

ใบอ่อนเมื่อนำไปต้มแล้วนำไปใช้ห่อเกลือกินแบบเมี่ยงได้ (ขมุ)[5]

เปลือกต้นใช้ต้มทำสีย้อมผ้า โดยจะให้สีน้ำตาลแดง[3] หรือจะต้มรวมกับฝ้ายใช้ย้อมผ้า จะให้สีเหลืองอ่อน[5]

เส้นใยที่ได้จากเปลือกต้นสามารถนำมาใช้ทำเชือก ทำกระดาษสีน้ำตาล เนื่องจากเปลือกลอกได้ง่าย[3],[7]

เปลือกต้นนำมาทุบใช้ทำเป็นเบาะปูรองนั่งหลังช้าง หรือใช้รองของไว้บนหลังช้าง ส่วนคนอีสานนิยมลอกออกมาทุบให้นิ่มใช้ทำเป็นที่นอน และยังสามารถนำมาใช้ทำคบไฟ หรือนำมาจุดไฟใช้ควันไล่แมลง ไร ริ้น หรือยุงก็ได้[3],[5],[7]

เนื้อไม้กระโดนใช้สำหรับงานก่อสร้างอาคารบ้านเรือนได้ดี เพราะมอดไม่กิน เนื่องจากเนื้อไม้มีรสฝาด และยังใช้ทำเครื่องเรือน เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ทำครกสาก ทำเรือและพาย เกวียนและเพลา หรือใช้ทำเป็นหมอนรองรางรถไฟ ฯลฯ[5],[6]

เมล็ด ราก และใบมีพิษ ใช้เป็นยาเบื่อปลา[3],[5]

ต้นกระโดนสามารถนำมาใช้ปลูกตามสวนสาธารณะได้ โดยลักษณะของต้นเป็นทรงพุ่มกลมทึบ มีใบใหญ่ มองเห็นทรงพุ่มได้เด่นชัด แต่ไม่ควรนำมาปลูกใกล้ลานจอดรถ เนื่องจากต้นกระโดนเป็นไม้ผลัดใบและมีผลขนาดใหญ่[4]

คุณค่าทางโภชนาการของดอกอ่อนและยอดอ่อนกระโดน ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 83 กิโลแคลอรี
  • เส้นใยอาหาร 1.9 กรัม
  • วิตามินเอ 3,958 หน่วยสากล
  • วิตามินบี 1 0.10 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2 0.88 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 3 1.8 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 126 มิลลิกรัม
  • ธาตุแคลเซียม 13 มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส 18 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 1.7 มิลลิกรัม

แหล่งที่มา : ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม. (กองโภชนาการ กรมอนามัย)[6],[8]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  • หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “กระโดน (Kradon)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 24.
  • หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “กระโดน”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้า 84.
  • ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “กระโดน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.
  • ไม้ป่ายืนต้นของไทย ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “กระโดน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th.
  • หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย.  “กระโดน”.  (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).
  • ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “กระโดน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th.

มูลนิธิสุขภาพไทย.  “กระโดนโคก เป็นยาและอาหาร”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaihof.org.

ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร.  “กระโดนบก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.

อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “กระโดน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/.