กระดูกไก่หรือ หอมไก๋ เป็นสมุนไพร แก้ไข้เรื้อรัง มาลาเรีย กามโรค

WM

ภาพจาก carthagochallenge.com

สมุนไพร กระดูกไก่หรือ หอมไก๋ เป็นยาแก้ไข้เรื้อรังรักษามาลาเรีย แก้กามโรค

กระดูกไก่ หรือ หอมไก๋ เป็นสมุนไพรที่มีมีเขตการกระจายพันธุ์ในทวีปเอเชียเขตร้อน พบได้ทั่วไปตั้งแต่เนปาล ยูนนาน หมู่เกาะอันดามัน ไปจนถึงเกาะนิวกินี[4] จัดเป็นพรรณไม้พุ่ม ที่มีความสูงของต้นประมาณ 0.5-2.5 เมตร ลำต้นมีข้อบวมพอง ลักษณะคล้ายกระดูกไก่ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปักชำ

เป็นพรรณไม้ที่มักพบได้ทั่วไปตามบริเวณริมน้ำหรือดินที่ค่อนข้างแฉะชื้น และมักพบได้ทั่วไปในป่าที่ราบต่ำ ในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค แต่จะพบได้มากที่สุดทางภาคเหนือ[1] ทุกส่วนของลำต้นเมื่อนำมาขยี้จะมีกลิ่นคล้ายกับการบูร มีรสค่อนข้างขม[4]

สมุนไพรกระดูกไก่ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เกตเมือง ฝอยฝา (กรุงเทพฯ), ชะพลูป่า (ตรัง), หอมไก่ (ภาคเหนือ), หอมไก๋ (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ),[1],[2] ในมาเลเซียเรียก “เกอรัส ตูรัง” ส่วนฟิลิปปินส์เรียก “บาเรา บาเรา” เป็นต้น[4]

กระดูกไก่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ Chloranthus erectus (Buch.-Ham.) Verdc. จัดอยู่ในวงศ์กระดูกไก่ (CHLORANTHACEAE)[1],[2]

WM
ภาพจาก carthagochallenge.com

ใบกระดูกไก่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปหอก รูปขอบขนานแกมใบหอก หรือรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบและโคนใบเรียวแหลม ส่วนขอบใบดูเหมือนเรียบแต่จะมีหยักเป็นฟันเลื่อยแบบตื้น ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-13 เซนติเมตร แผ่นใบบางเป็นสีเขียวสด หลังใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้มและเกลี้ยงเป็นมัน ส่วนท้องใบมีสีอ่อนกว่าหลังใบ ก้านใบยาวประมาณ 0.2-1.5 เซนติเมตร[1],[2],[3] ใบมีน้ำมันหอมระเหยและกรดคูมาริก[4]

ดอกกระดูกไก่ ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ติดก้านช่อดอก แต่ละช่อประกอบไปด้วยดอกย่อยขนาดเล็กหลายดอก ดอกย่อยเป็นสีขาวติดเป็นก้อนกลมตามก้านช่อดอก ดอกมีกลิ่นหอม ดอกไม่มีกลีบดอกหรือกลีบรองดอก แต่จะมีใบประดับและเกสรเพศผู้สีขาว ซึ่งจะออกเรียงกันอยู่ข้างใน และอับเรณู 4 พู มีรังไข่ 1 ช่อง เชื่อมติดกันอยู่โคนใบประดับ โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกรกฎาคม[1],[3]

ผลกระดูกไก่ ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม ยาวได้ประมาณ 6-7 มิลลิเมตร ผลสดสีขาวฉ่ำน้ำ ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด ซึ่งลักษณะของเมล็ดเป็นรูปค่อนข้างกลมและแข็ง[1],[2],[3]

สรรพคุณของกระดูกไก่

  • ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ทั้งต้นผสมกับหัวยาข้าวเย็น นำมาต้มกับน้ำดื่มต่างชาเป็นยาแก้ไข้เรื้อรัง (ทั้งต้น)[2]
  • รากและใบใช้ชงเป็นชาดื่ม มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ (รากและใบ)[1] ส่วนชาวไทยภูเขาจะใช้กิ่งนำมาต้มเป็นยารักษามาลาเรีย (กิ่ง)[4]
  • รากและใบมีสรรพคุณเป็นยาขับเหงื่อ ด้วยการนำมาชงเป็นชาดื่ม (รากและใบ)[1]
  • รากและใบใช้ชงเป็นชาดื่มแก้กามโรค (รากและใบ)[1]
  • รากกระดูกไก่นำมาผสมกับรากหนาดคำ รากหนาด ฝนกินเป็นยารักษาอาการประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ แก้ผิดเดือน ผิดสาบ (ราก)[2]
  • ลำต้นใช้เป็นยากระตุ้น ยาระงับอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ด้วยการนำลำต้นมาต้มกับเปลือกอบเชย (Cinnamomum) รับประทาน (ลำต้น)[1]
  • ในกาลิมันตัน จะใช้กิ่งของต้นกระดูกไก่นำมาต้มกับน้ำดื่มเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ (กิ่ง)[4]

ประโยชน์ของกระดูกไก่

  • ใบอ่อนสามารถนำมากินเป็นผักร่วมกับลาบได้[3]
  • ใช้ทำสีย้อมผ้าได้ โดยจะให้สีน้ำเงินเข้มจนเกือบดำ[4]
  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับเนื่องจากดอกมีกลิ่นหอม ออกดอกบ่อย ปลูกเลี้ยงได้ง่าย[3]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  • หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “กระดูกไก่”.  หน้า 17-18.
  • หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “กระดูกไก่”.  หน้า 67.
  • หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง ชุดที่ 1 บ้านปางมะโอ.  (เกรียงไกร และคณะ).  “กระดูกไก่”.
  • หนังสือทรัพยากรพืชในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลำดับที่ 16 พืชที่ให้สารกระตุ้น.  (พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และคณะ).  “กระดูกไก่”.