กระเบียน เป็นยาแก้อาหารไม่ย่อยในเด็ก เสมหะเป็นพิษ รักษาแผลสด

WM

ภาพจาก piromwaroon.blogspot

สรรพคุณของสมุนไพร กระเบียน เป็นยาแก้อาหารไม่ย่อยในเด็ก เสมหะเป็นพิษ รักษาแผลสด

กระเบียน จัดเป็นสมุนไพรไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 7-13 เมตร เรือนยอดค่อนข้างเล็ก ไม่เป็นรูปทรง เปลือกต้นเป็นสีเทาเข้มแกมน้ำตาลหรือเป็นสีน้ำตาลหม่น ล่อนออกเป็นแผ่นบาง ๆ กิ่งก้านแข็งแรงหรืออาจมีหนามตรงออกเป็นคู่ที่ข้อ มักขึ้นเป็นกลุ่มหรือขึ้นประปรายในป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง[1],[2]

กระเบียน ชื่อวิทยาศาสตร์ Ceriscoides turgida (Roxb.) Tirveng.[2] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gardenia turgida Roxb.)[1] จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)[1]

สมุนไพรกระเบียน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กระดานพน (ตาก), มุ่ยแดง (เลย), มุ่ยขาว หมุยขาว หัวโล้น (นครราชสีมา), ตะลุมพุก (อุบลราชธานี), มะกอกพราน (กาญจนบุรี), กระเบียน (ราชบุรี, อุตรดิตถ์), จี๊เดียม ดิ๊กเดียม (ภาคเหนือ), กระเบียน (ภาคกลาง), ดิกเดียม, มะคังขาว เป็นต้น[1],[2]

ใบกระเบียน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ กลม หรือรูปรี ปลายใบมนหรือแหลมเป็นติ่งสั้น ๆ โคนใบสอบเรียวไปจนถึงก้านใบ ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ท้องใบมีขนนุ่ม เส้นแขนงใบข้างละประมาณ 4-6 เส้น ก้านใบสั้นมาก มีหูใบอยู่ระหว่างก้านใบเป็นรูปสามเหลี่ยม 1 คู่ อยู่ตรงข้ามกัน[1],[2]

ดอกกระเบียน ดอกเป็นแบบแยกเพศ ก้านดอกสั้น ดอกเพศผู้จะออกเป็นกระจุก มีกลิ่นหอม กลีบดอกเป็นสีขาวอมเหลือง ติดกันเป็นหลอด ตรงปลายแยกเป็นกลีบ 5 กลีบ กลีบเลี้ยงติดกันเป็นหลอด ปากหลอดกว้าง

โคนปลายตัด มีเกสรเพศผู้ 5 อัน ไม่มีก้านชูอับเรณู อับเรณูมีลักษณะเป็นรูปยาวรี ติดอยู่ภายในหลอดดอก ส่วนดอกเพศเมียจะออกเป็นดอกเดี่ยวตามง่ามใบ ไม่มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูประฆัง ตรงปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก กลีบดอกมีลักษณะเหมือนกับดอกเพศผู้ รังไข่มีออวุลจำนวนมาก[1],[2]

ผลกระเบียน ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือรูปไข่ ขนาดยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร ผลค่อนข้างแข็ง ภายในมีเมล็ดรูปร่างแบนจำนวนมาก[1],[2]

WM
ภาพจาก piromwaroon.blogspot

สรรพคุณของกระเบียน

  1. รากใช้เป็นยาแก้เสมหะเป็นพิษ (ราก)[3]
  2. รากใช้เป็นยาแก้อาหารไม่ย่อยในเด็ก (ราก)[1],[2],[3]
  3. ดอกใช้เป็นยาฆ่าพยาธิ (ดอก)[3]
  4. เปลือกมีสรรพคุณช่วยแก้ริดสีดวง (เปลือก)[3]
  5. ใบใช้ตำพอกรักษาแผลสด (ใบ)[1],[2],[3]
  6. ดอกนำมาขยี้ใช้ทาแก้กลากเกลื้อน (ดอก)[1],[2] บ้างว่าใช้ใบนำมาขยี้ทาแก้กลากเกลื้อน (ใบ)[3]
  7. น้ำมันในเมล็ดนำมาทาเป็นยาแก้แผลมะเร็ง โรคเรื้อน (เมล็ด)[3]

ประโยชน์ของกระเบียน

  • เนื้อไม้มีสีนวลอมเหลือง ละเอียด เสี้ยนค่อนข้างตรง มีความแข็งพอประมาณ สามารถนำมาใช้ทำเป็นเครื่องเรือน เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องกลึง แกะสลัก กระสวย และหวีได้[2],[3]
  • สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  “มะคังขาว”.  หน้า 120.
  2. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กระเบียน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.
  3. ผู้จัดการออนไลน์.  “จั๊กจี้ ต้นดิกเดียม ต้นไม้มหัศจรรย์ดิ้นได้”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.manager.co.th.