กระเบากลัก เป็นสมุนไพรประเภทยาดับพิษทั้งปวงและแก้กลากเกลื้อน

WM

ภาพจาก medthai

สรรพคุณของสมุนไพร กระเบากลัก เป็นยาดับพิษทั้งปวงและแก้กลากเกลื้อน

กระเบากลัก จัดเป็นสมุนไพรพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นค่อนข้างเปลาตรง มีความสูงได้ประมาณ 5-10 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลอมแดง ผิวเรียบ ตามกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงขึ้นปกคลุม ส่วนกิ่งแก่เกลี้ยง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะกล้าจากเมล็ด ชอบน้ำปานกลางและแสงแดดแบบครึ่งวัน มีเขตการกระจายพันธุ์ในภูมิภาคอินโดจีน และแหลมมลายู ส่วนในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค โดยมักขึ้นในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ตามเขาหินปูน และใกล้ชายทะเล บนพื้นที่ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงความสูงประมาณ 800 เมตร[1],[2],[3]

กระเบากลัก ชื่อวิทยาศาสตร์ Hydnocarpus ilicifolius King[1] ปัจจุบันถูกจัดอยู่ในวงศ์ ACHARIACEAE

สมุนไพรกระเบากลัก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จ๊าเมี่ยง (แพร่, สระบุรี), กระเบาหิน (อุดรธานี), กระเบียน ขี้มอด (จันทบุรี), กระเบาซาวา (เขมร-จันทบุรี), กระเบาพนม (เขมร-สุรินทร์), กระเรียน (ชลบุรี), คมขวาน หัวค่าง (ประจวบคีรีขันธ์), หัวค่าง (สุราษฎร์ธานี), ดูกช้าง (กระบี่), บักกรวย พะโลลูตุ้ม (มลายู-ปัตตานี), กระเบาลิง (ทั่วไป) เป็นต้น[1],[2]

ใบกระเบากลัก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรียาวขอบขนานหรือรูปใบหอก ปลายใบเรียวหรือค่อนข้างเรียวแหลม โคนใบมน หรือสอบ ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยห่าง ๆ ช่วงปลายใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-7.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7.5-16 เซนติเมตร

หลังใบเรียบเป็นมันสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเรียบ เส้นแขนงใบเยื้องกันข้างละ 7-10 เส้น ส่วนเส้นใบย่อยเป็นร่างแห ทั้งเส้นแขนงใบและเส้นใบย่อยสามารถเห็นได้ชัดเจนทั้งสองด้าน ก้านใบยาวประมาณ 0.6-1.5 เซนติเมตร[1],[2],[3]

ดอกกระเบากลัก ดอกแยกเพศอยู่คนละต้น ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ ช่อละประมาณ 2-10 ดอก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีขนสีน้ำตาลแดง ดอกย่อยเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอมเขียว กลีบดอกมี 4 กลีบ สีขาวหรือสีเหลืองอมเขียว

ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ปลายตัด ความยาวไล่เลี่ยกับกลีบเลี้ยง มีขนที่ปลายกลีบ ด้านนอกเกลี้ยง ที่โคนก้านในมีเกล็ดรูปเกือบสี่เหลี่ยม ส่วนกลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ ลักษณะค่อนข้างกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 มิลลิเมตร

ดอกเพศผู้มีเกสรประมาณ 14-20 อัน ก้านชูอับเรณูสั้น มีขน ส่วนดอกเพศเมีย จะมีเกสรเพศผู้ที่ไม่สมบูรณ์จำนวน 15 อัน รังไข่เป็นรูปไข่ มีขนสีน้ำตาลแดง ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉก 4 แฉก[1],[2],[3]

ผลกระเบากลัก ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-8 เซนติเมตร เปลือกผลแข็ง ผิวผลเรียบและมีขนนุ่มสีดำ สีน้ำตาลดำ หรือสีน้ำตาลแดง ลักษณะคล้ายกำมะหยี่ ภายในผลมีเมล็ดสีขาว มีเนื้อหุ้มเมล็ดอัดกันแน่นรวมกันประมาณ 10-15 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.3-2.2 เซนติเมตร[1],[2],[3]

WM
ภาพจาก medthai

สรรพคุณของกระเบากลัก

  1. รากและเนื้อไม้ใช้เป็นยาดับพิษทั้งปวง แก้เสมหะเป็นพิษ (รากและเนื้อไม้)[1],[2]
  2. เมล็ดใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ (เมล็ด)[4]
  3. ผลใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง โรคเรื้อน มะเร็ง คุดทะราด (ผล, เมล็ด)[1],[2],[4]
  4. ใบใช้เป็นยาแก้พิษบาดแผล ฆ่าพยาธิบาดแผล และแก้กลากเกลื้อน (ใบ)[1],[2]
  5. บางข้อมูลระบุว่า เมล็ดนอกจากจะใช้ทำยาถ่ายพยาธิ ยังใช้เป็นยารักษาโรคผมร่วงได้ด้วย (ไม่มีอ้างอิง)

ประโยชน์ของกระเบากลัก

  • ต้นกระเบากลักจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กที่มีรูปทรงสง่างาม เรือนยอดกลม แผ่นใบหนา มีผลสีดำกำมะหยี่ดูสวยงาม สามารถนำมาปลูกเพื่อเป็นไม้ให้ร่มเงาได้เป็นอย่างดี จะปลูกตกแต่งบริเวณบ้าน สวนหย่อม หรือที่ทำการก็ได้ สามารถปลูกได้ตั้งแต่ที่ราบไปจนถึงภูเขาที่ไม่สูงมากนัก[5]
  • เนื้อผลรับประทานได้ ลิงชอบกินเป็นพิเศษ[5]
  • เนื้อไม้ใช้ประโยชน์ในงานก่อสร้าง ทำกระดาน เครื่องจักสาน เครื่องแกะสลัก ด้ามเครื่องมือทางการเกษตร เครื่องมือใช้สอยต่าง ๆ และใช้ทำฟืนและถ่าน[4],[5]
  • เมล็ดนำไปบดเพื่อใช้สกัดเอาน้ำมัน เพื่อนำไปใช้อุตสาหกรรมการผลิตสบู่ เทียนไข น้ำมันใส่ผม น้ำมันหล่อลื่น ฯลฯ[4]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “กระเบากลัก (Kra Bao Klak)”.  หน้า 33.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  “กระเบากลัก”.  หน้า 60.
  3. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กระเบากลัก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.
  4. ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “กระเบากลัก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.goldenjubilee-king50.com.
  5. เว็บไซต์ท่องไทยแลนด์ดอทคอม.  “กระเบากลัก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thongthailand.com.